มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจ ‘น้ำตาลมะพร้าว’ 17 ตัวอย่าง พบ ‘สารฟอกขาว’ 2ยี่ห้อ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มตรวจสอบน้ำตาลมะพร้าว 21 ยี่ห้อ พบ 4 ยี่ห้อ มีสารฟอกขาว หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ในจำนวนนี้มี 2 ยี่ห้อ ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด

ด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงว่า จากการตรวจสอบน้ำตาลมะพร้าว 21 ตัวอย่าง ซึ่งซื้อจากตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป พบว่า 17 ตัวอย่าง ไม่ปนเปื้อนสารฟอกขาว โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มียี่ห้อ 14 ตัวอย่าง คือ กุหลาบคู่, น้ำตาลปี๊บบ้าน, กุหลาบ, อัมพวา Suttiphan (สุทธิภัณฑ์), โฮม เฟรช มาร์ท, รัชนิน (ของดีแม่กลอง), ลิน, ซูการ์รี่, มิตรผล, ซอสามสาย, อนามัย, ตาลไท และคุณจา นอกนั้นไม่มียี่ห้ออีก 3 ตัวอย่าง

“สำหรับตัวอย่างที่พบสารฟอกขาว มี 2 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณสารฟอกขาวเกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ในจำนวนนี้ไม่มียี่ห้อ 1 ตัวอย่าง พบสารฟอกขาวเกิน 61 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และอีก 1 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อสุทธิภัณฑ์ พบสารฟอกขาวเกิน 72 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม แต่เมื่อซื้อยี่ห้อเดียวกันจากอีกร้านกลับไม่พบสารฟอกขาว ซึ่งคาดว่าเกิดจากกระบวนการผลิตไม่คงที่ จึงส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตต่อไป” น.ส.มลฤดี กล่าวและว่า หากรับประทานสารฟอกขาวมากๆ จะมีอันตรายต่อสุขภาพ จะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ถ้าสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศรีษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิต

น.ส.มลฤดี แถลงอีกว่า หากพบว่าน้ำตาลมะพร้าวมีกลิ่นเหม็น ฉุน รสหวานแหลม เนื้อน้ำตาลแข็งมาก หรือเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนที่อุณหภูมิห้องโดยสียังขาวนวล ต้องระวัง เพราะอาจเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่ผสมสารฟอกขาวในปริมาณมาก ทั้งนี้เรียกร้องให้ อย.บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image