“ปริญญา” วิจารณ์ร่าง รธน. ชี้เป้า “ฉบับมีชัย” ต้องแก้ไข

หมายเหตุ – นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการจัดกิจกรรม “ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์” ที่ ร้าน Dialogue Coffee & Gallery เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไป คือ ฉบับปี 2550 รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ ส.ส. และ ส.ว. และกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบเเบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ บัตรเลือกตั้งจะเหลือเพียงใบเดียว แบบบัญชีรายชื่อหายไป โดยให้เอาคะแนนเเบ่งเขตมาคิดจำนวน ส.ส.

ระบบเลือกตั้งแบบนายมีชัย ทำให้พรรคใหญ่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.น้อยลง พรรคขนาดกลางและเล็กจะได้จำนวนที่นั่งมากขึ้น ทำให้เกิดรัฐบาลแบบผสมที่พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ซึ่งคำถามคือว่าแบบใดดีที่สุด และโรดแมปก็ไม่ควรยืดออกไปอีก รัฐธรรมนูญควรผ่านประชามติ แต่ไม่ใช่แบบฉบับที่ผ่านมา คือรับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไข ถ้าจะให้ผ่านก็ควรแก้ไขอะไรที่ควรแก้ เพื่อให้ผ่านไปได้ ไม่ยืดโรดแมปออกไปอีก

ส่วนตัวเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้งควรมีใบเดียว เพื่อให้ไม่มีปัญหาการใช้สิทธิที่ไม่เท่ากัน เพราะผลของการใช้สิทธิควรได้เท่ากัน ที่ผ่านมามีปัญหาผลการใช้สิทธิออกมาไม่เท่ากัน

Advertisement

ระบบเลือกตั้งแบบนายมีชัย พรรคใหญ่ไม่ชอบเพราะได้ที่นั่งน้อยลง พรรคขนาดกลางชอบเพราะได้ที่นั่งมากขึ้น และจะทำให้พรรคขนาดเล็กต้องส่งผู้สมัครลงเขตให้มากที่สุด เพื่อจะได้คะแนนเสียงให้มากที่สุด ทำให้มีผู้สมัครที่ลงสมัครโดยไม่หวังชนะเลือกตั้ง แต่จำเป็นต้องลงเพื่อไปรับคะแนนแบบแบ่งเขต ให้นำมาคิดสัดส่วนที่นั่ง แต่ก็ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้น

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย จะทำให้ต่อไปประชาชนจะไม่สามารถแยกเลือกได้แบบเดิม คือ ในเการเลือกตั้งแบบขตอยากเลือกคนนี้ แต่นโยบายอยากเลือกอีกพรรคหนึ่ง สิทธิตรงนี้ของประชาชนถูกตัดไป และนี่คือจุดอ่อนของฉบับนายมีชัย เพราะประชาชนจะไม่ชอบแน่นอน ในโลกนี้มีรัฐเดียวในเยอรมนี คือ “บาเดิน เวอร์ทแทมเบิร์ก” ที่ใช้ระบบแบบร่างของนายมีชัย มีใช้รัฐอยู่เดียวเพราะมันมีปัญหา

เมื่อเปรียบเทียบกัน ทำให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแนวทางของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณดีกว่านายมีชัย เพราะระบบเลือกตั้งแบบนี้จะเป็นจุดอ่อนให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติมากที่สุด อาจมีการมองว่าให้ประชามติผ่านจะได้เลือกตั้งเร็ว แต่ถ้ารับไปแล้วไม่ได้กลับไปสู่ประชาธิปไตยก็จะมีปัญหาอีก ปัญหาคือเราเคยมีสิทธิ แล้วคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่คืนตรงนี้ให้ จุดอ่อนจะมาก ระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด คือประชาชน เลือกอย่างไรก็ให้สะท้อนเสียงของประชาชนมากที่สุด ขอย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ดีกว่าของนายมีชัยมาก

Advertisement

ในด้านอำนาจ ส.ว.เห็นว่ามีน้อยลง และเหตุนี้อาจทำให้ที่มาในการยึดโยงกับประชาชนจึงน้อยลง เนื่องจากถูกตัดอำนาจการถอดถอนนักการเมืองออกไป พัฒนาการของ ส.ว.ทั่วโลก คือจากแต่งตั้งไปเป็นเลือกตั้ง แต่ของไทยสวนทาง แม้ในร่างของนายมีชัยจะบอกว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม แต่ตัวการเลือกตั้งทางอ้อมจริงๆ อย่างเช่น การเลือกนายกฯในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือ เลือกผู้แทนโดยตรง และผู้แทนไปเลือกนายกฯอีกครั้ง ขณะที่การได้มาซึ่ง ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่าเลือกตั้งทางอ้อมที่ว่าเป็นอย่างไง ควรจะมีบัญญัติให้ชัดเจน แต่เขียนเพียงให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา แต่คำถามคือเป็นการเลือกตั้งแบบไหน ถ้าเขียนแบบนี้ ควรเรียกว่า “การสรรหาแบบมีส่วนร่วม”

เพราะฉะนั้นต้องให้เป็นทางอ้อมจริงๆ อย่างการเลือกนายกฯ คือมีความยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ใช้วิธีการซับซ้อนหลายชั้นเกินไป หรือเอาแบบปี 2550 มาใช้ก็ยังดี คือมีแบบสรรหาครึ่งหนึ่ง เพราะประชาชนยังมีสิทธิได้เลือกตั้ง ส.ว.จังหวัดละหนึ่งคนโดยตรง หรือจะเอาแบบไม่ให้มี ส.ว.เลยก็ได้ เพราะถ้าไปดูในหลายประเทศก็จะพบว่าไม่มี ส.ว. แล้ว

ปริญญา เท​วา​นฤมิต​ร​กุล

ด้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 207 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย เป็นการนำมาตรา 7 มาให้ศาลใช้ ปัญหาของมาตรา 7 เป็นมาตราครอบจักรวาล เเละก่อให้เกิดปัญหาการตีความ และคำถามสำคัญคือ ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เขียนไว้คืออะไร

ด้านองค์กรอิสระ ในร่างนี้ข้อที่กังวลใจ คือผู้ให้ความเห็นชอบในการสรรหาผู้มาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ คือ ส.ว.ซึ่งที่มายังคลุมเครือ จึงมีความน่าเป็นห่วง ถ้าที่มาของผู้ใช้อำนาจไม่ยึดโยงประชาชน จะมีปัญหาอย่างมาก ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือดึงเอาศาลมายุ่งกับเรื่องการเมือง และฉบับปี 2540 มีปัญหาการเมืองไปแแทรกแซงในกระบวนการสรรหา ฉบับปี 2550 จึงเอาคนที่เป็นกลาง คือศาลเข้ามาสรรหา

ขณะที่องค์กรอิสระเป็นผู้ใช้อำนาจในทางการเมืองด้วย ฉะนั้นการให้กรรมการตัดสินมาเลือกนักฟุตบอลหรือผู้เล่นด้วยจึงมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อองค์กรอิสระต้องขึ้นศาลจึงมีความย้อนแย้งกัน ควรที่จะทำอย่างไรให้ศาลได้รับการยอมรับมากขึ้น คือให้ศาลทำหน้าที่ศาลอย่างเดียว ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับกระบวนสรรหา

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย กำหนดการสรรหาให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการสรรหาองค์อิสระอีก เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เอาประธานศาลฎีกามาเป็นประธานสรรหา และมีองค์กรอิสระมาเลือกด้วย จึงเป็นการนำองค์กรอิสระมาเลือกองค์กรอิสระด้วยกัน ซึ่งเป็นกระบวนการสรรหาที่ประหลาดมาก การให้ศาลมาสรรหาต้องเลิก เพื่อให้ศาลกลับมาได้รับความน่าเชื่อถือกับผู้เล่นมากที่สุด

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศว่า ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนเต็มที่ แต่กลับเขียนในบทบัญญัติว่า “ตราบใดที่การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ไม่กระทบต่อความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยต่อรัฐ” คำถามคือ ใครจะเป็นผู้ตีความว่าการกระทำแบบไหนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การวิจารณ์รัฐบาลและ คสช. ถือว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ โดยปกติรัฐธรรมนูญทั่วไป ถ้าไม่ใช่รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะไม่เคยเขียนข้อความเงื่อนไขลักษณะนี้ และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพถูกลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับ รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 เช่น มาตรา 26 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดช่องให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนได้

ถ้าดูตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นว่าการเลือกตั้งจะมีได้ต้องรอให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งตามขั้นตอนต้องให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 8 เดือน เมื่อเขียนเสร็จต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกภายใน 60 วัน และเมื่อ สนช. เห็นชอบก็ต้องส่งให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พิจารณาภายใน 10 วัน นับจากวันที่ได้รับร่าง ทำให้การเลือกตั้งตามโรดแมปหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คือปลายปี 2560 และ มาตรา275 ในร่างของนายมีชัย ยังให้อำนาจ คสช. อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องดี

เมื่อวิเคราะห์หากร่างของนายมีชัยไม่ผ่านประชามติ มี 3 ทางเลือก คือ 1.เริ่มร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ 2.หยิบฉบับหนึ่งฉบับใดมาประกาศใช้ และ 3.ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาแก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้ ทางเลือกที่ดีที่สุด คือควรบอกกับประชาชนก่อนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.จะเลือกทางไหน เพราะประชาชนควรรับรู้ว่า หากไม่เลือกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าประชาชนไม่ได้รับรู้ก็เข้าข่ายมัดมือชกประชาชน

เมื่อประชาธิปไตยมีปัญหาก็ควรแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ใช้วิธีการอื่น หากจะต้องมีการห้ามทัพชั่วคราวเพื่อไม่ให้คนตีกัน ก็ควรจะเป็นการชั่วคราว แต่ตอนนี้มีแนวโน้มจะยาวนานขึ้น และเมื่อกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง ก็ได้รัฐธรรมนูญที่แย่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2550

วันนี้ไม่ได้พูดเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติ แต่พูดเพื่อให้ได้แก้ไข เพื่อที่จะได้ผ่านประชามติ ในฐานะที่เป็นนักศึกษาช่วงปี 2534 ซึ่งนายมีชัยเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในช่วงปี 2535 จึงหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นซ้ำรอยอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image