อีก 10 วันต่อมา โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

หลังเหตุการณ์ระเบิด 17 จุด ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนผ่านไป 2 สัปดาห์ ความรุนแรงก็ย้อนกลับมาปะทุขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้อีก ด้วยคาร์บอมบ์ที่ใช้ระเบิดถึง 100 กิโลกรัม ถล่มโรงแรมขนาดใหญ่ในปัตตานีจนราบเป็นหน้ากลอง

ปฏิบัติการด้วยคาร์บอมบ์แบบนี้ ในพื้นที่ไฟใต้เช่นนี้ ไม่ต้องไปโทษนักการเมือง หรือเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์ธุรกิจ

เพียงแต่ที่จะต้องขบคิดกันคือ ฝ่ายก่อความไม่สงบกำลังจะยกระดับความรุนแรงให้เพิ่มมากขึ้นหรืออย่างไร

แล้วปฏิบัติการใช้เครือข่ายกำลังคนมากกว่า 20-30 คน ลงมือทั่ว 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ซึ่งความคืบหน้าจากพยานหลักฐาน บ่งชี้มาที่แนวร่วมของกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้

Advertisement

2 เหตุร้ายแรงนี้ เชื่อมโยงกันหรือไม่ และบ่งบอกอะไร

อย่างแรก ต้องคิดถึงการกดดันการพูดคุยเจรจา ที่รัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้ปฏิเสธเลิกล้ม แต่เปลี่ยนรูปแบบและระดับการพูดคุย จนไม่มีใครได้รับรู้ว่า ยังดำเนินอยู่อย่างไรกันแน่

ประเด็นต่อมา กรณีที่ฝ่ายรัฐเอง ตั้งข้อสงสัยต่อระเบิด 7 จังหวัดใต้ตอนบนว่า เป็นการพุ่งเป้าไปยังพื้นที่ซึ่งลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเปอร์เซ็นต์ที่สูงลิ่ว

Advertisement

น่าจะสอดรับกับเสียงลงประชามติของคนใน 3 จังหวัดใต้ ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างหนักแน่นชัดเจนเช่นกัน

โดยมีการแสดงท่าทีไม่ยอมรับสาระของร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยและอย่างสันติ ผ่านเครือข่ายครูสอนศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งแถลงการณ์ทั้งยื่นจดหมายเปิดผนึก ชี้ถึงความไม่พึงพอใจใน 3 ด้าน คือ สิทธิด้านการนับถือศาสนา สิทธิด้านการศึกษา และสิทธิด้านสาธารณสุข

หลังผลการลงประชามติผ่านพ้นไป เครือข่ายองค์กรเหล่านี้ยังออกมาแถลงซ้ำอย่างเปิดเผยและสันติ ว่าเหตุที่เสียงใน 3 จังหวัดใต้ลงมติไม่รับเป็นส่วนใหญ่

ไม่ใช่เพราะมีการบิดเบือน แต่ได้ผ่านการศึกษารายละเอียดในมาตราที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 ด้านแล้ว จึงยืนยันไม่รับ

แต่การเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยและด้วยสันติวิธีของประชาชนและเครือข่ายเหล่านี้ ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่เป็นกลุ่มเลือกแนวทางรุนแรง

ถ้าระเบิดใน 7 จังหวัด ที่เริ่มมีร่องรอยมาจากทีมไฟใต้ ต้องไม่เอามาปะปนกับเครือข่ายที่เปิดเผยและยึดแนวสันติ

เพียงแต่น่าคิดว่า กลุ่มก่อความไม่สงบอาศัยกระแสเดียวกันนี้ นำมาสู่การเดินทางออกนอกเขตปกติหรือไม่

ที่น่าคิดต่อมาก็คือ อีก 10 วันหลังระเบิด 17 จุด ราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 22 สิงหาคม เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยŽ

โดยเป็นคำสั่งที่งัดอำนาจมาตรา 44 ออกมาแก้ไขสาระในร่างรัฐธรรมนูญประเด็นด้านสิทธิการนับถือศาสนา อย่างจริงจังและลงในรายละเอียดยาวเหยียดถึง 6 หัวข้อ

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่มีใครเขียนประเด็นศาสนาอันละเอียดอ่อน ให้เกิดข้อถกเถียงวุ่นวายดังในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้วยการบัญญัติในมาตรา 67 ตอนหนึ่งระบุว่า รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทŽ

จนหัวหน้า คสช.ต้องมาแก้ไขเพิ่มเติมให้คลุมถึง การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามแบบมหายาน ไม่ว่าจะเป็นจีนนิกาย อนัมนิกายหรืออื่นใดŽ

และ การอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาอื่น ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์Ž

แม้ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. จะเขียนเอาไว้ว่า เพราะมีบางฝ่ายบิดเบือนให้เกิดความขัดแย้งด้านศาสนาŽ

แต่ถ้าในเนื้อหาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ต้องมาเพิ่มเติมอะไรต่อมิอะไรจากที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญอีกมากมายยาวเหยียด

ต้องถามว่าปัญหาเกิดจากคนบิดเบือน หรือเกิดจากสาระในร่างรัฐธรรมนูญแนวอนุรักษนิยมขวาจัดกันแน่

แต่ก็ต้องชื่นชมคำสั่ง คสช.ที่น่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาลงไปได้มากโข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image