อ.สุเนตร เล่าเรื่อง “ขัตติยนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา”(คลิป)

สุเนตร

เสวนา- สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนาหัวข้อ “ขัตติยนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ฯ มี นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ดำเนินการเสวนา ที่มติชน อคาเดมี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนาหัวข้อ “ขัตติยนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา” ที่อาคารมติชนอคาเดมี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยมี รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมบรรยาย โดยมีประชาชนร่วมเข้าฟังจำนวนมาก

รศ.ดร.สุเนตรกล่าวว่า ขัตติยะ แปลว่า ผู้ถืออาวุธ ซึ่งวรรณะที่ถืออาวุธคือ วรรณะกษัตริย์ ขัตติยนารี จึงหมายถึงผู้หญิงที่เป็นกษัตริย์ ในที่นี้รวมถึงสตรีที่มีเชื้อสายกษัตริย์ในพระองค์ ไม่เพียงเฉพาะสตรีที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ แต่ต้องรวมถึงสตรีที่อาจเป็นพระญาติด้วย สตรีสูงศักดิ์ที่เป็นขัตติยนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยาคนแรกที่จะกล่าวถึงคือ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เพราะสัมพันธ์กับการผลัดแผ่นดินในสมัยอยุธยาถึง 3 รัชกาล มีเขียนในพงศาวดารพอสังเขป แต่ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเชิงชู้สาว การเป็นชู้นั้นสำคัญ เพราะถ้าดูพระอัยการลักษณะผัวเมีย ผู้หญิงที่เป็นชู้สังคมจะรับไม่ได้ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นคนที่มีอำนาจมาก แล้วฝ่ายตรงข้ามแต่จะดิสเครดิตอย่างไร ส่วนเป็นชู้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องดูว่ามีหลักฐานอื่นอีกไหมที่พูดถึง

Advertisement

“คำให้การชาวกรุงเก่าที่เป็นภาษาพม่า บอกว่าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นมเหสีตำหนักเหนือ 1 ใน 4 พระองค์ ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช คติพม่ามองว่าตำหนักใต้มีความสำคัญที่สุด แต่ตำหนักเหนือก็สำคัญไม่แพ้กัน ทำไมท้าวศรีสุดาจันทร์จึงให้ความสนับสนุนขุนวรวงศา พอขึ้นมาเป็นกษัตริย์แล้วหลักฐานพม่าบอกว่าสถาปนาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นอัครมเหสี สะท้อนว่ามีลักษณะต่างตอบแทน อันนี้หลักฐานของเราไม่พูดว่า มีความสำคัญแค่ไหน พอขุนวรวงศาขึ้นเป็นกษัตริย์ ด้วยเป็นกษัตริย์ต่างวงศ์ แสดงว่าการแย่งชิงอำนาจมันเป็นเรื่องทางการเมืองด้วย ไม่ใช่ชู้สาวปกติ” รศ.ดร.สุเนตรกล่าว และว่า ที่น่าสนใจคือพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ได้เขียนลำดับกษัตริย์อยุธยาโดยเขียนถึงอัครมเหสีที่ครองราชย์ก่อนพระเทียรราชา แสดงว่าในการรับรู้ของพม่านั้นสถานะของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เทียบเท่ากษัตริย์ เป็นการมองคนละมุมกับเรื่องที่เราเคยเข้าใจ

รศ.ดร.สุเนตรกล่าวอีกว่า ขัตติยนารีในราชสำนักอยุธยาคนอื่น เช่น สมเด็จพระสุริโยทัย, พระบรมดิลก พระราชธิดาพระองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย, พระสุพรรณกัลยา, พระวิสุทธิกษัตรีย์, สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทั้งนี้ ขัตติยนารีแต่ละพระองค์จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ขัตติยนารีแต่ละคนไม่เหมือนกันเพราะมีเงื่อนไขแตกต่างกัน สถานการณ์ที่ผลักให้เธอขึ้นมาโดดเด่นนั้นแตกต่างกัน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image