ด่วน! ศาลฎีกาจำคุก1ปี “หมอเลี้ยบ”ไม่รอลงอาญา คดีแก้ไขสัญญาเอื้อชินคอร์ป

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์

วันนี้จำเลยทั้งสามเดินทางมาศาล โดยมีครอบครัวและผู้ใกล้ชิดมาให้กำลังใจ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวก่อนเข้าพิจารณาว่า ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลในส่วนของคดี ส่วนกรณีที่ที่ก่อนหน้านี้ ตนได้ถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุก1ปีและปรับ20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ โดยรอลงอาญา1ปี ในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้กระทำการแทรกแซงเสนอชื่อ3อดีตผู้บริหาร ธ.ทหารไทย–กรุงไทย เป็น กรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะส่งผลตีอคดีนี้หรือไม่ จะต้องรอผลการตัดสินของศาลเสียก่อน

กระทั่งเวลา 14.00 น. ศาลฎีกาตรวจสำนวนและปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า องค์คณะทั้ง 9 มีเสียงเอกฉันท์ เห็นว่านพ.สุรพงษ์มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ทำให้รัฐเสียหายจากกรณีที่อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม โดยให้บริษัทชิน แซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยจาก 51% ให้เหลือ 40 % ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำเสนอต่อครม.ตามขั้นตอน แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ส่งหนังสือหารือถึงอัยการสูงสุด แต่ก็ปกปิดความจริงที่เลขาธิการครม.ปฏิเสธการรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เนื่องจากนายทักษิณชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นคู่สัญญา ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน การกระทำของจำเลยไม่ได้ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

Advertisement

ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 2-3 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้พิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2 หมื่นบาท การกรณีที่จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้จัดทำข้อมูลวิเคราะห์ผลการเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวว่ามีผลกระทบต่อรัฐอย่างไร ทั้งที่จำเลยทั้งสองเคยปฏิบัติหน้าที่ด้านการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม และกรมไปรษณีย์โทรเลข ย่อมทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจในการแก้ไขหรืออนุมัติสัญญาดังกล่าว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 5 ปี

ต่อมาเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว นพ.สุรพงษ์ ขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รับโทษตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image