“SCG-มิตรผล-เเม่ฟ้าหลวง” มองไกลวิสัยทัศน์ธุรกิจ-ชุมชน-สิ่งเเวดล้อมร่วมพัฒนายั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 เวลา 10.15 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา CSR 360 องศา “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยให้ยั่งยืน”   โดยในช่วงเช้ามีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจในบริบท (โลก)ใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” ซึ่งมีนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของไทยมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ได้แก่  รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)  ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มมิตรผล โดยบรรยากาศงาน เป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชน นักธุรกิจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น การที่องค์กรจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้คนต้องมีจิตสำนึกการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย  โดยทางเอสซีจีมีวัฒนธรรม-ค่านิยมองค์กรบนพื้นฐาน 4 ข้อ คือ 1.ความเป็นธรรม 2.ความเป็นเลิศ 3.คุณค่าของคน 4.ความถือมั่นและความรับผิดชอบต่อสังคม

“คนในองค์กรต้องมีความเชื่อแบบนี้เหมือนกัน นอกจากนั้นเราก็เสริมเรื่องการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความเป็นธรรมทั้งต่อลูกค้าและคู่ค้า มีความเซฟตี้ ให้ความสำคัญกับชีวิตคน เพราะเอสซีจีเป็นบริษัทอุตสาหกรรม ถ้าคนที่ทำงานกับเราหรือคนใกล้ตัวเรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราก็อยู่ไม่ได้ ไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้” รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement

เอสซีจีได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องทำ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1)ต้องเป็นกรีนแมนูแฟคเจอริ่ง ถ้าไม่กรีน ถ้าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ขั้นตอนต่อไปมันไปไม่ได้ เราต้องทำให้สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการผลิตของเราสมบูรณ์ที่สุด การผลิตของเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นการใช้โดยไม่ทำลาย และพัฒนาสังคมรอบข้างไปด้วย เพื่อให้ชุมชนมีกำลังช่วยกันรักษาระบบนิเวศน์  2) ซัพพลายเชน ให้เขาพัฒนาพร้อมกับเราอย่างยั่งยืน มีโปรแกรมที่ขอให้ซัพพลายเออร์เข้ามาร่วมพันธกิจกับเรา เช่นทำสัญญาเรื่องไม่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย ไม่หนีภาษี ไม่โกง ไม่ติดสินบน ซึ่งเป็นลักษณะอาสาสมัครก่อน มีซัพพลายเออร์ 5 พันกว่ารายเข้าร่วม 3) ลูกค้า สร้างกลุ่มคนที่สามารถพัฒนาทั้งระบบได้ เช่น ทำเอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น ตอบโจทย์ลูกค้าสูงวัย เราหวังว่าจะครีเอทโซไซตี้ขึ้นมา และเราคิดจะทำโปรแกรมอื่น ๆ อีก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกค้าต่อไป  และ 4)พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ภายนอก ทั้งคนนอกและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน

Advertisement

สำหรับประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกอนาคตที่มีความเปลี่ยนแปลง นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนมี 3 ประเด็นที่น่าจะเป็นเทรนด์หลัก คือ  1) การที่สังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ความคาดหวังมีมากขึ้น ความหลากหลาย แรงกระเพื่อม มีเสียงพูดออกไปมากขึ้น ซึ่งในปีหลัง ๆ มานี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องตอบรับมากขึ้น เมื่อก่อนจะมีแค่กลุ่มเอ็นจีโอที่พูด แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทั้งคนในสังคม ลูกค้า มีเสียกรองมากขึ้น 2 )ความเร็ว การแพร่กระจายข่าวสารมีมากขึ้น เวลามีอะไรทุกคนในโลกรู้หมดว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และทุกคนก็แสดงความเห็น  และ 3 )ความแตกต่างของคนในสังคม ถึงแม้ว่าโลกเป็นโกบอลไลซ์มากขึ้น แต่ยังมีความต่างกันในแต่ละสังคม ระดับการยอมรับเรื่องเดียวกันในแต่ละสังคมต่างกัน

“เมื่อก่อนเราอาจจะไม่สนใจว่าคนในสังคมพูดถึงเราอย่างไรอาจจะสำรวจความเห็นแค่รายปีแต่ตอนนี้ต้องปรับตัวอยู่เสมอต้องรู้ว่าใครพูดถึงเราอย่างไร แล้วแชร์ข้อมูลให้คนในองค์กรรู้ด้วย และให้โอกาสพนักงานมีส่วนในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วทันท่วงที ซึ่งคนในองค์กรของเราจำเป็นต้องมีความเข้าใจในบริบทเหล่านี้ที่ซับซ้อนขึ้น แล้วเขาจะตัดสินใจได้เร็ว นี่คือสิ่งที่เอสซีจีอยากให้เกิดขึ้น” 
กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยกล่าว

ด้าน มล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยถึงวิธีคิดขององค์กรตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันว่า การก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตั้งมาเพื่อสังคม ปัญหาปัจจุบันคือป่าเสื่อมโทรม ยากจน ปลูกฝิ่น ขนยาเสพติด เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานราชการเข้าไม่ถึง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงสะท้อนถึงการทำพระราชกิจของสมเด็จย่า เริ่มต้นขึ้นด้วยโครงการปลูกป่า

“กระแสปลูกป่าแรงมากในปัจจุบันคนแค่เข้าไปปลูกแล้วก็หันหลังกลับ  ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ เราจะมองว่าคุณเป็นคนก่อ เนื่องจากวิถีดั้งเดิมที่เคยใช้หายไป อยากให้หันกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม อีกทั้งคนเข้าไปบุกรุก ตัดต้นไม้ ในส่วนของป่าดอยตุงมีการเรียนรู้ถูกผิดมาตลอดแต่ก็พัฒนามาเรื่อยๆ สิ่งที่ทำควบคู่การปลูกป่าคือปลูกคนสร้างงานสร้างอาชีพให้ความรู้แก่คนในชุมชน ”
มล.ดิศปนัดดากล่าว

ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมองภาพรวมของชุมชนทั้งหมด ไม่มองไปที่จุดใดจุดหนึ่ง การที่คนจะดูแลพื้นที่ต่อได้ทุกคนต้องผูกพันกัน ปัจจุบันช่องว่างระหว่างชนชั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชุมชมมีอาชีพดีขึ้นรายได้มากขึ้น แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นก็เกิดช่องห่างกันอยู่ดี มูลนิธิจะส่งเสริมชาวบ้านให้เขามีรายได้เพียงพอ เพื่อให้ชาวบ้านมีการวางแผนดูแลตนเองและชุมชน  ตอนนี้มูลนิธิพัฒนาโครงการไปที่จังหวัดน่านเพื่อพัฒนาป่า ปัญหาของป่าไม่ใช่ปัญหาของคนต้นน้ำ แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ

“ผมไม่เชื่อว่ามีคนโง่อยู่ในโลก มีแค่คนรู้เร็วกับคนรู้ช้า คนรู้ช้าสักวันเขาต้องรู้ เราต้องมองว่าเป็นปัญหาส่วนรวม เริ่มต้นจากตนเองอย่าพึ่งไปช่วยใครแล้วทุกคนจะทำคนละเล็กละน้อย เมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ”
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกล่าว

สำหรับภาพรวมในปัจจุบัน  มล.ดิศปนัดดาเผยว่ากำลังไปกับกระแสโลกาภิวัตน์มีตัวอย่างชัดเจน คือช่องว่างระหว่างนายหน้า ปัญหาของนายทุนต่างๆ เราต้องดูว่าสิ่งที่เราจะแก้เราสามารถเอามาปฏิบัติได้จริงอย่างไร เราเข้าใจมันดีแค่ไหนต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาระยะยาว เราใช้เวลาบนห้องเยอะไม่ออกไปเจอของจริง ถ้าความเข้าใจของเราดีขึ้น เราจะเเก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น จะทำอย่างไรให้องค์ความรู้เผยแพร่มากขึ้นเพราะเราใส่สูท มีชื่อเสียง มีใบปริญญาหลายใบ การเริ่มต้น CSR ต้องเปลี่ยนมุมมอง อย่ามองว่าเป็นการให้ แต่ให้มองว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเข้าใจมากขึ้น

ด้านนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มมิตรผล  กล่าวว่า ก้าวสู่ 60 ปีมิตรผล  “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”  เป็นคำที่ใช้ตั้งแต่ได้ริเริ่มธุรกิจ เมื่อพูดถึงอ้อย อันเป็น “พืชมหัศจรรย์” ของธุรกิจเรา  นอกจากใช้น้ำตาล แล้วยังเป็นพืชพลังงาน อ้อยจึงเป็นกุญแจหลักของกลุ่มมิตรผล แต่ละปีเราต้องใช้อ้อย ถึง 20 ล้านตัน แต่ทว่ามิตรผลปลูกเองไม่ถึงแสนตัน ที่เหลือนั้นรับมาจากชาวไร่  โดยเรามีชาวไร่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของเรากว่าแสนคน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรยังคงปลูกอ้อยอยู่ มีอยู่  3 ปัจจัย ได้แก่  1) ราคา 2) ต้นทุน 3) ผลผลิตต่อไร่  ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไปเกษตรกรเขาพร้อมเลิกอาชีพหรือหันไปปลูกพืชอื่นแทน  ซึ่งราคาปัจจุบันสำหรับอ้อยในไทยอยู่ที่ประมาณตันละ 1,000 บาท ส่วนราคาอ้อยในประเทศจีนจะสูงกว่าเรา 2 เท่า คืออยู่ที่ 2,000 บาท เพราะปลูกยากทำให้ต้นทุนสูง

ธุรกิจสมัยนี้ต้องคำนึกถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ผลกำไร เราลงไปช่วยชาวไร่ดูถึงการใส่ปุ๋ย คุมปริมาณสารเคมี เราดูถึงขนาดพื้นที่ดินตรงนั้นขาดธาตุอะไร รถไถที่ใช้พรวนดินควรใช้น้ำมันเท่าไหร่ เพราะน้ำมันใช้มากไปก็เกิดมลพิษ

“เราไม่ใช่แค่ธุรกิจรับซื้อ แต่ต้องดูแลถึงกระบวนการผลิตด้วย ว่าจะสร้างมูลค่าอย่างไร  อย่างเช่น เมื่อสองปีก่อนเกิดปัญหาที่จีน  ปริมาณอ้อยลดลแม้จะยังมีราคาสูง ทางมิตรผลได้เอาระบบฟาร์มในไร่ไปช่วยลดต้นทุน ให้พวกเขา ประหยัดเงินได้กว่าพันล้าน  ในแง่ของชาวไร่ เขาไม่อยากเปลี่ยนอาชีพหรอก แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเพราะไม่มีทางเลือก ในเกษตรสมัยใหม่ต้องคิดไปเกินกว่าจะทำอย่างไรชาวไร่จึงจะอยู่ได้ แต่สิ่งแวดล้อมต้องดีด้วย”

ที่ผ่านมาไทยโดนขึ้นลิสต์เป็นเทียร์ 3  สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยก็โดนปัญหาใช้แรงงานเด็ก  ซึ่งบ้านเรามองว่าส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เด็กจะตามพ่อแม่ไปอยู่ในไร่หรือไปเรียนรู้งานในไร่  แต่สิ่งที่ฝรั่งเขามองคือไม่ได้รับการดูแลสิทธิ เพราะเด็กต้องไปอยู่ในโรงเรียน ไม่ใช่มาอยู่ในไร่เพื่อทำงาน

จากประเด็นนี้ กลุ่มมิตรผล ได้แก้ไขปัญหาโดยการให้เด็กเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนในพื้นที่ใกล้ๆไร่ของพ่อแม่ ซึ่งโครงการนี้มีความคืบหน้า เป็นเรื่องที่เอกชนต้องดูแล  ไม่ใช่รอความช่วยเหลือภาครัฐอย่างเดียว

อีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือการว่าจ้างคนพิการ จะเห็นว่าที่ผ่านมาทุกองค์กรไม่สามารถว่าจ้างได้ตามกำหนดของภาครัฐ และคนพิการบางท่านก็ลำบากเพราะเดินทางมาทำงานไม่สะดวก หลายบริษัทเลือกจ่ายเงินเข้ากองทุนดีกว่า เราจึงแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยการให้พวกเขาอยู่ในชุมชน เราก็ดูแลชุมชนของเขาอีกที  “เขาก็ได้ เราก็ได้”  ตอนนี้เราสามารถจ้างได้เต็มอัตราตามที่รัฐกำหนด  ลดภาษีได้อีก แล้วเราก็นำเงินนั้นกลับมาจ้างเขาได้อีก”

กฤษฎา  กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มีการเผาอ้อยเยอะมาก  ส่งผลต่ออย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม  ต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้ ผนวกกับ เกษตรกรอายุเยอะขึ้น  คนรุ่นใหม่ทำงานเกษตรกรรมน้อยลง ลูกหลานไม่ทำต่อจากพ่อแม่  ถ้ายังปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป ก็จะไม่มีใครมาผลิตอาหารให้ชาวโลก ทางออกคือต้องหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยเพื่อลดการใช้แรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image