ทปอ.หนุนเคลียริ่งเฮาส์ใหม่ แต่ห่วงถ้าไม่ใช้คะแนนเฉลี่ย ม.ปลาย ทำเด็กทิ้งห้องเรียน เล็งถก ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณี ศธ.จะปรับระบบการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2561 โดยรับผ่านระบบรับตรงร่วมกัน หรือเคลียริ่งเฮาส์ 2 รอบ แทนระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยเปิดรับนิสิตนักศึกษาเข้าเรียนผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กว่า 4 แสนคน แต่เข้าเรียนผ่านระบบแอดมิสชั่นส์เพียง 1 แสนคน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เด็กวิ่งรอกสอบและไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การใช้ระบบการสอบรับตรงร่วมกันจะช่วยแก้ปัญหาการสอบในอนาคต โดยจะจัดในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจบชั้น ม.6 มีสนามสอบกระจายทั่วประเทศ จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลและองค์ประกอบที่ใช้ในการรับเข้าเรียน และจำนวนที่เปิดรับ ทั้งระบบโควต้าและระบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจคล้ายระบบเอ็นทรานซ์เดิม แตกต่างกันตรงที่เด็กจะรู้คะแนนล่วงหน้าและเลือกสมัครเรียนในคณะ/สาขา ที่คะแนนสามารถเข้าเรียนได้ และเด็กจะถูกคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยอีกรอบหนึ่ง และมหาวิทยาลัยจะส่งชื่อเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์เพื่อแจ้งผลการคัดเลือกไปยังเด็ก และคนที่ติดหลายแห่งจะต้องเลือกว่าจะเข้าเรียนที่ไหน ส่วนที่นั่งที่เหลือในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเปิดรับสมัครเด็กเข้าเรียนเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบ 2

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา และประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า ทปสท.เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว และคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าระบบคัดเลือกแบบเดิม ซึ่งทุกวันนี้เพราะเด็กต้องวิ่งรอกสอบและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งนี้ ในส่วน มรภ.เองคงไม่กระทบมากนัก แต่คงต้องปรับตัว เพิ่มคุณภาพ เน้นจัดการเรียนการสอนในสาขาที่ถนัด และมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้เด็กเลือกสมัครเข้าเรียน

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรองประธาน ทปอ.กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ทปอ.เห็นด้วยที่ควรจะใช้ข้อสอบเดียวในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา แต่ต้องขอดูรายละเอียดต่างๆ ของระบบใหม่ที่เสนอมาก่อน ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งองค์ประกอบที่จะใช้ในการรับเข้าเรียน ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) อยู่หรือไม่ หรือจะใช้ข้อสอบ GAT ข้อสอบ PAT และข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเด็กทิ้งห้องเรียน มุ่งกวดวิชาอีก รวมถึง ยังต้องมาดูปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยด้วย เพราะอาจส่งผลกระทบให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้รับนักศึกษาได้น้อยลง โดย ทปอ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม ทปอ.เดือนตุลาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image