‘ศิลป์แผ่นดิน’ มรดกชาติ พระราชปณิธาน ‘พระราชินี’ ศิลปะไทยสูญหายไม่ได้

SONY DSC

ตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ และตลอด 70 ปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่พระบารมีที่ทรงเคียงคู่ “พระมหาราชา” บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับปวงราษฎร์เฉกเช่นเดียวกัน

หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา และพระราชหฤทัย ลงไปอย่างเต็มที่และทรงปฏิบัติมาอย่างยาวนานคือ งาน “อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย” ที่ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “อัคราภิรักษศิลปิน” อันหมายถึง “ศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ”

IslBG

ศิลป์ที่ทรงปกปักรักษาไว้ให้ลูกหลานมีหลายศาสตร์หลายแขนง หนึ่งใน “ศิลป์” ที่ทรงมอบให้ลูกหลานชาวไร่ ชาวนา คนยาก คนจน เป็น “ผู้ช่วยรักษา” คืองานประณีตศิลป์ชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น งานคร่ำ งานถมทอง งานเครื่องเงินเครื่องทอง งานปักผ้า งานแกะสลักไม้

Advertisement

โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมศิลปาชีพ ตลอดเวลากว่า 30 ปี โรงฝึกแห่งนี้ได้ดำเนินงานก้าวหน้า ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นล้วนมีความวิจิตรงดงามถึงระดับ “ฝีมือช่างหลวง” หรือ “ช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” อาทิ ช่างถมทอง ช่างเครื่องเงินเครื่องทอง ช่างคร่ำ ช่างลงยาสี ช่างปักผ้า ช่างแกะสลักไม้ ช่างเขียนลาย และช่างทอผ้า ฯลฯ

ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต (2)
ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต

ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า ศิลปาชีพกำเนิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารตั้งแต่ปี 2483 ทรงเห็นประชาชนตามต่างจังหวัดยากจน และศิลปะไทยจะสูญหาย เสด็จฯไปทางเหนือ คนทำเครื่องประดับชาวเขาก็มาร้องเรียนว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีคนซื้อเลย เพราะเงินมีราคาแพง เสด็จฯไป จ.นครศรีธรรมราช งานถมเงินถมทองก็ไม่มีใครทำแล้ว เพราะต้องใช้ทองคำ 100 เปอร์เซ็นต์

“ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงเรื่องนี้มาก ทรงห่วงแผ่นดินและประชาชนมาก รับสั่งว่าประเทศไทยจะอยู่รอด จะต้องเกี่ยวเนื่องกับประชาชน ประชาชนเป็นหัวใจสำคัญว่าประเทศไทยจะอยู่ได้ยาวนานขนาดไหน ฉะนั้น การทำให้ประเทศไทยอยู่รอด ประชาชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องมีความรัก ความหวงแหนในแผ่นดิน ประเทศไทยถึงจะอยู่รอด ทั้ง 2 พระองค์ทรงคิดอยู่ตลอดเวลาว่า จะทำยังไงให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทำยังไงให้ศิลปะไทย ให้ประเทศไทยอยู่ได้”

Advertisement

โครงการพระราชดำริต่างๆ มากมาย 4,000-5,000 โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ชายให้พ่อบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืน ทำนาทำไร่ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับหน้าที่ดูแลผู้หญิง เด็ก และคนชรา จึงเกิดเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” ขึ้น เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับคนยากคนจนไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์งานศิลปะไทยที่กำลังจะสูญหาย

“พระองค์รับสั่งว่าศิลปะต่างๆ ที่แสดงความเป็นไทย เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นคนยังไง ดังนั้น สูญหายไม่ได้ เพราะศิลปะเหล่านี้ เราถึงเป็นไทยมาได้ในทุกวันนี้”

ขันถมทองลายมงคล 108
ขันถมทองลายมงคล 108

ปัจจุบันโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ยกสถานะขึ้นเป็น “สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา” เมื่อปี 2553

“เรายกสถานะขึ้นเพื่อให้ลูกหลานต่อไปได้รู้ว่า พระราชินีที่มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้วยการติดตามและตรวจสอบผลงานของสมาชิกศิลปาชีพด้วยพระองค์เอง และมีพระราชดำรัสซักถามถึงขั้นตอนการทำงานและรายละเอียดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ พระองค์ทรงงานเหล่านี้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง”

ผลสัมฤทธิ์ของ “สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา” คือการสร้าง “ช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอด “มรดกทางวัฒนธรรม” ไม่ให้สูญหายไปตามวันเวลาและความเจริญที่ถาโถมเข้ามา ผลงานที่รังสรรค์ขึ้น สถาบันสิริกิติ์ได้คัดเลือกมาจัดแสดงนิทรรศการ “ศิลป์แผ่นดิน” ให้ประชาชนได้เข้าชม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยพิเศษต่างๆ มาแล้ว 7 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งเป็นที่ปลาบปลื้มพระราชหฤทัยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นอย่างมาก ดั่งพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2547

“เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเปิดงานศิลป์แผ่นดินในครั้งล่าสุด ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เห็นแล้วบังเกิดความสุขความปีติโสมนัสอย่างยิ่ง ว่านี่คือคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าเอาใจใส่ และเอามาจากครอบครัวชาวนาที่ยากจน บัดนี้กลายมาเป็นครอบครัวชาวนาที่มีความสามารถสูงสุดในทางด้านศิลปะ และที่มาตอบแทนพระคุณแผ่นดินได้ ท่านทั้งหลายคงเห็นกับตาแล้วว่า งานฝีมือชั้นเลิศทั้งหลายเป็นฝีมือของลูกหลานชาวนาทั้งนั้น วันนั้นเป็นวันที่ข้าพเจ้าปลาบปลื้มปีติเหลือเกิน”

ทั้งนี้ ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในปี 2535 เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ, ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539, ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 3 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อปี 2541

ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อปี 2547, ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อปี 2551

ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 6 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา

“กำหนดการจัดงานศิลป์แผ่นดินของเราจะขึ้นอยู่ที่เจ้านายทรงเจริญพระชนมายุที่สำคัญ เราไม่สามารถจัดได้ทุกปี เพราะงานของเราทำด้วย 2 มือ เป็นงานแฮนด์เมด เราไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์ใดๆ ในโลก ที่นำของเก่ามาจัดแสดง และทุกครั้งที่จัดศิลป์แผ่นดิน จะมีผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นใหม่ๆ มาจัดแสดงเสมอ สำหรับครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2559 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติทุกพระองค์ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาและพระชนมายุที่สำคัญ นับเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญกล่าว

ผลงานแต่ละชิ้นล้วนทรงคุณค่ายิ่ง แสดงถึงเอกลักษณ์ เกียรติศักดิ์ และเกียรติภูมิของงานประณีตศิลป์ไทยที่ประกาศให้ชาวโลกได้ชื่นชม ซึ่งมีมากกว่า 2,000 ชิ้น โดยผลงาน “มาสเตอร์พีซ” อาทิ ขันถมทองลายมงคล 108, รอยพระพุทธบาทถมทอง, บุษบกมาลา, สุพรรณเภตรา, สัปคับคร่ำเงินคร่ำทอง, สีวิกากาญจน์, บุษบกจตุรมุขพิมาน, พระที่นั่งพุดตานถมทอง, เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลอง, เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณจำลอง, ฉากปักไหมน้อยเรื่อง “อิเหนา”, ฉากจำหลักไม้เรื่อง “สังข์ทอง” และฉากจำหลักไม้เรื่อง “หิมพานต์”, ฉากถมทองเรื่อง “รามเกียรติ์”, ห้องปีกแมลงทับ และเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์

ตรีพิธพรรณบุษบก
ตรีพิธพรรณบุษบก
ฉากจำหลักไม้เรื่องสังข์ทอง
ฉากจำหลักไม้เรื่องสังข์ทอง
ฉากปักไหมน้อย
ฉากปักไหมน้อย

“ผลงานทุกชิ้นรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต หลายชิ้นงานมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะเครื่องเงินเครื่องทองที่ใช้ทองคำ 100 เปอร์เซ็นต์ เบื้องหลังการสร้างใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี และใช้กำลังคนจำนวนมาก อย่างผ้าปักไหมน้อยเรื่องอิเหนาใช้เวลาปัก 4 ปี เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ใช้เวลา 2 ปีกว่า ขั้นตอนการทำยากทุกขั้นตอน แต่ด้วยความรักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีต่อประชาชน ต่อประเทศชาติ และประชาชนก็มีความรักต่อทั้ง 2 พระองค์ สิ่งเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นได้ด้วยความรักระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน”

ตลอด 8 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ถาวร “ศิลป์แผ่นดิน” บนพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติ

“เรามีสมุดแสดงความคิดเห็นให้ผู้มาชมได้เขียน ชาวต่างชาติทุกคนร้องว้าว บางคนบอกว่า ขึ้นไปแล้วถึงกับตะลึงแล หรือบางคนบอกว่า ยูทำให้ฉันน้ำตาไหลออกมา และบอกว่าอยากได้พระราชาและพระราชินีแบบนี้ไปอยู่ประเทศเขาบ้าง หรือบางคนบอกว่า ไม่เข้าใจว่าพระราชินีทำได้อย่างไร ต่างประเทศเขาให้ศิลปินมาทำงานศิลปะ แต่พระราชินีของยูเอาคนจนมาทำงานศิลปะ ดูจนจบก็ยังไม่เข้าใจ ส่วนคนไทยทุกคนจะบอกว่าภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย รักประเทศไทย กราบพระบาททั้ง 2 พระองค์ที่ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ประเทศ”

ทั้งหมดนี้คือผลสัมฤทธิ์แห่งพระราชกรณียกิจ ที่นอกจากเสียงชื่นชมแล้ว เหนือสิ่งเหล่านี้คือ “กำไรของแผ่นดิน”

“เมื่อแรกทำงานศิลปาชีพ มีคนบอกว่าทรงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เอาเงินไปถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เพราะงานศิลปะเหล่านี้ต้องใช้เงินเยอะ ลงไปถมกับคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เสียเวลาเปล่า พระองค์รับสั่งว่า ขาดทุนเป็นของทั้งสองพระองค์ แต่กำไรเป็นของแผ่นดิน ของประเทศชาติ ทั้งสองพระองค์ขาดทุนไม่เป็นไร แต่การสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนที่มีคุณค่า นั่นคือกำไรของแผ่นดิน กำไรของประเทศชาติ” ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญกล่าวทิ้งท้าย

ช่างหลวง
จงจิตร สุนนท์นาม-นิรัน อาสานอก-พงษ์เทพ ชมบุตรศรี

ช่างหลวงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

นิรัน อาสานอก อายุ 48 ปี ช่างศิลปาชีพ สาขาเครื่องเงิน ชาว จ.สกลนคร ย้อนเล่าถึงวันที่ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งตามแม่ไปรับเสด็จพระองค์ว่า แม่นำผ้าไหมไปถวายและพระองค์ได้ตรัสถามว่ามีลูกเยอะไหม ถ้ามีเยอะและดูแลไม่ไหว พระองค์จะช่วยดูแลให้

และหลังจากวันนั้นชีวิตของนิรันก็เปลี่ยนไป

“ถ้าวันนั้นไม่ได้ตามแม่ไปรับเสด็จ คงไม่มีวันนี้ พระองค์ให้ความรู้ ให้ความเป็นอยู่ที่ดี ภูมิใจที่ได้ทำงานถวาย”

ตลอด 20 ปีที่ทำงานถวาย นิรันทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างผลงานประณีตศิลป์ เพื่อสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่นิรันจำขึ้นใจว่า “อยากให้รักษาศิลปะเหล่านี้ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน”

โดยผลงานที่นิรันฝากไว้ให้กับแผ่นดินเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดแสดงบนพระที่นั่งอนันตสมาคม อาทิ สีวิกากาญจน์, สัปคับ เป็นต้น

ด้าน จงจิตร สุนนท์นาม อายุ 41 ปี ช่างศิลปาชีพ สาขาจักสานย่านลิเภา เล่าว่า จากชีวิตเด็กยากจนคนหนึ่งเมื่อได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เธอมีการศึกษา มีอาชีพทำกิน มีเงินเลี้ยงครอบครัว ไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน ทุกวันนี้ทำงานถวายมา 16 ปีแล้ว

“จากพระเมตตาของพระองค์ทำให้มีกำลังใจสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุด อยากให้ทุกคนเห็นว่า ลูกหลานชาวไร่ชาวนาได้ทำงานที่สวยงามให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เห็น” จงจิตรกล่าว

พงษ์เทพ ชมบุตรศรี อายุ 41 ปี ช่างศิลปาชีพ สาขาแกะสลักไม้ หนึ่งในช่างที่แกะสลักต้นแบบเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ก่อนที่จะนำไปหล่อเป็นโลหะ ที่ได้รัพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเข้ามาเป็นช่างศิลปาชีพ เนื่องจากที่บ้านมีฐานะยากจน รายได้จากการทำสวนยางที่ จ.นราธิวาส ไม่พอเพียงที่จะจุนเจือพ่อแม่และพี่น้องอีก 5 คน

“พอมาอยู่กับพระองค์ชีวิตก็ดีขึ้นตามลำดับ เพราะมีอาชีพมีรายได้ ก็ตั้งใจฝึกฝีมืองานช่างไม้ จนมีผลงานออกมามากมาย”

ในการจัดงานศิลป์แผ่นดินทุกครั้ง จะมีผลงานมาสเตอร์พีซของพงษ์เทพจัดแสดงด้วย อาทิ ฐานบุษบก ฉากไม้สังข์ทอง นอกจากนี้

พงษ์เทพยังได้รับพระเมตตาให้ตามเสด็จไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำผลงานแกะสลักตุ๊กตาไม้การละเล่นเด็กไทยไปจัดแสดงที่หอไอเฟล

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้ทำงานถวาย เป็นสิ่งที่พงษ์เทพภาคภูมิใจที่สุด โดยทำงานมา 23 ปีแล้ว

“เราไม่ใช่คนมีชื่อเสียงแต่ยังมีผลงานฝากไว้ในแผ่นดินให้ลูกหลาน ทุกวันที่ทำงานจะตั้งใจทำสุดฝีมือเพื่อฝากไว้บนแผ่นดินรัชกาลที่ 9” พงษ์เทพกล่าว

ม้านิลมังกร
ม้านิลมังกร
รอยพระพุทธบาทถมทอง
รอยพระพุทธบาทถมทอง
สุพรรณเภตรา
สุพรรณเภตรา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image