ผลสำรวจหอค้า เอกชนห่วงบาทแข็งเกิน 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กระทบส่งออก วอนธปท.เข้ามาดูแล ประเมินบึ้มใต้กระทบนักท่องเที่ยวหาย 1.24 แสนคน รายได้วูบกว่า 8 พันล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจการประเมินสถานะทางธุรกิจไทย โอกาส และความเสี่ยง ที่ทำการสำรวจผู้ประกอบการ 600 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 9-14 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ยังไม่ดีมากนัก โดยไตรมาสแรก ดัชนีอยู่ที่ 94 และไตรมาสสอง ดัชนีอยู่ที่ 87.7 ส่วนครึ่งปีหลังในไตรมาส 3 และ 4 คาดว่าดัชนีจะอยู่ที่ 101.9 และ 103.8 ตามลำดับ เฉลี่ยปีนี้น่าจะอยู่ที่ 98.3 ส่วนปี 2560 ดัชนีจะเกิน 100 อยู่ที่ 119.5 สะท้อนนักธุรกิจมองสถานการณ์ทางธุรกิจตลอดปีนี้ยังไม่ดีมากนัก จากต้นทุนที่ยังสูงและหนี้ที่ต้องชำระ แต่ช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีรายได้มากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก แต่กำไรไม่ได้เพิ่ม ส่วนปีหน้านักธุรกิจเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีปัจจุบัน พิจารณารายภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นจากยอดขายในประเทศมากขึ้น ภาคเกษตรแม้ราคาพืชผลจะดีขึ้น แต่มีเงินในมือไม่มาก ส่งผลการใช้สอยยังไม่กระเตื้อง ส่วนภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคกลาง

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ 34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภาคธุรกิจบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบแล้วในระดับปานกลาง เพราะการส่งออกจะลดลง ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงสูงขึ้น และทำให้ชะลอการผลิต จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่านี้ ภาคธุรกิจมองอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ส่งผลต่อการส่งออกคือระดับ 35.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมองอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม คือ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนนโยบายภาครัฐที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมให้หลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง หรือไทยแลนด์ 4.0 นายธนวรรธ์กล่าวว่า ภาคธุรกิจเกินกว่าครึ่ง หรือ 55.4% รู้จักน้อย และ 26.7% รู้จักปานกลาง และยังไม่เห็นว่าธุรกิจตนเองจะสามารถเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ในระยะอันใกล้นี้ ส่วนภาพรวมของประเทศยังพอจะก้าวสู่การเป็นธุรกิจ 4.0 ได้บ้าง แต่ก็ยังน้อย

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจประเมินผลกระทบของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวต่อระเบิดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ สำรวจ 400 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจวันที่ 13-15 สิงหาคม 2559 ว่า เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ในหลายจังหวัดภาคใต้ตอนบนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญส่งผลกระทบระยะสั้น และผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ที่อยู่ทั่วประเทศบอกไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ตอนนี้ไม่แน่ใจในสถานการณ์ แต่ยังเชื่อมั่นในระบบรักษาความปลอดภัยขอภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจในภาคใต้มองจากนี้ไปอีก 3 เดือน ได้รับผลกระทบมียอดขายลดลง จากนักท่องเที่ยวย้ายจากภาคใต้ไปภาคอื่นๆ ทำให้ยอดขายของภาพรวมธุรกิจลดลงเฉลี่ย 75.38 ล้านบาทต่อวัน คาดว่านักท่องเที่ยวที่จะหายไปจากภาคใต้มีประมาณ 1.24 แสนคน จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยทั้งปีนี้ที่ 33.2 ล้านคน ทำให้เม็ดเงินหายจากระบบเศรษฐกิจ 6.05 พันล้านบาท

Advertisement

“เชื่อว่าผลกระทบจากเหตุระเบิดจะคลายตัวใน 1 เดือนนับจากนี้ เพราะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้นและไม่กระทบการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น และจะมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในพื้นที่เป็นระยะเวลาไม่นาน หากเหตุการณ์นี้มีผลต่อเนื่องนานถึง 2 เดือน จะทำให้เงินหายไปจากระบบ(รวมจากนักท่องเที่ยวและการใช้สอยของประชาชน) 1.05 หมื่นล้านบาท แต่หากเหตุการณ์มีผลต่อเนื่องนาน 1 เดือน จะทำให้เงินหายจากระบบ 8.38 พันล้านบาท คาดทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจของไทยหายไปเพียง 0.05-0.07% หากเหตุการณ์ระเบิดไม่เกิดซ้ำขึ้น”นายวชิรกล่าว และว่า ยังคาดว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสเป็นไปได้ที่ 3.3% ในกรอบ 3-3.6%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image