4 ทศวรรษ อุทยานฯสุโขทัย ก้าวที่กล้า องศาที่พลาด ประวัติศาสตร์ที่ต้องแก้ไข?

วัดมหาธาตุสุโขทัย ก่อนการบูรณะ

ดูเหมือนจู่ๆ ก็กลายเป็นข่าวดัง หลังมีการเผยแพร่บทความของเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเปิดเผยหลักฐานว่าเมืองศรีสัชนาลัยเก่ากว่าสุโขทัย ต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ ได้ออกมายืนยันว่า ราชธานีเพิ่งเกิดขึ้นสมัยอยุธยา ยุคพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่ใช่สมัยสุโขทัย แต่สังคมไทยถูกปลูกฝังด้วยวาทกรรม “สุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของไทย” ซึ่งไม่เป็นความจริง กลายเป็นที่ถกเถียงสนั่นโลกโซเชียล กระทั่งนิตยา กนกมงคล ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ออกมายืนยันว่า ประโยค “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก” ไม่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์อีกแล้ว แต่คนทั่วไปยังจดจำตามตำราเรียนยุคเก่า สร้างเสียงครางฮือให้เหล่าชาวสยามที่ฝังใจกับวาทกรรมดังกล่าวกันยกใหญ่

จริงๆ แล้ว กระแสนี้ใช่ว่าไม่มีที่มาที่ไป หากแต่เกิดขึ้นในช่วงครบรอบ 4 ทศวรรษ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งมีการจัดเสวนาใหญ่ไปเมื่อวันที่ 16-17 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น ยังครบ 25 ปีที่ยูเนสโกประกาศให้เป็น “มรดกโลก” แบบยกเซตสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกัน

เสวนา "4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย"
เสวนา “4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย”

มาลองย้อนดูเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของที่นี่ ว่าเกิดอะไรในรอบ 40 ปี รวมถึงวันพรุ่งนี้ จะเป็นเช่นไร

จากป่าเจดีย์ สู่อุทยานประวัติศาสตร์

ความรับรู้ในการมีอยู่ของซากสถูปสถานในสุโขทัยรวมถึงศรีสัชนาลัยและพื้นที่ใกล้ เคียง มีมานานไม่น้อยกว่าสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเคยเสด็จไปยังเมืองเก่าสุโขทัยขณะทรงผนวช หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงถ่ายภาพโบราณสถานต่างๆ อีกทั้งมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง”

Advertisement

ต่อมา มีประกาศคุ้มครองครั้งแรกในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2504 แล้วได้รับอนุมัติโครงการฟื้นฟูโบราณสถานต่างๆ ใน พ.ศ.2519 ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2531 อีกเพียง 3 ปีถัดมา ยูเนสโกประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยาน ประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัย

นับแต่นั้นมา ก็มีการอนุรักษ์เรื่อยมา รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านโบราณคดี มีการโปรโมตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งยังกลายเป็นภาพแทน “ความเป็นไทย” ในอุดมคติ ซึ่งต่อมาดูคล้ายจะกลายเป็นอุปสรรคในการคัดค้านข้อมูลหรือ “ความเชื่อ” เก่า ที่กลายเป็นภาพจำฝังแน่นในใจว่า “สุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย”

บรรยากาศการสำรวจเมืองโบราณในลุ่มน้ำยมเมื่อราว 50 ปีก่อน เช่น กำแพงเพชร ศรีสัชนาลัย และสุโขทัย ซึ่งต่อมาได้เป็นมรดกโลกร่วมกัน ขุนเดช (แถวหลังคนแรกจากขวา) มีผู้ระบุว่าได้ภาพจากนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร
บรรยากาศการสำรวจศรีสัชนาลัย สุโขทัยและกำแพงเพชร ซึ่งต่อมาได้เป็นมรดกโลกร่วมกัน
มี จิระเดช ไวยโกสิทธิ์  (แถวหลังคนแรกจากขวา) ซึ่งถูกนำไปเป็นตัวละครในเรื่องสั้นชุด “ขุนเดช” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ  ภาพจากปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร
คุ้งแม่น้ำยมที่ตั้ง "เมืองเชลียง" ซึ่งมีความเป็นมาก่อนเมืองสุโขทัย (ภาพจากบทความของ เอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร)
คุ้งแม่น้ำยมที่ตั้ง “เมืองเชลียง” ซึ่งมีความเป็นมาก่อนเมืองสุโขทัย (ภาพจากบทความของ เอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร)

ประวัติศาสตร์รอแก้ แค่ “ประกาศ” ?

แม้ว่าข้อมูลใหม่ๆ จากการขุดค้นทางโบราณคดี จะชี้ชัดว่าพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำยม มีชุมชนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองหลายแห่ง มีทั้งเก่ากว่าและร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยที่ไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้าอย่างโดดๆ แต่การเปลี่ยนแปลงความหลังที่ฝังแน่นในความรู้สึกของคน ไม่ใช่เรื่องง่าย

Advertisement

ย้อนกลับไป เมื่อ พ.ศ.2526 สุจิตต์ วงษ์เทศ ออกหนังสือชื่อ “สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” เนื่องในโอกาสฉลอง 700 ปีลายสือไทย แม้ยุคนี้จะกลายเป็นหนังสือขึ้นหิ้งในร้านขายหนังสือเก่า แต่ในยุคนั้นไม่อาจส่งผลต่อวาทกรรมที่อยู่ตรงข้ามกัน ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป หลักฐานมากมายค่อยๆ ปรากฏมากขึ้นทุกทีจนยากปฏิเสธ นักวิชาการหลายรายมีความเห็นในทำนองเดียวกัน

กระทั่งล่าสุด “หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย” ในยุค คสช.ที่เรียบเรียงโดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2558 ก็ส่อการยกเลิกแนวคิดดังกล่าวอยู่ในที เมื่อมีการกล่าวถึงสุโขทัยโดยระบุว่าเป็น “อาณาจักรแรกๆ” แทน “ราชธานีแห่งแรก” เหมือนในอดีต ซึ่งความเห็นในโลกออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่ระบุว่า ขอให้ประกาศอย่างชัดเจนเป็นทางการ ไม่เช่นนั้นย่อมเกิดปัญหาในการเรียนการสอน และการเฉลยข้อสอบ ซึ่งหากไม่ตรงกัน ปัญหานี้ก็จะวนซ้ำมาที่เก่า คือต้องยึดเอาข้อมูลเดิมๆ มาสอนเด็กเพื่อตัดปัญหา

นี่คือเสียงเรียกร้องถึงความกล้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

สุโขทัยไม่ใช่ราชธนร01

ทว่า สถาพร เที่ยงธรรม ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มองต่างออกไป โดยห่วงว่าถ้าประกาศอาจ “ไม่ถูกกาลเทศะ”

“มุม มองนักวิชาการซึ่งศึกษาเจาะลึกก็ถกเถียงกันว่าตกลงกลุ่มก้อนที่มารวมกัน แล้วเรียกว่าไทย คืออะไร และไม่ได้หมายความว่ามีโผล่ขึ้นมาเฉพาะสุโขทัย แต่มีเมืองอื่นๆ ที่เกิดก่อน เช่น เมืองเชลียง ดังนั้น ทำไมต้องเริ่มต้นที่สุโขทัย แต่ประชาชนเข้าใจแบบนั้น และฝังหัวว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นต้องไปแย้ง ถ้าประกาศว่าไม่ใช่ อาจไม่ถูกกาลเทศะ”

อย่างไรก็ตาม น่าตั้งคำถามว่ากาลเทศะสำคัญกว่าการให้ความรู้แก่สังคมหรือไม่

อนาคตของอดีต

มา ถึงส่วนของการอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานในอุทยานฯกันบ้าง ประเด็นนี้ สถาพรเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบล่าสุด พบการเสื่อมสภาพของปูนปั้นหลายจุด อาทิ บริเวณเจดีย์วัดพระพายหลวง รวมถึงพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างพระอัฏฐารสอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางอุทยานฯมีงบประมาณของปี 2560 สำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์โดยเน้นให้คงสภาพดังเดิม

สำหรับด้านการเยี่ยม ชมอุทยานฯ ผอ.มองว่า ไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยเน้นแนวสุขภาพ จึงมีแผน “อุทยานประวัติศาสตร์สีเขียว” เหมือนที่อุทยานฯศรีสัชนาลัยเดินหน้าทำไปก่อนแล้ว คือไม่อนุญาตให้รถยนต์เข้า แต่ต้องเดินเท้า ขี่จักรยาน หรือโดยสารรถราง ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดให้เอกชนประมูล

“พยายามหากิจกรรมรองรับให้คน สามารถใช้เวลาอยู่ที่นี่ให้นานขึ้น ส่วนหนึ่งมีโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สีเขียว ไม่ให้นำรถยนต์เข้า ให้เดิน ขี่จักรยาน หรือนั่งรถราง ซึ่งนอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการได้เข้ามาคุยกับอุทยานฯเรื่องการส่งเสริมการ ท่องเที่ยวเพิ่มเติม เช่น น่าจะมีการนำชมยามค่ำคืน และในวันที่ 10-12 ธันวาคมที่จะถึงนี้ก็จะมีสัมมนาประวัติศาสตร์ รวมทั้งการแสดงเฉลิมฉลอง 25 ปี มรดกโลกด้วย”

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีเนื้อที่ 1,600 ไร่ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว "คุณภาพ" เยี่ยมชมมากมาย (ภาพจากเฟซบุ๊กอุทยานฯ)
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีเนื้อที่ 1,600 ไร่ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว “คุณภาพ” เยี่ยมชมมากมาย (ภาพจากเฟซบุ๊กอุทยานฯ)

เพลาอีเวนต์ เน้นข้อมูล

อีกมุมมองที่หลายคนห่วงใย คือ มหรสพแสงสีเสียงที่อยู่คู่เคียงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยตลอดมา ไหนจะงานปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง และอีกสารพัดอีเวนต์

ประเด็นนี้ ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า ควร “เพลาๆ” ลงบ้าง

“เข้าใจดีเรื่องจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งคนท้องถิ่นภาคภูมิใจ แต่อยากให้มองอีกมุมว่ากระแสโลว์คาร์บอนกำลังมา แทนที่จะยิงพลุเยอะๆ ลองปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อื่นข้างเคียงได้ไหม เพราะจะสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานได้ ต้องฝากชาวสุโขทัย และผู้รับผิดชอบ”

พลุสุดขทัย

ธนกฤตยังบอกอีกว่า อุทยานฯสุโขทัยไม่ได้อยู่ในเส้นทางหลัก ต้องตั้งใจไปจริงๆ เท่าที่สังเกตดูนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชม เป็นกลุ่มที่ต้องการความรู้ ไม่ว่าจะมาแนวแบ๊กแพคหรือกรุ๊ปทัวร์ กรณีต่างชาติมักเป็นชาวยุโรปหรือญี่ปุ่น จึงอยากฝากเรื่องการให้ข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องดีที่มีการแสดง “รูปแบบสันนิษฐาน” ที่มาจากผลงาน ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าในอดีตซากสถูปเจดีย์ตรงหน้าคาดว่ามี หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ขอให้อย่าลืมการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ในการให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น “ออดิโอไกด์” และอื่นๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยประเด็น “ความปลอดภัย” ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้มีแค่อดีตที่ผ่านพ้น แต่ยังเป็น “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ของผู้คนที่ยังมีลมหายใจ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ไม่มีประโยค "สุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย"แล้ว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ไม่มีประโยค “สุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย”แล้ว
ประวัติศาสตร์ชาติไทย
“หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย” ในยุค คสช.ที่เรียบเรียงโดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2558 ใช้คำว่า “อาณาจักรแรกๆ” แทน ราชธานีแห่งแรก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image