ก.อุตฯทำแผนงานปี 60ส่ง”สมคิด” เสนอตั้งสำนักงานใหม่ดูแล 5 กลุ่มขับเคลื่อน 10 อุตเป้าหมาย

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัต กรรมและมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม(สปริงบอร์ด) ว่า ที่ประชุมหารือถึงแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องเร่งรัดในปีงบ ประมาณ 2560 โดยหลังจากนี้จะนำแผนดังกล่าวไปกำหนดรายละเอียดเพื่อเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสปริงบอร์ดในเดือนกันยายน 2559 จากนั้นจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยเรื่องหลักจะเป็นการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีการตั้งกรรมการ 5 กลุ่ม ขึ้นมาดูแล 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร ที่จะดูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ 2.กลุ่ม โลจิสติกส์และการขนส่ง จะดูแลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และรถยนต์แห่งอนาคต 3.กลุ่มไอทีดิจิตอล จะดูอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิตอล 4.กลุ่มแปรรูปอาหาร จะดูอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อาหารเจาะกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ อาหารเพื่อสุขภาพ และ5.กลุ่มครีเอทีฟ จะดูแลอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมด และสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยรูปแบบดำเนินงานยังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ การตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ เพื่อบริหารงานทั้ง 5 กลุ่มนี้ ซึ่งสำนักงานนี้จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอาจจะให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นเลขาธิการดูแลสำนักงานนี้ อีกแนวทางคือ ตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาที่จะมีการทำงานอิสระแบบสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล

นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ในแผนงาน 1 ปี กระทรวงจะกำหนดแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)ให้มีความเชื่อมโยงกับรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน และสร้างกลุ่มซัพพลายเชนที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รองรับการผลิตรถยนต์ทั้งสองประเภทนี้ เพี่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน และผลักดันให้มีการใช้งานรถยนต์อีวีได้จริง ขณะเดียวกันจะเพิ่มบทบาทการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่ต้องวางรากฐานการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปี หลังจากนี้ และกำหนดแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารโดยต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่มแทนการผลิตจำนวนมาก ปรับปรุงการวิจัยและพัฒนา ซึ่งกระทรวงจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มจีดีพีอุตสาหกรรมอาหาร และการวางแผนการทำงานร่วมกันมหาวิทยาลัยและหน่วยงานเอกชนมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนดลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image