ปฐมฤกษ์จวกแรง กทม. “กลืนน้ำลายตัวเอง” เหตุยันรื้อชุมชน “ป้อมมหากาฬ” ฝาก “บิ๊กตู่” ปฏิรูปด่วน

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ (ภาพจากประชาไท)

สืบเนื่องกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะโดย กทม. ตามแผนแม่บทเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน 24 ปี โดยมีความพยายามในการพูดคุยเพื่อหาทางออกหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. มีการประชุมร่วมกันหลายฝ่ายที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. เนื้อหาสำคัญคือประเด็นทางออกกรณี ‘ปลดล็อค’ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืน ซึ่งกทม.เคยระบุว่าติดขัดที่ปัญหาดังกล่าว โดยหลังการประชุมเสร็จสิ้น ตัวแทนจากกทม.รับว่าจะนำข้อเสนอต่างๆรายงานต่อผู้บริหาร ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข่าวว่า ยืนยันจะรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ตามคำสั่งศาล ในวันที่ 3 ก.ย. โดยพล.ต.อ.อัศวินได้รับทราบข้อเสนอจากที่ประชุมที่กสม.แล้ว

การประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 9 ส.ค. 59
การประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 9 ส.ค. 59

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า การที่พล.ต.อ.อัศวินยืนยันที่จะเดินหน้ารื้อชุมชนต่อไปนั้น ถือเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง เนื่องจากเมื่อครั้งที่พล.ต.อ.อัศวินลงพื้นที่พูดคุยบริเวณลานกลางชุมชนในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้กล่าวต่อหน้าชาวบ้านและสื่อมวลชนรวมแล้วกว่า 100 ราย ว่า ตนไม่สนใจว่าชุมชนจะอยู่ร่วมกับสวนหรือโบราณสถาน แต่ห่วงลูกน้องจะมีความผิดทางด้านกฎหมาย ทั้งยังเอ่ยปากสอบถามนักวิชาการที่มาร่วมในวันดังกล่าวให้ช่วยคิดหาทางออกด้วย แต่เมื่อนักกฎหมาย และนักวิชาการด้านต่างๆ ร่วมกันคิดทางแก้ไขให้แล้ว พล.ต.อ.อัศวินกลับยืนยันจะรื้อชุมชนต่อไป

“อยากถามว่าคำพูดของพล.ต.อ.อัศวินในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีความหมายเลยหรือ วันนั้นมีพยานเป็นร้อย ใครๆก็ได้ยิน แต่พอกสม.รับจะช่วยหาทางปลดล็อคทางกฏหมายให้ มีการตั้งคณะกรรมการช่วยดูแลเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ก็กลับให้ข่าวสวนทันควัน การดูแลคนหมู่มาก จะใช้แต่หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวหรือ ทำไมไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์ แล้วอย่างนี้จะบริหารเมืองได้อย่างไร ทำแบบนี้บ้านเมืองไม่สงบ สวนทางกับแนวทางของคสช.ที่ต้องการความปรองดอง” นายปฐมฤกษ์กล่าว และว่า ตนขอฝากถึงประเด็นนี้ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วยว่ากทม.ควรได้รับการปฏิรูปได้แล้ว

(สวมสูท) นายอัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกทม. ขณะพูดคุยกับนายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อครั้งลงพื้นที่ในวันที่ 23 มิ.ย.59
(สวมสูท) นายอัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกทม. ขณะพูดคุยกับนายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อครั้งลงพื้นที่ในวันที่ 23 มิ.ย.59

ทั้งนี้ ในการประชุม เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จากสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้นำเสนอทางออกเรื่องกฎหมาย โดยยืนยันว่ากฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิชาการ เช่น งานวิจัยที่กทม.ทำเอ็มโอยูลงนามร่วมกับม.ศิลปากร ในยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่ากทม. โดยหลักการสามารถแก้ไขวัตถุประสงค์ได้ และมีแนวทางแก้หลายแนวทาง หนึ่งคือ แก้วัตถุประสงค์ให้ใช้พื้นที่เป็นสวนสาธารณะในรูปแบบพิพิธภัณฑ์บ้านไม้โบราณ และรักษาโบราณสถาน สอง คือ แก้ทั้งฉบับ แต่กทม.อาจต้องลงงบประมาณใหม่อีกครั้ง เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยใหม่ในราคาที่ดินในวันประกาศใช้พรฎ.

Advertisement

นอกจากนี้ นายอภิชาต ยังกล่าวว่า ตนยินดีเป็นคณะทำงานด้นกฎหมายว่าจะแก้ไขพรฎ.ดังกล่าวอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่กทม.ติดขัดมาตลอด

อภิชาต พงษ์สวัสดิ์
อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จากสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image