สธ.เตือน’คะน้า ตำลึง ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง’เจอปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเพียบ แนะวิธีลดสารตกค้าง

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยตอนหนึ่งในการแถลงข่าว “อาหารปลอดภัย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน” ว่า ในปีงบประมาณ 2556-2558 ได้สุ่มตัวอย่างอาหารที่นิยมใช้ในเทศกาลตรุษจีน ที่แหล่งจำหน่าย เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ ประกอบด้วย เนื้อหมูพบสารเร่งเนื้อแดง ร้อยละ 0.49, 0.87 และ 0.41 ส่วนผักมีการตรวจทั้งผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า ผักกวางตุ้ง ขึ้นฉ่ายพบยาฆ่าแมลง ร้อยละ 2.93, 2.80 และ 2.28 ส่วนผลไม้ มีส้ม แอปเปิล ฝรั่ง องุ่น พบยาฆ่าแมลง ร้อยละ 3.30,3.30 และ 3.01 เบื้องต้น ได้แจ้งให้สถานที่จำหน่ายคัดเลือกสินค้าจากแหล่งผลิตที่ได้การรับรองมาตรฐานหรือที่เชื่อถือได้ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่นำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย พร้อมส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแหล่งผลิตต้นทางระดับฟาร์มหรือแหล่งค้าส่ง ซึ่งจะทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2558 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เก็บตัวอย่างผักสด 4 ชนิด ได้แก่ คะน้า ตำลึง ถั่วฝักยาว และผักบุ้ง ในพื้นที่ภาคกลาง อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 103 ตัวอย่าง พบว่า มีการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 27.2 ซึ่งมีทั้งสารไซเพอร์เมทริน (cypermethrin) คาร์โบฟูแรน (Carbofuran) เป็นต้น

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญประชาชนควรเลือกซื้ออาหารจากตลาดสดน่าซื้อหรือร้านค้าที่มีป้ายสัญลักษณ์รับรองของหน่วยงานราชการ การปรุงอาหารต้องเน้นปรุงให้สุก เช่น การเตรียมเป็ด ไก่ ก่อนนำมาประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาด 2-3 ครั้ง และล้างในช่องท้องให้สะอาดทั่วถึง ส่วนผัก ผลไม้ ควรล้างด้วยน้ำเปล่าก่อน 1 ครั้ง จากนั้นนำมาแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอนเนตหรือเบคกิ้งโซดา อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที เพื่อลดสารตกค้างของยาฆ่าแมลง ที่สำคัญต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากคือ การปรุงให้สุก เป็ด ไก่ที่แช่แข็งไว้ ไม่ควรนำมาต้มทันที เนื่องจากจะทำให้ส่วนเนื้อที่อยู่ด้านใน ติดกระดูกอาจไม่สุก ควรนำออกมาแช่เย็นช่องธรรมดา 1 คืนก่อนต้ม เพื่อน้ำแข็งละลายก่อน ใช้อุปกรณ์ หยิบจับอาหาร หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนสัมผัสอาหาร

“ในพิธีไหว้บรรพบุรุษยังมีการจุดธูปเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการสูดควันธูปเข้าสู่ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากควันธูปมีสารพิษหลายชนิดเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำให้เกิดการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก ซึ่งหากคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือหลอดลมอักเสบ สูดดมเข้าไปก็จะเกิดอาการเหนื่อยได้ ดังนั้นเพื่อให้การไหว้บรรพบุรุษห่างไกลจากโรค ควรหลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณอากาศไม่ถ่ายเท” นพ.วชิระกล่าว

Advertisement

ตรวจผัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image