“วิษณุ” พึ่งคำสอนพุทธเจ้า ปมนายกฯคนนอกคล้ายปี’35 บอกอย่ากลัวอนาคตที่ยังมาไม่ถึง(คลิป)

“วิษณุ” พึ่งคำสอนพุทธเจ้าปมนายกฯคนนอกหวนเหตุการณ์ “บิ๊กสุ” อย่ากลัวอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ย้ำประโยคสำคัญของบิ๊กตู่ นายกฯต้องมาอย่างสง่างาม

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การประชุมครม.และคสช.นัดพิเศษนั้นเป็นการเรียกประชุมค่อนข้างที่จะกระทันหันจึงทำให้มีบางคนติดราชการต่างประเทศ แต่ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยมารับประชุม ซึ่งพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เดิมมีไม่เกิน 220 คนให้เพิ่มเป็น 250 คน ซึ่งจะเป็นตัวเลขเดียวกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมาภายหลังรวมเป็น 500 คน แต่ยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเลขของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะมีจำนวน 500 คนเช่นเดียว ส่วนเหตุที่จะต้องปรับแก้จำนวนเนื่องจากมีภารกิจมากขึ้นในช่วง 1 ปีนี้ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะออกมาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำนวนประมาณ 50 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญจึงต้องการความชำนาญของแต่ละฝ่ายเข้ามาช่วย รวมถึงกฎหมายตามที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนตามรัฐธรรมนูญร่วมร้อยฉบับ ซึ่งจำนวนเดิม 220 คนอาจจะน้อยไปที่จะมารับมือเพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับสำคัญออกมาแล้วใครที่ไปเป็นกรรมาธิการก็จะต้องทำงานกัน 24 ชั่วโมง แต่เราจะต้องเหลือคนที่มาเป็นกรรมาธิการกฎหมายอื่นๆ ด้วยที่จะต้องออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน

นายวิษณุกล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมครม.และคสช.มีคนสอบถามประเด็นคำถามพ่วง ซึ่งครม.และคสช.มีความเข้าใจเรื่องคำถามพ่วง ซึ่งที่ผ่านมาที่มีการประชุมแม่น้ำ 4 สายขาดเพียงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งต่อมาสนช.ได้ดัดแปลงคำถามพ่วงที่สปท.เสนอ เพราะแต่เดิมที่สปท.เสนออ่านแล้วชวนให้เข้าใจว่าไม่ได้ไปแก้บทเฉพาะกาล แต่เป็นการเอาไปแก้บทถาวรแทน ซึ่งเท่ากับส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกตลอดไปทำให้สนช.มาแก้ว่าให้อยู่ในช่วง 5 ปีเท่านั้นและอยู่ในบทเฉพาะกาล

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่บอกว่าควรที่จะล้มบัญชีที่พรรคเสนอพรรคละสามคนตั้งแต่แรก โดยไม่สนใจแล้วโหวตกันเอง ก็ได้มีการเสนอในที่ประชุมสปท.ว่ามีสปท.บางคนได้เอ่ยขึ้นมาว่าขอให้ตั้งคำถามว่าในตอนเลือกนายกฯครั้งแรกไม่ต้องเอาบัญชีของพรรคการเมืองมา พูดง่ายๆ ว่าเอาบัญชีนี้มาใส่ในตะกร้าเพียงประชุมร่วมแล้วเลือกได้เลย แต่พอคำถามดังกล่าวมาถึงสนช.ก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเราต้องเคารพเจตนารมณ์และเป็นหลักของบทถาวรในมาตรา 159 ฉะนั้นเพื่อเคารพเจตนารมณ์ของกรธ. เพียงแต่คนที่จะมาประชุมเพื่อโหวตกันนั้นก็คือส.ว.250 คน บวก ส.ส. 500 คน รวมเป็น 750 คน แล้วก็เลือกตั้งแต่ยกแรกจากในตะกร้า แล้วหากใครได้ถึงครึ่งหนึ่งคือ 376 เสียงนั้นก็ชนะเป็นนายกฯ แต่ถ้าไม่ได้ 376 เสียง เลือก 2-3 หนก็ยังไม่ได้ก็ต้องให้ส.ส.และส.ว. 750 คนเสนอเพื่อที่จะเปิดทางให้เอาคนนอกเข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งต้องมีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ 750 เสียงนั่นก็คือ 500 เสียงยอมให้เอาคนนอกตะกร้าเข้ามา เพราะว่าคนที่อยู่ในตะกร้าต้องเป็นคนที่พรรคเสนอและเจ้าตัวยินยอมจะเป็นส.ส.แต่จะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ตาม แต่หากไม่ได้รอบแรกคือไม่ได้ 376 เสียง ก็ต้องอาศัยเสียงจากการเรียกประชุมรัฐสภา 2 สภาจากนั้นก็ขอเอาคนนอกเข้ามา ซึ่งตรงนี้ก็เอาคะแนน 2 ใน 3 ซึ่งเรียกว่ารอบ 2 จากนั้นถ้ายอมให้คนนอกก็ต้องมีรอบ 3 คือเอาชื่อคนที่มีทั้งหมดที่จะเสนอ ซึ่งอาจจะยืนคนในตะกร้าหรือนอกตะกร้าได้ทั้งนั้น แล้วหากใครได้ถึง 376 เสียงคนนั้นก็เป็นนายกฯ

Advertisement

นายวิษณุกล่าวว่า ประเด็นว่าใครมีสิทธิเสนอชื่อไม่เตยมีใครพูดเรื่องนี้มาก่อน จึงแล้วแต่กรธ. และความจริงสนช.ก็ไม่ควรจะว่าอะไรแล้วเพราะคุณไม่เคยพูด จากนั้นก็ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และอันที่จริงประเด็นใครจะเป็นคนเสนอนั้นไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่อะไร ที่เรามาเกี่ยงกันอยู่ในสังคมว่าส.ว.มีสิทธิเสนอได้หรือไม่นั้น หรือให้ส.ส.เท่านั้นที่เสนอ ก็เมื่อมันเปิดครอบจักรวาลแล้ว ตนก็ไม่เห็นเหตุที่ต้องมานั่งเกี่ยงกันอยู่ทำไมว่าใครจะเป็นผู้เสนอและยืนยันว่าครม.และคสช.ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นนี้เลย และไม่เป็นที่ครม.และคสช.สนใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อสนช.แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและมีผลบังคับใช้แล้ว จะได้สนช.ชุดใหม่อีก 30 คน เมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ สนช.จะประชุมเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ ส่วนจะผ่าน 3 วาระรวดหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่เมื่อผ่านสนช.ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ไม่รู้ จากนั้นเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็สามารถแต่งตั้งได้ และไม่จำเป็นต้องตั้งทีเดียว 30 คน เพราะทยอยตั้งได้ จนเมื่อใช้รัฐธรรมนูญใหม่ สมมติเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ยังตั้งได้ไม่แปลก หากมีคนล้มหายตายจากก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่เรื่องที่ไม่ค่อยพูดถึงกันนั้นคือแม่น้ำทั้ง 4 สายคือสนช. สปท.ครม.คสช. หากจะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ปลายปี 2560 จะต้องลาออกจากตำแหน่งที่เป็นอยู่ภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ สมมติว่าใช้เดือนพฤศจิกายนนับไป 90 วันจะตกปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สนช.บางคนที่คิดลงเลือกตั้งเป็นส.ส.ก็ต้องลาออก ถ้าไม่ลาออกเป็นไม่ได้ยกเว้นเป็นส.ว.ได้ ถ้าเห็นว่าใครลาออกก็อาจเล็งได้ว่าเขาอาจจะลงเลือกตั้ง ส่วนกรธ.ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในเวลา 2 ปีอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าคุณสมบัติของสนช.ใหม่ที่จะเข้ามาควรเป็นอย่างไร เพราะรองประธานสนช.ระบุว่า อยากได้คนที่มีเวลาทำงาน เพราะก่อนหน้านั้นมีสนช.ที่เป็นข้าราชการ อาจจะไม่มีเวลาพอ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ตั้งก็อย่าเพิ่งไปพูด ไม่เห็นน้ำอย่าเพิ่งตัดกระบอก ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญอย่าเพิ่งวิ่งกัน ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าอาจมีทหารเข้ามาช่วยนั้นตนไม่ทราบ ก็อาจจะมีบ้าง แต่ที่เข้ามาเพื่อช่วยเป็นกมธ.ซึ่งตนเห็นว่าทั้งผบ.สส. ผบ.ทบ.แทบจะไม่เคยขาดประชุมกมธ.เลย จึงเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประสบการณ์ที่มีอาจช่วยอะไรก็ได้ ในจำนวน 30 คน จะตั้งใครก็ได้โดยเป็นอำนาจของคสช. ดังนั้นต้องวิ่ง หรือเดิน หรือคลานไป ให้ถูกช่อง

Advertisement

เมื่อถามกรณีที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เสนอให้กรธ.สามารถเสนอชื่อส.ว. รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เคยได้ยิน แต่คงไม่ใช่ เมื่อถามย้ำกรณีที่วิป 3 ฝ่าย ทำหนังสือถึงกรธ.เพื่อให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่รู้ เรื่องนี้ในครม.และคสช.ไม่เคยพูดกันมาก่อน และนายกฯก็พูดว่าไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นคนเสนอ และนึกไม่ออกว่าทำไมสังคมจะต้องสนใจว่าใครเสนอ และจะมีความแตกต่างอย่างไรถ้าใครจะเสนอ คิดว่าถ้าส.ว.ไม่เสนอแล้วส.ส.จะไม่เสนอหรืออย่างไร ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอะไร จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนจะเป็นนายกฯไม่มีส.ส.เสนอชื่อให้สักคนแล้วเอาส.ว.มาเสนอ เรื่องนี้ใครจะเสนอก็ได้ จะล็อกเฉพาะส.ส.ก็ยังไปได้ แต่ไม่ใช่ล็อกเพราะรู้ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ต่อข้อถามว่าหากส.ส.ไปเสนอคนนอกเข้ามา ทั้งที่ในพรรคมีอยู่แล้ว รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องไว้ใจพรรค ไม่เช่นนั้นพรรคจะเสนอชื่อทำไม และในโลกนี้มีหลายประเทศที่มีธรรมเนียมเลือกคนในพรรคหรือหัวหน้าพรรค แต่ก็มีบางประเทศที่เป็นมารดาของประชาธิปไตย ยังเคยเกิดกรณีจำเป็นที่ต้องเสนอคนนอก ส่วนข้อสังเกตทางเลือกพรรคที่สามนั้นไม่ขอตอบ เพราะจะทำให้เกิดจินตนาการไปอีก

“สมัยหนึ่งเราพูดถึงคนในและนอกพรรค แต่วันนี้คนนอกและคนในหมายถึงคนในและนอกตะกร้า และต้องมีการประกาศชื่อให้รับทราบทั่วกันล่วงหน้า 5 เดือน หากประชาชนยังเลือกพรรคดังกล่าวแสดงว่ายอมรับ แต่ถ้าปรากฏว่าเขาได้ส.ส.ไม่ถึง 25 คน หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ชื่อก็ต้องทิ้งทั้งหมด เช่น พรรคตนเสนอชื่อคนนอกเข้ามาแล้วได้รับเลือกส.ส. 23คน ชื่อที่มีก็ต้องทิ้ง แต่ทั้ง 23 คนต้องไปโหวตบัญชีของพรรคอื่นได้ ส่วนที่ใครมีสิทธิที่จะเสนอชื่อนั้นไม่เคยพูดเป็นมติ และนายกฯพูดชัดเจนว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ครม.และคสช.สนใจ แต่เราสนใจว่าเราได้พูดอะไรกันมาในเรื่องนี้ และประโยคที่สำคัญที่นายกฯพูดคือว่า “ทำไมถึงไม่คิดว่าต้องมาอย่างสง่างาม” นายวิษณุกล่าว

“เมื่อวานที่นายกฯแถลงครม.มีประโยคหนึ่งสำคัญที่สุดคือทำไมพวกคุณไม่คิดว่านายกฯคนต่อไปต้องมาอย่างสง่างาม ประโยคสำคัญที่สุด” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามหากต้องมีนายกฯคนนอกกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2535 ที่พล.อ.สุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ทราบและไม่ตอบ เพราะวันนั้นยังไม่มาถึง เคยฟังที่พระพุทธเจ้าเคยสอนหรือไม่ว่านับปะติก เข อนาคตังอย่ากังวลในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image