นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คณาธิปไตยในการเมืองไทย (1)

ผมถามตัวเองมานานแล้วว่า เหตุใดนายทุนผู้มั่งคั่งของไทยจึงรังเกียจประชาธิปไตย แล้วก็ตอบได้ไม่เป็นที่พอใจของตนเองมานาน จนเพิ่งได้อ่าน Oligarchy ของ ศ. Jeffrey A. Winters จึงได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยคิดมาก่อน ส่วนถูกหรือผิดเมื่อนำมาอธิบายการเมืองไทย ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ก็ขอทดลองใช้ดู ดังที่จะกล่าวถึงตัวทฤษฎีโดยสังเขปดังต่อไปนี้

มักแปล oligarchy เป็นภาษาไทยว่า คณาธิปไตย แต่คำนี้ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษถูกใช้จนสับสน เมื่อเริ่มนิยมใช้ทฤษฎีชนชั้นนำ (elite theory) ในการอธิบายการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา จนเราแยกความหมายของชนชั้นนำกับคณาธิปัตย์ออกจากกันไม่ได้ ความหมายของคำนี้ที่ถูกใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรีก (อริสโตเติล) จนไม่นานมานี้หมายถึงการปกครอง (หรืออำนาจตัดสินใจทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม) ของคนส่วนน้อยประเภทหนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจคือคน “รวยล้นฟ้า” แปลว่าไม่ใช่รวยแค่พอฟุ้งเฟ้อได้ แต่ถือครองทรัพย์สินและรายได้มหึมา เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม คนพวกนี้คือคณาธิปัตย์ ซึ่งไม่ใช่คนส่วนน้อยที่ถืออำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ประเภทอื่น (เช่น นายโจรในซ่องโจร, พระราชาสมัยโบราณซึ่งอาจเป็นหรือไม่ได้เป็นคณาธิปัตย์ก็ได้, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนักการเมือง)

เป้าหมายหลักของคณาธิปัตย์ในทุกสังคม และทุกสมัยเหมือนกัน นั่นคือปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของตน จำเป็นต้องสร้างกองทัพส่วนตัวเพื่อทำการนี้ ก็ตั้ง จำเป็นต้อง “จ้าง” กำลังคนไปล้มรัฐบาลที่ปล่อยให้ทรัพย์สินและรายได้ของตนถูกคุกคาม ก็จ้าง จำเป็นต้องแต่งงานกับยายเพิ้งเพื่อใช้อำนาจของพ่อตาในการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ ก็แต่ง ฯลฯ

การกระทำทั้งหมดเหล่านี้ จะทำรวมกลุ่มกับคณาธิปัตย์คนอื่นก็ได้ ทำเป็นเอกเทศส่วนตัวก็ได้เหมือนกัน อิทธิพลของความรวยล้นฟ้านั้นมหาศาล

Advertisement

เพราะคณาธิปัตย์ทำอะไรได้โดยไม่ต้องสร้างเครือข่ายเช่นแรงงาน หรือนักประชาธิปไตย หรือนักสิทธิสตรี เงินมีอำนาจที่จะจ้างใครก็ได้ ตั้งแต่สูงสุดถึงต่ำสุดในสังคม ให้ทำอะไรก็ได้ แม้แต่สิ่งที่ผิดกฎหมายเช่นฆ่าคน จ้างให้ติดคุกแทนก็ได้ จ้างทำรัฐประหารก็ได้ ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าได้หมด โดยไม่ต้องร่วมมือกับใครเลย

(ภาพที่สลิ่มสร้างให้คุณทักษิณ ชินวัตร นั้นใช่เลยครับ แต่คุณทักษิณจะซื้อจริงตามนั้นหรือไม่ ผมไม่ทราบ ข้อที่น่าสำเหนียกให้ดีก็คือคุณทักษิณไม่ใช่คณาธิปัตย์คนเดียวของไทย ยังมีคณาธิปัตย์ไทยอื่นอีกมาก รวมทั้งที่รวยล้นฟ้ากว่าคุณทักษิณก็มี)

ในแง่นี้ ประเทศไทยไม่เคยมีคณาธิปัตย์มาก่อนนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พระเจ้าแผ่นดินอยุธยานั้นรวยล้นฟ้าแน่ครับ แต่ทรัพย์สินของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา แยกไม่ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน พระราชอำนาจถูกใช้ไปเพื่อจุดประสงค์จะปกป้องหรือเพิ่มพูนพระราชอำนาจ มากกว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินและรายได้ แต่เศรษฐกิจหลังนโยบายพัฒนาทำให้ทรัพย์สินที่สั่งสมมาของผู้ดีเก่า มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล สามารถนำไปลงทุนจนเพิ่มพูนขึ้นมาระดับรวยล้นฟ้าได้ ทั้งนี้ไม่นับนักธุรกิจที่จับทางและจับเส้นได้ถูก จนสั่งสมทรัพย์สินได้มากมายล้นฟ้าอีกมาก

Advertisement

ยุทธศาสตร์คือปกป้องทรัพย์สินและรายได้ แต่ยุทธวิธีซึ่งคณาธิปัตย์ในแต่ละยุคสมัยและสังคมใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับสถานการณ์ในสังคมและยุคสมัยที่คณาธิปัตย์อยู่ ยุทธวิธีหนึ่งที่เคยใช้ได้ผล ก็อาจกลับกลายเป็นภัยคุกคามทรัพย์สินและรายได้ไปก็ได้

ผมอยากจะเพิ่มอะไรตรงนี้นิดหนึ่งด้วยว่า ยุทธวิธีที่ได้ผลดีนั้น ควรมีราคาถูกด้วย เช่นการสร้างกองทัพส่วนตัวนั้นมีราคาแพงเกินไปในยุคสมัยนี้ ซ้ำเมื่อกองทัพส่วนตัวออกปฏิบัติการ ยังต้องจ่ายค่าจ้างทนายความมือดีและสินบนเพื่อให้กองทัพไม่ถูกกฎหมายลงโทษ หรือไม่ซัดทอดมาถึงตัว แต่ในบางสถานการณ์ ถึงแพงก็จำเป็น อย่างที่เจ้าพ่อฟิลิปปินส์ต้องทำมานานแล้ว เป็นต้น

วิธีที่ถูกที่สุดก็คือ การอยู่ในรัฐที่เข้มแข็งพอจะสร้างทหาร-ตำรวจ-อัยการ-ศาล มาบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม (พอสมควร) ค่าใช้จ่ายของคณาธิปัตย์จึงเหลือแต่ทำให้กฎหมายไม่เป็นปฏิปักษ์กับทรัพย์สินและรายได้ของตน ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาเงินไปจ่ายคนออกกฎหมายอย่างเดียวนะครับ อาจตั้งเป็นกองทุนตำแหน่งศาสตราจารย์ทางกฎหมายไว้ในมหาวิทยาลัยมีชื่อก็ได้ แล้วเลือกคนที่เชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของทรัพย์สินส่วนบุคคลไปนั่งในตำแหน่งนั้น (เงินเดือนตำแหน่งศาสตราจารย์นั้น ขี้ปะติ๋วครับ) ในการสร้างฐานทางอุดมการณ์ที่มั่นคงแข็งแรงให้แก่ความปลอดภัยของทรัพย์สินตนเอง วิธีนี้ราคาต่ำ

รัฐที่มีประสิทธิภาพอย่างนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐประชาธิปไตยนะครับ อาจเกิดขึ้นในรัฐเผด็จการก็ได้ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้ ดังนั้นโดยธรรมชาติของเหล่าคณาธิปัตย์จึงไม่ยึดติดกับระบอบปกครองประเภทหนึ่งประเภทใด ศ.Winters ตั้งข้อสังเกตด้วยซ้ำว่า การปรับตัวเข้าหาระบอบที่ไม่ต้องใช้กำลัง และยอมอยู่ใต้กฎหมายของเหล่าคณาธิปัตย์นั้น มักเกิดจากแรงกดดันภายนอก มากกว่าสำนึกภายในของคณาธิปัตย์เอง

ผมก็อยากชวนให้คิดว่า แรงกดดันภายนอกในสังคมไทย เพื่อก่อให้เกิดรัฐที่มีประสิทธิภาพเช่นนั้นเคยมีกำลังเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ คณาธิปัตย์ไทยคงไม่โง่พอจะเอาไข่ทั้งหมดของตนฝากไว้กับรัฐเช่นนั้น ซึ่งยังค่อนข้างเป็นวุ้นอยู่อย่างแน่นอน ยุทธวิธีที่เหมาะสมกว่าในสถานการณ์แบบไทยก็คือยุทธวิธีผสม นั่นคือใช้วิธีนอกกฎหมายควบคู่กันไปกับกระบวนการทางกฎหมาย โรงถลุงเหล็ก, เหมืองทอง, เหมืองโพแตส ฯลฯ จ้างนักเลง (ในและนอกเครื่องแบบ) ไปลุยประชาชนผู้คัดค้านต่อต้านโครงการ รวมถึง “เก็บ” ผู้นำบางคนเสีย ย่อมบรรลุผลง่ายกว่า ในขณะที่จ้างทนายความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือคดีอาญาอื่นๆ แก่แกนนำประท้วง จ่ายเงินสินบนแก่นักการเมือง

(จากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ไม่ต่างกัน) เพื่อสัมปทานทางด่วน, รถไฟฟ้า, บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ แล้วก็ใช้สิทธิตามสัญญาที่ทำกับรัฐ เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐเองบ้าง หรือค่าเสียหายจากการประท้วงของชาวบ้านบ้าง

พูดอีกอย่างหนึ่งคือใช้ยุทธวิธีทั้งสองอย่าง อิงกับประสิทธิภาพที่ไม่สมบูรณ์ของรัฐส่วนหนึ่ง ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายหรือปริ่มกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ถ้าพูดภาษาของ ศ.Winters ส่วนใหญ่ของคณาธิปัตย์ไทยเป็นทั้งคณาธิปัตย์ที่เชื่องแล้ว และคณาธิปัตย์ป่าเถื่อนไปพร้อมกัน

ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกิจของคณาธิปัตย์ไทย (ได้จากการค้นหาข้อมูลที่ไม่ละเอียดและรอบคอบพอ) ซึ่งควรกล่าวไว้ด้วย เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องรัฐที่มีประสิทธิภาพ

แหล่งรายได้หลักของคณาธิปัตย์ไทยประกอบด้วย 2 ประเภท หนึ่งคือธุรกิจการผลิต ส่วนใหญ่จนเกือบทั้งหมดของธุรกิจประเภทนี้ คือการขูดเอาทรัพยากรไปขายอย่างดิบๆ แทบจะไม่ผ่านกระบวนการผลิตอื่นอีกเลย เช่น ขุดแร่ไปขาย, ขุดหินไปเผาเพื่อทำปูนซีเมนต์, ตัดไม้ขาย ฯลฯ ผมเห็นว่าควรรวมธุรกิจการเกษตรด้วย ถึงแม้ต้องผ่านกระบวนการผลิต แต่ก็สามารถผลักภาระการผลิตแก่คนเล็กคนน้อยได้ เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็ไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตอะไรมากไปกว่านี้มากนัก ขายในตลาดภายในหรือส่งออกในรูปค่อนข้างดิบๆ เช่น เนื้อไก่ต้มสุก, เนื้อหมูแช่แข็ง, ปลาและสัตว์ทะเลแช่แข็ง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลังอัดเม็ด ฯลฯ

นอกจากนี้ก็รับจ้างทำของด้วยค่าแรงราคาถูก คณาธิปัตย์กลุ่มนี้ไม่ต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพนัก เพราะผลกำไรของเขาได้มาจากความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐเป็นหลัก เช่น ปล่อยสารพิษในการทำเหมืองได้ หรือกดขี่ขูดรีดแรงงาน (ทั้งไทยและเทศ) ได้โดยไม่ถูกรัฐขัดขวาง เราจึงพบคณาธิปัตย์ป่าเถื่อนอยู่ในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ไม่แต่เพียงจ้างนักเลงเที่ยวรังแกชาวบ้านที่ต่อต้านวิสาหกิจของตนเท่านั้น แต่รวมถึงให้ทุนสนับสนุนทหารที่จะยึดอำนาจด้วย (นี่คือจ้างนักเลงระดับรัฐ) เพราะถ้ายึดอำนาจได้สำเร็จ ก็จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ (หรือเลือกจะไม่ใช้ประสิทธิภาพ) ได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นไปอีก

ธุรกิจประเภทที่ 2 คือธุรกิจบริการ นับตั้งแต่ทำธนาคาร, ทำช้อปปิ้งเซ็นเตอร์, ก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, ลงทุนกับสาธารณูปโภคเพื่อหากำไร, สัมปทานคลื่นความถี่, สัมปทานขายน้ำเมา ฯลฯ ธุรกิจประเภทนี้ต้องการประสิทธิภาพของรัฐมากกว่าแยะทีเดียว แม้ต้องใช้สินบนเบิกทางไปสู่ธุรกิจก็ตาม เช่นเมื่อทำสัญญาสัมปทานกับรัฐได้แล้ว ต้องการสรรพสามิตที่เที่ยวไล่จับเหล้าเถื่อน มีอันธพาลไปรังควานห้างสรรพสินค้า โทรเรียกตำรวจมาจับได้ทันที ฯลฯ เป็นต้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคณาธิปัตย์กลุ่มนี้ไม่ต้องการความไร้ประสิทธิภาพของรัฐเสียเลย ก็ยังจ่ายสินบนอยู่นะครับ

ธุรกิจประเภทนี้เกิดและขยายตัวขึ้นในช่วงหลังของการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ต้องการกำลังซื้อภายในอยู่ไม่น้อย ไม่ถึงกับว่าคณาธิปัตย์กลุ่มนี้ต้องการรัฐประชาธิปไตย แต่พวกเขาพอเอาตัวรอดในประชาธิปไตยแบบขาดๆ เกินๆ ของไทยมาได้ ซ้ำยังอาจขยายผลประโยชน์ได้ด้วย เช่น ขอให้สังเกตว่าภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เคยมีกฎหมายใดๆ กำหนดการใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเลย ซื้อที่มา 100 ไร่ ก็ใช้มันเต็มทั้ง 100 ไร่ ผลักภาระรถติดให้ออกมาในถนนนอกอาคาร อำนาจต่อรองของผู้ซื้อบ้านจัดสรรไม่ได้เพิ่มขึ้นตรงไหน คำสั่งห้ามนำเข้า “สินค้าฟุ่มเฟือย” ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว นับตั้งแต่แอปเปิลไปจนถึงรถหรู จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหนก็ไม่สำคัญ ขอให้รัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่า เช่นไม่เผาห้างใหญ่เพื่อใช้เป็นเกมการเมือง แต่จะยิงคนจนที่มาประท้วงกลางเมืองไปเสียบ้าง ก็ไม่เป็นไร หรืออย่างน้อยก็ไม่กระเทือนการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์กลุ่มนี้

คณาธิปัตย์โบราณต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างกองทัพส่วนตัว สร้างกำแพงเมือง หรือจ้างนักบวชให้ปลูกฝังอุดมการณ์ของความรวยล้นฟ้า ฯลฯ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คณาธิปัตย์ในสมัยใดๆ ก็ตามย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของตนทั้งนั้น แม้ในรัฐประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล เพื่อจ้างทนายความ, ผู้บริหารมือดี, นักกฎหมายด้านธุรกิจมือดี, นักการเมือง ฯลฯ เพื่อการนั้น และถ้าสามารถจ้างได้ รัฐประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพก็ไม่สามารถคุกคามทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์ได้อยู่นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ดังที่ ศ.Winters ชี้ให้เห็น ในรัฐที่มีประสิทธิภาพ (ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่) ทรัพย์สินได้รับการปกป้องจากรัฐเสียอีกด้วยซ้ำ คณาธิปัตย์มุ่งแต่เฉพาะปกป้องทางมาของรายได้อย่างเดียวก็พอ ทุ่นค่าใช้จ่ายไปไม่น้อยทีเดียว

ผมให้สงสัยเป็นส่วนตัวอย่างยิ่งว่า เมืองไทยขาดแรงงานที่มีทักษะด้านนี้ที่จะให้คณาธิปัตย์จ้างครับ นักกฎหมายด้านธุรกิจมือดี สามารถประหยัดภาษีให้แก่บริษัทของคณาธิปัตย์ได้เป็นหลายร้อยหลายพันล้านต่อปีนะครับ ถึงจะถูกฟ้องร้อง ก็มีนักกฎหมายมือดีที่สามารถเอาชนะในศาล หรือสามารถดึงคดีมาสู่การยอมความนอกศาลได้ ประหยัดไปอีกก้อนใหญ่ นักการเมืองมือดีสามารถทำให้ประชาชนเชื่อว่า ผลประโยชน์ของคณาธิปัตย์คือผลประโยชน์ของตน (เช่นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับเป็นภัยแก่ความมั่นคงในชีวิตของพลเมือง) แต่เมืองไทยขาดแรงงานที่มีทักษะระดับนี้ ที่จะรับจ้างปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์อย่างได้ผล ภายใต้รัฐประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้คณาธิปัตย์ไทยไม่พร้อมจะก้าวเข้าสู่รัฐประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ อย่างเดียวกับกับดักรายได้ปานกลางนั่นแหละครับ ฝีมือแรงงานของเราไปไม่ถึงที่จะทำให้เราหลุดพ้นออกไปจากกับดักนี้ได้ คณาธิปไตยไทยติดกับดักรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือมีประสิทธิภาพน้อย ก็เพราะขาด “ผู้เชี่ยวชาญ” ประเภทต่างๆ ที่จะเป็นด่านหน้าปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์ไทย

ตอนต่อไป ผมจะนำหลักการกว้างๆ ของคณาธิปไตยดังที่กล่าวนี้มาวิเคราะห์การเมืองไทย แต่ก่อนจะถึงเรื่องนั้น ผมขอชี้อะไรไว้ให้เห็นก่อนว่า ภัยคุกคามของทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์นั้นมาได้ 2 แนว หนึ่งคือแนวดิ่ง จากประชาชนข้างล่างซึ่งไม่พอใจต่อความห่างระหว่างทรัพย์สินของคนทั่วไปและคณาธิปัตย์ หรืออาจมาจากข้างบน คือรัฐลงมายึดทรัพย์สินหรือทำลายทางมาของรายได้ของคณาธิปัตย์ รัฐไทยคงไม่ยึดหรอกครับ เพราะคณาธิปัตย์ได้ทำให้หลักการเรื่องทรัพย์สินเอกชนมีความมั่นคงแล้ว ในช่วงที่ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่ ก็น่าประหวั่นสำหรับคณาธิปัตย์ไทยมาก เพราะหากรัฐเปลี่ยนมือไปอยู่กับพวกคอมมิวนิสต์ก็หาความปลอดภัยในทรัพย์สินไม่ได้ ยิ่งเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ไทยเป็นแค่ตัวแทนของจีน, รัสเซีย หรือเวียดนาม ยิ่งน่าตกใจขึ้นไปอีก จึงเป็นธรรมดาที่คณาธิปไตยที่ไหนๆ ก็มักจะรักชาติมาก เพราะชาติคือปราการที่แข็งแกร่งในการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์

ภัยคุกคามอีกแนวหนึ่งคือแนวนอน ได้แก่คณาธิปัตย์ด้วยกันเอง ซึ่งอาจขยายเข้ามาควบรวมกิจการของคู่แข่ง หรือทำอะไรที่คุกคามทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์คนหนึ่งได้

คราวนี้มาดูว่า วิวัฒนาการทางการเมืองของไทยนั้น หากมองจากคณาธิปไตย ซึ่งเหล่าคณาธิปัตย์ย่อมปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของตน จะอธิบายความแปรเปลี่ยนพลิกผันได้อย่างไร

(ยังมีต่อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image