‘เช็กอินถิ่นสยาม’ ช่อง 7 สี ก้าวที่มุ่งมั่น ‘มติชนทีวี’

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต (ซำปอกง) วัดกัลยาณมิตร ในชุมชนกุฎีจีน

“มติชน” อาจจะเป็นความคุ้นเคยในฐานะ “หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ” และ “เครือมติชน” อาจจะเป็นที่รับรู้ว่าเป็นแหล่งรวมของ “สื่อสิ่งพิมพ์” ที่ครอบคลุมหลากหลายสาระเรื่องราว

ขณะที่ “มติชนทีวี” อาจจะยังไม่สร้างชื่อให้เป็นที่มักคุ้นนัก

เพียงแต่ไม่ว่าใครก็ตามที่เปิดการรับรู้เข้าสู่โลกออนไลน์ ชื่อ “มติชนทีวี” น่าจะบันทึกในความรับรู้ไม่มากก็น้อย ด้วยถึงวันนี้ “มติชน” ขยายตัวจาก “สื่อสิ่งพิมพ์” มาสู่ภาพเคลื่อนไหวเป็นปีที่ 5 แล้ว

5 ปี ของ “มติชนทีวี” ยังมั่นคงในเป้าหมายจะเป็น “ผู้ผลิตรายการ” ที่จะใช้ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ของบุคลากรในเครือที่เคยคุ้นกับตัวอักษร มาปรุงเป็น “รายการโทรทัศน์”

Advertisement

ในยุคสมัยที่สถานีโทรทัศน์ของประเทศเราเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ทีวีดิจิทัล” ในนามของ “ฟรีทีวี” ที่เดิมมีแค่ 6 ช่อง ขณะนี้ขยายไปกว่า 20 ช่อง ยังมีทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีอีกหลายร้อยช่อง

ผู้บริหารสถานีต้องทำงานอย่างหนักในสภาวะการแข่งขันรุนแรง ดูเหมือนว่าจะเป็นโอกาสดีของ “ผู้ผลิตรายการ” ที่จะนำเสนอในช่องต่างๆ

ความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น

“มติชนทีวี” แม้จะมองเห็นโอกาสไม่ต่างจากผู้ผลิตอื่นๆ แต่กลับเลือกที่จะยืนหยัดในหลักคิด “เติบโตจากความเป็นจริง”

เป็นการใช้ 5 ปี เพื่อการเรียนรู้ในการแปรประสบการณ์และฐานข้อมูลของ “สิ่งพิมพ์” มาเป็น “รายการทีวี”

นอกจากรายการเชิงข่าวสารบ้านเมืองทั่วไป ที่เป็นความถนัดของกองบรรณาธิการแล้ว เรายังศึกษาและลงมือฝึกฝนที่จะผลิตรายการอื่นๆ เช่น สารคดี

หากใครก็ตามเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกออนไลน์น่าจะได้พบหลากหลายรายการที่ “มติชนทีวี” ใช้ช่องทางออนไลน์นำเสนอ “รายการทีวี” ที่เราฝึกฝนเก็บเกี่ยวประสบการณ์กันอย่างเข้มข้น เพื่อหวังจะก้าวไปอย่างมั่นคงในโลกทีวี

(ซ้ายบน) ศาลเจ้าเกียนอันเกง ในชุมชนกุฎีจีน (ขวาบน) โบสถ์ซางตาครู้ส ในชุมชนกุฎีจีน (ซ้ายล่าง) บรรยากาศ วิถีชีวิตผู้คนในชุมชนกุฎีจีน (ขวาล่าง) หมากพลู ที่ย่านตลาดพลู

แทบทุกครั้งที่มีการหารือกันถึงความลงตัวในเนื้อหารายการมติชนทีวี โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญการผลิตรายการทีวีมาช่วยเสนอแนะ ข้อสรุปมักลงไปที่รายการเชิง “ศิลปวัฒนธรรม” ด้วยเหตุผลที่ภาพลักษณ์ของ “เครือมติชน” ที่เน้นชัดในฐานะผู้นำข่าวสารคุณภาพแล้ว

“นิตยสารศิลปวัฒนธรรม” เป็นเนื้อหาที่คนทั่วไปรับรู้ว่า “เครือมติชน” ทำได้อย่างโดดเด่น

ความเป็นจริงก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อไปย้อนดู “ศิลปวัฒนธรรรม” ก็ได้ทบทวนกันอีกครั้งว่า “ฉบับปฐมฤกษ์” หรือที่พิมพ์เพื่อวางแผงครั้งแรกเป็นฉบับเดือน “พฤศจิกายน 2522” ถึงวันนี้เหยียบเข้าสู่ปีที่ 37 แล้ว

“นิตยสาร” ที่คงทนมาจ่อ “ครึ่งศตวรรษ” แน่นอนว่าไม่เพียงจะเป็นกองบรรณาธิการที่เปี่ยมด้วยความรู้เฉพาะในเรื่องที่ขลุกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเท่านั้น แต่คนในกองบรรณาธิการแต่ละคนจะต้องสะสมเครือข่ายที่เป็นองค์ความรู้ไว้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งทั้งที่เป็น “ตัวบุคคล” และที่เป็น “สถาบันแหล่งความรู้”

นักคิดนักเขียนที่มีความเชี่ยวชาญทาง “โบราณคดี ศิลปะและวัฒนธรรม” ย่อมล้วนแล้วแต่ต้องคุ้นเคย แทบจะเรียกว่าเป็นญาติมิตรที่สมาคมกันยาวนาน

มีข้อมูลมาคุยให้กันฟัง มีความรู้ความคิดมาแลกเปลี่ยน และนำเสนอ

มีเรื่องราวหนึ่งที่ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำ คนเขียน คนอ่าน “ศิลปวัฒนธรรม”

เป็นความยั่งยืนอาศัยเกื้อกูลกันแบบใจถึงใจตลอดมา โดยกลุ่มก้อนของคนรสนิยมเดียวกันนี้กว้างขวางเป็นปริมาณไม่น้อย

ความเป็นไปที่ยืนยันเครือข่ายความสัมพันธ์นี้คือ “การร่วมกิจกรรมเสวนา”

ในช่วงที่ผ่านมา หากได้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของ “เครือมติชน” ว่าจะมีการจัด “เสวนาอภิปราย” ในหัวข้อเชิง “ศิลปวัฒนธรรม” อยู่บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าแทบจะทุกสัปดาห์ สถานที่จัดส่วนใหญ่คือ “มติชนอคาเดมี” เป็นหลัก จะมีบ้างที่ขยับไปจัดในสถานที่อื่นเป็นบางครั้ง

ที่เห็นและเป็นไปคือ ทุกครั้งที่สุดจะมีผู้ให้ความสนใจมาร่วมรับฟังกันแน่นขนัด ทุกคนที่มาต่างร่วมกันสร้างบรรยากาศการพูดและการฟังที่อบอุ่นกันเอง จนเป็นที่ปลาบปลื้มของผู้จัด

(บน) สะพานเจริญศรี พุทธศักราช 2457 (ล่าง) สะพานเฉลิมหล้า 56 พุทธศักราช 2452

นอกจากนั้น “กิจกรรมหนึ่งที่มติชนอคาเดมี” ครีเอตขึ้นมาคือ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ก็ได้รับการสนองตอบอย่างชวนให้ยินดี ทุกครั้งที่จัด ทุกที่นั่งไม่เคยมีว่าง

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เองที่เมื่อนำมาผสมผสานกับข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญการทำรายการโทรทัศน์ จึงทำให้ “มติชนทีวี” ซึ่งอย่างที่ย้ำแล้วว่าเลือกที่จะ “เติบโตจากความเป็นจริง” ต่อยอดงานใหม่จากงานเดิมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพอ ทำให้ตัดสินใจเริ่มต้นกันที่รายการที่ชื่อ “Checkin ถิ่นสยาม”

“การท่องเที่ยว” เป็นไลฟ์สไตล์ที่คนยุคนี้เลือกไว้เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของชีวิต

การท่องเที่ยวคือการเรียนรู้โลก รู้ชีวิต เป็นการพักผ่อนที่ได้สะสมประสบการณ์ เมื่อผนวกเรื่องราวของ “ศิลปวัฒนธรรม” เข้าไป ย่อมเป็น “ความรู้ที่กะเทาะเข้าถึงแก่นของประวัติศาสตร์”

“ที่ไหน มีอะไร ตรงไหนสำคัญ บอกเล่าถึงองค์ความรู้อย่างไร” ข้อสรุปแบบนี้ ใครจะรู้ดีกว่าคนที่วันเวลาจมอยู่กับการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ

ใครสักคนเมื่อไปเที่ยวที่ไหนสักที่ โดยเฉพาะสถานที่ต่างๆ ในประเทศเราเอง มักจะเป็นแบบผ่านไปแล้วผ่านเลย รู้แต่ว่าเห็นแล้วก็จบกัน

“Checkin ถิ่นสยาม” ตั้งใจไว้ที่จะให้คนที่ได้ชมเป็นอย่างนั้น

ทุกสถานที่ที่ผ่านการนำเสนอของ “Checkin ถิ่นสยาม” คนที่ชมจะได้รู้ว่า “ตรงไหนเป็นจุดที่ต้องสนใจ-ที่นั่นมีเรื่องราวสำคัญอะไร หรือกระทั่งว่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันเป็นสีสันให้การไปเยือนมีความสนุกสนานในความรู้”

นำเสนอแบบ “เน้นๆ” ไม่พูดพล่ามทำเพลงให้เยิ่นเย้อ

ด้วย “ผลึกความคิด” นี่เอง ที่ทำให้กำหนดการนำเสนอ “Checkin ถิ่นสยาม” ไว้ช่วงเวลาแค่ “1 นาที”

เพียงแต่ช่วงเวลาน้อยนิดนี้ “Checkin ถิ่นสยาม” จะรวบ “หัวใจของถิ่นย่านร้านตลาด” นั้นไว้ทั้งหมด กระทั่งไม่ว่าใครก็ตามที่ได้มีโอกาสไปที่แห่งนั้น

กระทั่งแค่ “โฉบไป” ยังสามารถเก็บเกี่ยวเยี่ยมชมจุดสำคัญของแหล่งย่านนั้นได้อย่าง “ไม่พลาดเป้า”

จะเป็นผู้ที่เกาะกุมหัวใจสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวนั้นได้ไม่น้อยกว่าใคร แม้จะมีเวลาสัมผัสไม่เท่า

“กระชับหัวใจทุกแหล่งท่องเที่ยวใน 1 นาที” คือผลึกความคิดของรายการ

“Checkin ถิ่นสยาม” ได้เวลาออกอากาศ ทาง “ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ” ซึ่งเป็น “ฟรีทีวีเรตติ้งสูงสุดของประเทศ”

“1 นาทีที่เป็นผลึกหัวใจของทุกสถานที่” นั้น แพร่ภาพทุกวัน

“จันทร์-ศุกร์” เวลา 11.29 น.

“เสาร์-อาทิตย์” เวลา 08.59 น.

หรือติดตามรายการย้อนหลังได้ที่ “มติชนออนไลน์” www.matichon.co.th

ใช้เวลาแค่ 1 นาที กุมหัวใจทุกสถานที่ท่องเที่ยว

เป็นอีกก้าวย่าง “เติบโตด้วยคุณภาพ” ของ “มติชนทีวี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image