ไม่เลิกรถไฟไทย-จีน ยันไฮสปีดเทรนทางเดี่ยวไม่แปลก ลาวทำแล้ว-แค่จัดเวลาดีๆ

วานนี้ (4 ก.พ.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ที่กระทรวงคมนาคม ว่าประเด็นหลักที่มีการหารือเป็นเรื่องเส้นทางรถไฟเศรษฐกิจด้านใต้ จากกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง ซึ่งญี่ปุ่นอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาพิจารณาในรายละเอียด ขณะนี้ได้เริ่มสำรวจสภาพเส้นทางแล้ว โดยเส้นทางนี้เป็นรางที่ใช้อยู่แล้ว ขนาด 1 เมตร เพียงแต่จะดูว่าจะต้องปรับปรุงอะไร และอนาคตจะต้องทำเป็นรถไฟทางคู่ จากปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว เพื่อต่อเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่าด้วย ทั้งหมดจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี หรือทั้งปีนี้จึงจะแล้วเสร็จ

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างกำหนดรูปแบบ และต้องลงรายละเอียดเรื่องของความเหมาะสม ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีการหารือ เพราะบางส่วนทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน โดยเฉพาะช่วงบ้านภาชี-บางซื่อ จะมีประเด็นหารือ คือ 1.จะต้องแยกรางเดินรถ เพราะเป็นคนละเทคโนโลยี 2.เมื่อแยกแล้วการใช้พื้นที่ก็จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและ จราจร (สนข.) ไปพิจารณาว่ารถไฟ จากสถานีบ้านภาชี-ดอนเมือง พื้นที่ใดต้องแบ่งปันกัน เพราะบางที่อาจต้องแบ่งใช้พื้นที่ หรือจัดหาพื้นที่ดินเพิ่มเติม 3.ส่วนตั้งแต่รังสิต-บางซื่อ พอผ่านดอนเมืองพื้นที่จำกัดมากๆ ก็ต้องพิจารณาว่า เมื่อแยกรางแล้วจะมีที่เพียงพอหรือไม่

นายอาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยืนยันจะเดินหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมาหนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ตามกระบวนการและแผนงานที่กำหนด ซึ่งการเดินทางไปที่จีนเมื่อวันที่ 28-29 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่า โครงการนี้ไม่เป็นไปตามข่าวลือที่ถูกปล่อยออกมาว่า กระทรวงการคลังจะไม่เดินหน้าโครงการต่อไป เพราะได้ถามกระทรวงการคลังแล้วก็บอกว่าไม่ได้พูด

นายอาคมกล่าวว่า ในช่วงที่รองนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางมาไทยได้หารือในเรื่องนี้ด้วย แต่ด้วยต้นทุนที่จีนเสนอมาค่อนข้างสูง ทางไทยจึงต้องการให้จีนร่วมลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันว่าความต้องการใช้บริการช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด อาจจะยังไม่เพียงพอในขณะนี้ จึงอาจจะต้องชะลอก่อสร้างไปก่อน แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการ โดยกำหนดไว้เป็นระยะที่ 2 โดยการชะลอช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด จะทำให้ต้นทุนดำเนินการลดลงแน่นอน แต่ยังตอบชัดเจนไม่ได้ต้องรอสรุปอีกครั้ง โดยต้นทุนอาจจะหายไปประมาณ 1.6 แสนล้านบาท จากวงเงินโครงการที่อยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาท

Advertisement

นายอาคมกล่าวว่า เมื่อยังไม่มีช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ทางจีนได้เสนอให้สร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นทางเดี่ยว จากเดิมกำหนดเป็นทางคู่เพื่อให้รถวิ่งสวนทางกันได้ ซึ่งถือว่าไม่แปลก เพราะส่วนที่เป็นรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในลาวก็เป็นทางเดี่ยว เพราะฉะนั้นผู้โดยสารจะไม่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ เพราะรถไฟที่วิ่งจากจีนเข้าเวียงจันทน์สามารถมาถึงกรุงเทพฯได้เลย รถของไทยจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นทางคู่ก็วิ่งสวนทางกันได้ปกติ ทั้งนี้ทางจีนจะจัดทำรายละเอียดนำเสนอให้ไทยพิจารณา อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำเป็นทางเดี่ยวจะมีปัญหาเหมือนทางรถไฟปัจจุบันที่เป็นทางเดี่ยวแล้วเกิดปัญหาคอขวดจนต้องทำทางคู่หรือไม่ นายอาคมกล่าวว่า รถไฟไทย-จีนไม่ได้ให้รถไฟธรรมดาขึ้นไปวิ่งด้วย ความถี่ก็ไม่ใช่ทุก 5 นาที เมื่อวิ่งสวนกันไม่ได้ก็ต้องจัดเวลาให้ดี หากในอนาคตความต้องการเพิ่มมากขึ้นค่อยทำอีกทาง โดยเรื่องทั้งหมดนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image