‘บิ๊กต๊อก’ เผย ‘ผู้พันตึ๋ง’ อาจถูกปรับเป็น ‘นักโทษชั้นเลว’ หลังผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ

“บิ๊กต๊อก” เผย “ผู้พันตึ๋ง” อาจถูกปรับเป็น “นักโทษชั้นเลว” หลังผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ พร้อมให้ความเป็นธรรม ร้องเรียนได้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 สิงหาคม ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีตำรวจกองปราบปรามเข้าจับกุมนายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง ผู้ต้องหาเด็ดขาดในคดีฆาตกรรมนายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผวจ.ยโสธร เมื่อปี 2544 เนื่องจากมีพฤติกรรมกระทำผิดเงื่อนไขของกรมคุมประพฤติระหว่างที่ได้รับการพักการลงโทษว่า ตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวจากนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีคนมาร้องเรียน ซึ่งเป็นไปตามที่ข่าวมีการเสนอไปแล้ว ตนจึงเสนอไปว่า เราต้องเรียกตัวนายเฉลิมชัยมาสอบสวน หากเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความจริงก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่เขา เพราะมันต้องเข้าคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์ โดยนำรายละเอียดจากกรมคุมประพฤติมาประกอบ เมื่อกรมราชทัณฑ์มีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง ทางกรมคุมประพฤติก็จะเป็นผู้ประเมินการคุมประพฤติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ที่ต้องสั่งอย่างนี้ เพราะทุกครั้งที่มีการพักโทษ สังคมจะคอยมองอยู่เสมอว่าคนที่ให้โอกาสทางสังคมมีความเหมาะสมและจะมีการกระทำผิดซ้ำหรือไม่ ตนเชื่อว่าสังคมเป็นคนให้โอกาสและเห็นด้วยกับวิธีการพักโทษ แต่สังคมก็ต้องมองว่าเรามีระบบการควบคุมและจัดการอย่างไรที่จะให้คนที่ได้รับการพักโทษไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม เมื่อกฎระเบียบของกรมคุมประพฤติมีอยู่ก็ต้องใช้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ตนได้ให้ไป ทั้งนี้ กรณีของนายเฉลิมชัย ตนทราบว่าคณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์ได้มีการพิจารณาแล้ว โดยพบว่ามีมูลจริง อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ โดยให้เสนอเรื่องมาว่าตรงไหนจริงหรือไม่จริงอย่างไร แต่ขณะเดียวกันทางกรมคุมประพฤติก็บอกว่ามีหลักฐานจากการร้องเรียน ซึ่งผู้ต้องขังรายนี้ได้ก่อปัญหาขึ้นมาซึ่งมันผิดระเบียบ ทั้งนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา

รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า กระทรวงพยายามปรับปรุงระบบการพักโทษและการคุมประพฤติ ซึ่ง พ.ร.บ.คุมประพฤติบางมาตราก็กำลังอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะมีรายละเอียดลักษณะนี้อยู่ เพราะเจอปัญหาเรื่องการไม่มารายงานตัวของผู้ถูกคุมประพฤติหลายหมื่นรายต่อปี จึงต้องปรับปรุงกฎหมายให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นที่ห่วงใยว่า เมื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่คุมประพฤติไปแล้วมันจะเกินเลยหรือไม่ ซึ่งสังคมก็เป็นห่วง เราจึงต้องปรับเรื่องการพักโทษและระบบคุมประพฤติให้สอดคล้องกัน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีผู้ต้องขังที่เข้าข่ายพักโทษ แต่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลมาก่อน มีเงื่อนไขในการพิจารณาพักการลงโทษหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า อย่างที่ตนเคยบอกไปว่าจะไม่ยอมให้ผู้ต้องขังที่เคยสร้างความเจ็บปวดให้กับสังคมได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น เราต้องพิจารณาเขามากกว่าคนอื่น ยิ่งเรื่องการพักโทษเป็นเรื่องของกระบวนการในกระทรวงยุติธรรมแล้วจะต้องเข้มงวด ส่วนพระราชทานอภัยโทษเราก็ต้องฟังสังคม อย่างการพระราชทานอภัยโทษในรอบนี้จะเห็นได้ชัดว่าเรากลั่นกรอง เพราะเราฟังเสียงของสังคมที่พูดกับเรามานานแล้ว ซึ่งต้องเข้าใจ และตนพยายามปรับแก้อยู่

เมื่อถามต่อว่า กรณีของนายเฉลิมชัยจะต้องกลับไปรับโทษที่เหลืออยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ใช่ กลับไปรับโทษที่เหลืออยู่ และถ้ามีพฤติกรรมจริงตามที่กรมคุมประพฤติได้ตรวจสอบแล้ว คณะกรรมการก็จะพิจารณาให้เป็นนักโทษชั้นเลว เพราะเขาให้โอกาสคุณแล้ว แต่คุณกลับไปสร้างบาดแผลให้กับสังคมอีก แล้วสิ่งที่เราให้ไปมันยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้ เขาก็ต้องกลับไปสู่การเริ่มต้นนับใหม่ ส่วนกรณีที่มีการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นเรื่องที่ตนได้รับรายงานจากกรมคุมประพฤติเหมือนกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีผู้ถูกคุมประพฤติที่ทำผิดเงื่อนไขหลายราย ซึ่งเราก็พยายามที่จะปรับเรื่องนี้อยู่

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการโต้แย้งเรื่องสิทธิที่ได้รับจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า หากโตแย้งสิทธิก็สามารถโต้แย้งได้ แต่สิทธิอันนั้นจะพึงปฏิบัติได้หรือไม่ ตรงนี้ต่างหาก ตนก็บอกแล้วว่าให้ความเป็นธรรมทุกเรื่อง ทางกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติก็ต้องแจงเขาไป อีกทั้งพฤติกรรมมันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหรือไม่ ก็ต้องดูหลายองค์ประกอบ อย่าเอาวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษมีผลบังคับใช้มาขีดเส้น เพราะมันมีองค์ประกอบเรื่องนี้อยู่พอสมควร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image