‘หมอเจตน์’หารือ’7รพ.สธ.’ขาดทุนขั้นวิกฤต ชี้เหตุงบบัตรทอง เสนอทางออกแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา กมธ.สธ.ได้เชิญโรงพยาบาล (รพ.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องระดับ 7 คือระดับวิกฤต จำนวน 7 แห่ง อาทิ รพ.นาหม่อม จ.สงขลา, รพ.พังงา, รพ.สมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์, รพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มาให้ข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง เบื้องต้นสรุปมูลเหตุของการขาดสภาพคล่องได้ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.รพ.ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย ขณะที่โครงสร้าง รพ.เป็นระดับเดียวกัน คือ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีประชากรไม่เท่ากัน แต่มีจำนวนเจ้าหน้าที่เท่ากัน และ 2.เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จ่ายให้จำนวนประชากร จึงได้รับน้อย เมื่อหักค่าตอบแทนของบุคลากรที่เท่ากับ รพ.ระดับเดียวกัน ทำให้มีเงินดูแลประชากรน้อยกว่าและไม่เพียงพอ

“รพ.ที่มาให้ข้อมูลบางแห่งบอกว่าประชาชนได้รับยาครบเพียงร้อยละ 30 คือ ประชาชนได้ยาไม่ครบที่ควรจะได้ เพราะ รพ.มีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่จะใช้เครดิตในการซื้อยา ขณะที่แพทย์ก็ไม่อยากมาอยู่ เจ้าหน้าที่เดิมก็อยากย้ายออก เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากังวลเพราะเป็นสิ่งที่จะกระทบถึงคุณภาพในการให้บริการแก่ประชาชนลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานาน ทับถมเหมือนกองหิมะ ถ้าหากยังปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ได้รับการแก้ไขจนกลายเป็นแก้ไม่ได้” นพ.เจตน์กล่าว

นพ.เจตน์กล่าวอีกว่า กมธ.สธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยัง สธ.เพื่อให้รู้ถึงปัญหา แต่เข้าใจว่าคงทราบปัญหาดีอยู่แล้ว โดยจะมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาหนึ่ง คือ แยกเงินเดือนบุคลากรใน รพ.สธ.ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เพราะปัจจุบันร้อยละ 60 ของเงินเดือนจะอยู่ในงบนี้ ซึ่งส่วนนี้เป็นข้อเสนอจาก รพ.เอง ทั้งนี้ การแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจะทำให้เห็นภาพงบประมาณชัดขึ้น เช่น งบเหมาจ่ายรายหัว 3,000 บาท หากแยกเงินเดือนบุคลากร สธ.ออกไปแล้วจะเหลืองบในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลรักษาประชาชนจริงๆ เท่าไหร่ เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบประมาณจะได้เห็นภาพและเพิ่มเติมงบประมาณต่อไป

ยกตัวอย่างสถานการณ์ใน 5 โรงพยาบาล ได้แก่ 1.รพ.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา ขาดทุนปี 2557 จำนวน 2.8 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 6 แสนบาท สาเหตุได้รับงบจัดสรรไม่เพียงพอเพราะประชากรในพื้นที่มีน้อย รายจ่ายบุคลากรสูง รพ.ไม่ทราบตัวเลขแท้จริงที่ สปสช.จัดสรรให้ ขอดูก็ไม่ได้ ข้อเสนอแนวทางในการแก้ไข คือ แยกเงินเดือนออก จะทำให้การจัดสรรเงินของ สปสช.ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รพ.ต่างๆ สามารถรับรู้เงินที่จะได้รับจัดสรรแท้จริง รพ.ที่ขาดทุนจากประชากรน้อย แต่เจ้าหน้าที่มาก จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น เสนอให้จัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวแบบขั้นบันได กองทุนย่อยเฉพาะโรคควรมีเท่าที่จำเป็นและมีน้อยที่สุด ใช้จ่ายเบิกข้ามกองทุนไปช่วยเหลือ รพ.อื่นได้ เสนอให้มีการร่วมจ่ายเพิ่มจาก 30 เป็น 50 บาท การซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษ (บัตรทองช่วยชาติ)

Advertisement

2.รพ.พังงา ย้อนหลัง 14 ปีเงินบำรุงลดต่ำลงทุกปี เงินบำรุงคงเหลือ 2.35 ล้านบาท หนี้สินปัจจุบัน 72 ล้านบาท ค่าตอบแทนค้างจ่าย 12 เดือน จำนวน 18.38 ล้านบาท สาเหตุเพราะจังหวัดเล็กแต่มีโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 2 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 7 แห่ง รพ.พท.เกาะ 10 แห่งและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถึง 64 แห่ง ปี 2559 ส่วนกลางต้องให้เงินช่วยเหลือถึง 25 ล้านบาท มีวิกฤตการเงินระดับ 7 พัฒนางานไม่ได้ ค้างจ่ายค่าตอบแทน ค้างจ่ายเจ้าหนี้การค้า โครงสร้างเสื่อมโทรม บุคลากรขาดขวัญกำลังใจ

3.รพ.สมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า เป็น รพ.ระดับ 60 เตียง แต่บริการจริงมี 121 เตียง ทำให้ต้นทุนการจัดบริการเพิ่มขึ้น ปี 2557 ขาดทุน 37.1 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 26.4 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุนในขณะนี้ 32.8 ล้านบาท มีแพทย์ประจำในปัจจุบัน 12 คน ปัญหาจากค่าใช้จ่ายบุคลากรเป็นสาเหตุหลัก ประชากรสูงอายุมีมากถึงร้อยละ 23

4.รพ.อินทร์บุรี เป็น รพ.ขนาด 218 เตียง แพทย์ประจำ 9 คน แพทย์ใช้ทุน 8 คน ปี 2557 ขาดทุน 34.5 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 7.6 ล้านบาท สาเหตุเพราะประชากรน้อยเพียง 39,700 คน ค่าใช้จ่ายสูง มีปัญหาการจัดทำข้อมูลเพื่อเรียกเก็บเงินจากกองทุนต่างๆ และถูกหักเงินย้อนหลัง รพ.มีหนี้สะสมมาก ความสามารถในการชำระหนี้ได้น้อยกว่าการก่อหนี้ ผู้ประกอบการปฏิเสธการส่งสินค้าและบริการ มีภาระค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่อื่นเพราะขาดเครื่องมือ รวมถึงขาดแพทย์เฉพาะทาง จึงต้องตามจ่ายจากการส่งต่อผู้ป่วย สถานการณ์ย่ำแย่ลงเพราะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิอื่นๆ หรือที่จ่ายเงินเองถูกส่งไปที่อื่น ทำให้ขาดรายได้จากกลุ่มนี้

Advertisement

5.รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ประชากร 26,000 คน เป็น รพช. จำนวน 30 เตียง มี รพ.สต. 6 แห่ง ปี 2557 กำไร 1,248,047 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 5,945,560 ล้านบาท สาเหตุจากนโยบายปรับเปลี่ยนลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงาน สธ.โดยมีการปรับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น การขยายอัตราค่าจ้างให้เทียบเท่าบัญชีเงินเดือนข้าราชการ บุคลากรเจ็บป่วยเรื้อรัง ขาดอัตรากำลัง รพ.อยู่ในพื้นที่ประชากรน้อยจึงได้รับงบน้อย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image