‘อานันท์’ชี้ ภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างความรวย-จน(คลิป)

วันที่ 24 สิงหาคม หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ CSR 360 องศา “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวเปิดงานสัมมนา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยนายอานันท์กล่าวถึงวิวัฒนาการของคนละแต่ละรุ่นที่แตกต่างกันไป และเมื่อมองทั่วโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ไทยก็เช่นเดียวกัน ความช้าเร็วอาจจะแตกต่างกันเพราะพื้นฐานแตกต่างกัน แต่ความหนักแน่นในทางความคิดไม่ได้น้อยไปกว่ากัน ทั้งนี้ หากเรามองดูทุกๆ ประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าเราน่าจะสบายใจได้สำหรับเมืองไทย ทั้งที่มีปัญหามากมาย ทั้งที่มีการเมืองที่เรียกว่ายังไม่ได้เดินไปด้วยดี แต่สภาพโดยทั่วไปถ้าเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย อเมริกา ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ เราพอจะมีความสุขได้บ้าง

“เรื่องความสงบเรียบร้อยเรามีพอประมาณ แต่ถามว่าพอไหม ถามว่ายั่งยืนไหม เราก็ไม่สามารถให้คำตอบที่หนักแน่นในทางบวกได้ ปัจจุบันดูการเลือกตั้งในเรื่องเบร็กซิท การเลือกตั้งประธานาธิบดีในอเมริกา มีคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ โผล่ขึ้นมา มีคำถามเกิดขึ้นมาฉับพลัน รวดเร็ว เหมือนสายฟ้าแลบ หลายประเทศในยุโรป และประเทศอื่นๆ จากการที่เศรษฐกิจถดถอยไปในทุกๆ ประเทศ คนว่างงานมีมากขึ้น คนที่ด้อยโอกาส ด้อยสิทธิ มีความรู้สึกน้อยใจ แค้นใจมากขึ้น เพราะสิ่งที่เราเรียกว่าโลภาภิวัตน์ที่นำการเปลี่ยนแปลงมา รวมทั้งประเทศไทย ที่ทำให้อัตราการเติบโตของประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเติบโต ความมั่งคั่งของแต่ละประเทศ ถ้ามองให้ลึกเป็นเรื่องฉาบฉวยทั้งนั้น เพราะความมั่งคั่งของทุกประเทศไม่ได้ตกไปอยู่กับคนชั้นล่าง ในอเมริกามี 1% ของคนบนยอดมีความมั่งคั่งสูง สถานการณ์นี้ยังเกิดในจีน อินเดีย บราซิล” นายอานันท์กล่าว และว่า มหาเศรษฐีที่เกิดขึ้นในเอเชียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากโกบอลไลเซชั่น (โลกาภิวัตน์) ไปไม่ถึงคนชั้นล่าง แม้แต่คนชั้นกลางก็ไปไม่ถึง วิธีคิดง่ายๆ ก็เกิดขึ้นมาว่า ทำไมความร่ำรวยทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเกิดมีมากขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน การเมืองแบบไหน ในทุกประเทศมีปัญหาลักษณะเดียวกัน

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้นๆเสมอ คนเริ่มสงสัยว่าโลกาภิวัตน์ให้ความยุติธรรมกับสังคมเรา มีการถกเถียงกันมานานในวงการนักเศรษฐศาสตร์ ว่า 1.ช่องว่างทางสังคมก่อให้เกิดความยุติธรรมทางเศรษฐกิจหรือเปล่า 2.ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ทำให้หลายประเทศประชาชนเบื่อหน่ายระบบการเมือง ผู้ครองอำนาจจากการเมือง ไม่ว่าผู้นำจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เบื่อหน่ายเมืองหลวง ดูถูกนักการเมือง ดูถูกพรรคการเมือง

Advertisement

ถ้าเรามองประเทศไทยแล้ว ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2475 เราพยายามพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของเรา แต่จะเพราะอะไรก็แล้วแต่ รากของประชาธิปไตยเมืองไทยไม่ใช่รากแก้ว ยังเป็นรากที่อยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำจากดินเท่าไหร่ มีพายุ มีลม มีน้ำท่วมเมื่อไหร่ ต้นไม้ล้มหักง่าย และเมื่อล้มหักแล้วโอกาสที่จะเติบโตโดยสมบูรณ์ก็มีน้อยมากขึ้น

“จริงๆ แล้ว เมืองไทยมีปัญหามากเท่าไหร่ คนไทยและนักธุรกิจต้องมีจิตสำนึกมากขึ้น ถึงความยากจน คนรากหญ้า รากแก้วก็แล้วแต่ เขาไม่มีสถานะจะสนใจระบบเลือกตั้ง ระบอบประชาธิปไตย เพราะเขาต้องคำนึงปากท้อง งานไม่มีทำ เงินดือนต่ำ ไม่มีค่าเล่าเรียนให้ลูก ไม่มีค่ารักษาพยาบาล แก่ตัวไปไม่มีหลักประกันสังคม พวกหาเช้ากินค่ำ เราจะไปมีความคาดหวังว่าเขาจะมีใจ มีแรง หรือมีเวลาที่จะหันมาดูปัญหาการเมืองคงยากมาก ที่ผ่านมาเรารู้กันว่า คนไทยโดยนิสัยและโดยสิ่งแวดล้อม หวังพึ่งรัฐบาล ระบบราชการ และหวังพึ่งผู้อื่นตลอดเวลา จิตสำนึกนี้จะต้องเปลี่ยนไป และต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนเร็วกว่าที่หลายคนในวงการรัฐบาล ข้าราชการคาดฝัน” นายอานันท์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า สภาพประชาชนที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางความคิด ที่ในอดีตนั้นพร้อมจะเป็นผู้ดูนอกสังเวียน พร้อมที่จะไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งในปัญหาของประเทศ ในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีมากขึ้น จะเสียงดังหรือไม่ดังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เสียงดังมากขึ้นที่บอกว่าเขาขอเป็นเจ้าของร่วมประเทศไทยได้ไหม เขาขอมีส่วนร่วมได้ไหม ประเทศนี้เป็นของเขา เขาขอแบ่งปันผลประโยชน์บ้างได้ไหม ขอความยุติธรรมมากกว่านี้ได้ไหม ขอความโปร่งใสมากกว่านี้ได้ไหม เขาพร้อมที่จะขอร่วมรับผิดชอบในชะตาชีวิตของเขา เขาอยากจะเป็นนายเขาเอง อะไรต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบเขา เขาอยากมีส่วนร่วม ทำไมถึงปล่อยให้รัฐบาลกลางในเมืองหลวงเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตเขาอย่างเดียว เป็นผู้ชี้นำว่าพัฒนาท้องถิ่นที่ใดควรเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ควรมีโรงไฟฟ้าและควรอยู่ที่ไหน ใช้วัตถุดิบอะไร เมื่อไหร่ควรตัดต้นไม้ เมื่อไหร่ควรสร้างป่า

Advertisement

อดีตนายกรัฐมนตรียังกล่าวย้ำให้เข้าใจถึงคำว่า ทรัพยากรของชาติเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นความถี่คลื่นวิทยุและอะไรอีกมากมาย จิตสำนึกที่ตื่นตัวอย่างมากและดำเนินต่อไป และต้องการการบริหารที่ดีคือความคาดหวังของชนรุ่นนี้ ของผู้ที่ในอดีตเป็นแต่ผู้เฝ้าดูเหตุการณ์อยู่นอกสังเวียน นับวันๆ การไม่พร้อมของบุคคลเหล่านี้จะมีมากขึ้น มีน้ำหนัก มีความหมายมากขึ้น และต้านทานไม่ได้ อันนี้เป็นสัจธรรม จึงขึ้นกับผู้บริหารบ้านเมือง ต้องสามารถที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ทุกอย่างในโลกไม่ว่าชีวิตส่วนตัว การงาน ครอบครัว อาชีพ ขึ้นกับการจัดการ แต่ก่อนที่เราจะจัดการได้ดีหรือไม่ดีนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าความจริงอยู่ที่ไหน เพราะโลกนี้มีมายามาก

เขากล่าวต่อไปอีกว่า ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริง ไม่ขวนขวายหาข้อเท็จจริง ทำไมคนนี้ คนนั้นถึงคิดอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าเรารู้อย่างเดียวว่าอะไรผิดถูกจะเข้าระบบความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ครูอาจมีความรู้ไม่ดีพอ เกิดปมด้อย สอนทั้งวัน ไม่ถามความเห็นนักเรียน ไม่สนใจสนทนานักเรียน สนใจแต่ตัวเองตั้งคำถามนั้นถูกหรือผิด แต่หารู้ไม่ในทางจิตวิทยา เด็กเล็ก มัธยม มหาวิทยาลัย เขาอยากคิดอยากตอบ แต่ถ้าครูบอกว่าสิ่งที่คิดนั้นผิด เขาอับอายเพื่อนฝูง พ่อแม่ สิ่งเกิดขึ้นคือว่า ครูถาม และถามต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงว่าคำตอบที่ให้นั้นผิดหรือถูก การถามไม่ใช่เพื่อหาคำตอบผิดหรือถูก แต่ถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดเป็นกระบวนการ เพราะทุกคำถามเด็กจะต้องคิด และเด็กอยากตอบ ครูต้องให้โอกาส

“การบริหารประเทศเช่นเดียวกัน ต้องหาความจริง ต้องรู้ความจริง ต้องพยายามหาเหตุผล ตรรกะวิธีคิด และอย่าไปสรุปง่ายๆ ว่าอันนี้ผิดหรือถูก เพราะสังคมจะยั่งยืนได้นั้นไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่เป็นเรื่องความพยายามที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน ความรู้สึกเข้าใจซึ่งกันและกัน สิ่งที่เป็นรากฐานประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงก็คือความมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบที่ทุกฝ่ายสามารถร่วมอยู่ได้การประนีประนอม การอะลุ้มอล่วย การเจรจาอย่างผู้ใหญ่ ใช้เหตุใช้ผล การไม่เอาชนะซึ่งกันและกัน การไม่ตีกัน การไม่ใช้ความรุนแรง การไม่ทำลายสถาบัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้ ต้องมีจิตสำนึก เช่นกัน ภาคธุรกิจต้องมีความตื่นตัวให้มาก” นายอานันท์กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ตนเป็นคนเริ่มต้นพูดว่าโปร่งใส เมื่อ 7-8 ปีก่อนเริ่มพูดซีเอสอาร์ ผ่านมาตอนนี้ภาคธุรกิจรู้แล้วว่า จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้หรือเหมือนอย่างในอดีตไม่ได้ หวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ภาคธุรกิจต้องลงมาเล่นเอง แต่ละบริษัทก็มีการจัดตั้งซีเอสอาร์ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าการปลูกป่า สร้างฝาย ให้ทุนการศึกษา แต่แน่ละการกุศลยังนำไปที่วัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่พอ เพราะนับวันซีเอสอาร์มีพัฒนาการ จึงมีคำว่า ธุรกิจเพื่อสังคมในบริบทใหม่ ความหมายคือ ภาคธุรกิจอย่าคำนึงถึงแต่กำไร ผู้ถือหุ้น พนักงานตัวเองจะได้เท่านั้น กำไรที่ได้มาต้องแบ่งปันให้สังคม และกำไรที่จะแบ่งปันให้สังคมไม่ได้อยู่ระบบเดียวที่เรียกว่าให้การกุศล นับวันๆ คนต้องเริ่มคิดว่า ที่ผ่านมามีการให้วัด โรงพยาบาล จนเตลิดเปิดเปิงไปว่าทำบุญวัดเพื่อขอเบอร์หวย ต่อไปจะต้องคำนึงว่าเมื่อให้ไปแล้วเกิดประโยชน์อะไรหรือเปล่า เกิดประโยชน์ในการสร้างงานขึ้น เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม แม้แต่การให้กับการศึกษา จุดหมายปลายทางไม่ใช่เรื่องการศึกษาแต่อยู่ที่ถ้าคนมีการศึกษาดีขึ้นมา ความเหลื่อมล้ำตอนต้นๆ จะลดหายลงไป ลูกคนจนไม่สามารถเข้าไปอยู่โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยมดีๆ ได้ แต่ถ้ามีการสนับสนุนให้เขาเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย โอกาสเขาจะได้งานดีๆ มีงานทำดีๆ ก็มีอยู่ การสนับสนุนของเขาให้เครื่องมือ ทำให้เขาดีขึ้นหรือเปล่า หวังว่าทำให้เปลี่ยนแปลงสังคม คนอยู่กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้ ให้รู้สึกว่าเมืองไทยเรานั้นมีความยุติธรรมกับสังคมมากขึ้น เมืองไทยไม่ใช่พัฒนาเศรษฐกิจแต่ปัญหาสังคมสั่งสมมานาน

“สิ่งเหล่านี้ภาคธุรกิจเข้าไปช่วยได้ โครงการที่เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ อันนี้เป็นการคืนดีให้กับแผ่นดินที่เราเกิดขึ้น ควรนำไปใช้ในทางที่ทำให้สังคมดีขึ้น ปัจจุบัน หลายบริษัทที่ทำ ถ้าตั้งบริษัทใหม่เขาก็มีงบประมาณที่มาจากผลกำไรบริษัทแม่ บริษัทนี้ โซเชียลเอนเตอร์ไพรส์มีกำไรได้แต่ไม่แจกเป็นเงินปันผล จะเข้าไปอยู่ในงบประมาณของปีต่อๆ ไป ทำไมงบประมาณเรื่องพวกนี้ถึงสำคัญ เพราะผมเห็นว่าถ้าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องเล็กลงไป เราต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเอกชน ภาคประชาชน พลเมือง เพิ่มความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น เป็นหลักใหญ่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ต้องเข้าถึงประชาชน ให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดวิถีทางการพัฒนาของชุมชน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องทำ แต้ถ้าไม่มีแรงหนุนจากภาคเอกชน รัฐบาลซึ่งองค์กรใหญ่มากจะเฉื่อยชา เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจเอกชน มองปัญหานี้ให้ลึกซึ้งและกว้างกว่าในอดีต” นายอานันท์กล่าว และว่า ภาคธุรกิจต้องสร้างคลื่นใหม่ในทางความคิด ให้แผ่กระจายไปในจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นผมมองเห็นอนาคตประเทศชาติเรา มองเห็นความสงบที่ยั่งยืน และผมจะมองเห็นความเจริญที่สมบูรณ์แบบ และขอให้พวกเราช่วยกัน

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ CSR 360 องศา “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” โดยงานจัดระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จุดประสงค์การสัมมนาครั้งนี้เพื่อเกาะติดสถานการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยวิทยากรแต่ละท่านจะมาไขความกระจ่างและให้ข้อมูลกันอย่างรอบด้าน โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มมิตรผล ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) “วิเชียร พงศธร” กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ วาสนา ลาทูรัส เจ้าของผู้ก่อตั้งผลิตภัณฑ์ “นารายา” ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image