สุจิตต์ วงษ์เทศ : รัฐสุโขทัยเปลี่ยนนโยบายการเมือง-การค้า ดูจากทิ้งมหายาน เปลี่ยนไปยกย่องเถรวาท

วัดมหาธาตุ สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาท กลางเมืองสุโขทัย

รัฐสุโขทัยเปลี่ยนนโยบายการเมือง-การค้า เพราะเลิกนับถือพุทธมหายานจากรัฐละโว้ แล้วเปลี่ยนไปยกย่องพุทธเถรวาทจากรัฐมอญ (ที่ได้จากลังกา)
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าคำสอนของเถรวาทใกล้ชิดและเปิดช่องให้พ่อค้าเป็นผู้มีบุญ แล้วมีโอกาสเสวยราชย์เป็นกษัตริย์

ทิ้งมหายาน ยกเถรวาท

ต่อมาพ่อขุนศรีนาวนำถุมเปลี่ยนลัทธิทางศาสนา กล่าวคือทิ้งลัทธิมหายาน แล้วหันไปยกย่องฝ่ายเถรวาทแบบลังกา ด้วยเหตุผลอย่างใดไม่ปรากฏ
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เห็นได้จากการสร้างเมืองสุโขทัยใหม่ในลักษณะ “ตรีบูร” ที่มีวัดมหาธาตุอยู่กลางเมือง พร้อมทั้งให้สร้างพระบรมธาตุขึ้นกลางใจเมืองที่ขยายใหม่ ดังมีข้อความในจารึกวัดศรีชุมว่า “…ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุใกล้ฝั่งน้ำ”
การสร้างพระบรมธาตุไว้ในวัดมหาธาตุกลางเมือง เพื่อให้เป็นศาสนสถานสำคัญของบ้านเมือง แทนการสร้างปราสาทอันเป็นเทวาลัย ฝ่ายฮินดูหรือพุทธาลัยฝ่ายมหายาน ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนคติจากการนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นนับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
การยกย่องพุทธศาสนาที่ไม่ใช่มหายานให้สำคัญกว่าลัทธิอื่น เป็นประเพณีของบ้านเมืองในดินแดนสยามมาช้านานก่อนมีเมืองสุโขทัย เช่น เมืองอู่ทอง (จ. สุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (จ. ราชบุรี) เมืองนครชัยศรี (จ. นครปฐม) และ เมืองละโว้ (จ. ลพบุรี) ที่มีพัฒนาการมาแต่สมัยทวารวดี
หลังจากนั้นพระบรมธาตุจึงมีความหมายสำคัญที่สุดต่อบ้านเมืองและแว่นแคว้นแทนบทบาทของปราสาทวัดพระพายหลวงที่เคยมีมาก่อน
การเปลี่ยนลัทธิทางศาสนาน่าจะมีความสัมพันธ์กับเรื่องพระพุทธสิหิงค์จากลังกา และส่งผลให้ต่อไปข้างหน้าขอมสบาดโขลญลำพงใช้กองทัพยึดได้เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย

พระพุทธสิหิงค์สัญลักษณ์พุทธแบบลังกา

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เล่าเรื่อง พระพุทธสิหิงค์ ไว้ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งพระร่วงโรจราช “ใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร” จึงเสด็จไปถึงเมืองชื่อ “สิริธรรมนคร” กษัตริย์สิริธรรมราชาตรัสเล่าถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมา หรือพระพุทธสิหิงค์ในลังกาทวีปที่ได้ทรงสดับมา พระร่วงโรจราชก็สนพระทัย แล้วโปรดให้ส่งทูตไปลังกาทวีปเพื่อขอพระพุทธสิหิงค์มาสักการบูชา แล้วพระร่วงโรจราชก็เสด็จกลับเมืองสุโขทัย
ต่อมาพระเจ้าสีหลแห่งลังกาพระราชทานพระพุทธสิหิงค์มาถึงเมืองสิริธรรมนคร เมื่อรู้ดังนั้นพระร่วงโรจราชจึงเสด็จไปเมืองสิริธรรมนครอีกครั้งหนึ่ง แล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปรัฐสุโขทัย หลังจากนั้นโปรดให้สร้างพระมหาธาตุขึ้นที่เมืองศรีสัชนาลัย
เรื่องราวทำนองนี้ยังมีอยู่ในหนังสืออื่นๆ ด้วยรายละเอียดต่างกัน
แต่ในลังกาไม่มีพระพุทธสิหิงค์ และไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ เพราะแท้ที่จริงฝ่ายไทยแต่งเรื่องพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาเอง แล้วมักอ้างตำนานเรื่องนี้เป็นหลักฐานแสดงร่องรอยการขยายอำนาจของกรุงสุโขทัยลงไปถึงรัฐนครศรีธรรมราช แต่ขัดกับหลักฐานด้านอื่นๆ จึงไม่เป็นที่ยอมรับว่ากรุงสุโขทัยจะมีอำนาจทางการเมืองต่ำลงไปกว่าเมืองนครสวรรค์ได้
เรื่องพระพุทธสิหิงค์ ควรเป็นร่องรอยแสดงความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาที่กรุงสุโขทัยรับลัทธิเถรวาทมาจากลังกา โดยผ่านบ้านเมืองชายทะเลทางทิศใต้ เช่น เมืองนครพัน (หรือสะเทิมหรือสุธรรมวดีเมืองมอญ) และ/หรือเมืองนครศรีธรรมราช โดยให้พระพุทธสิหิงค์เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาจากลังกา

พ่อขุนผาเมือง ผู้สืบตระกูลศรีนาวนำถุม

พ่อขุนศรีนาวนำถุม มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ ผาเมือง เป็นเจ้า 2 เมือง (เหมือนพ่อ) คือ เมืองราด และ เมืองลุม อยู่ในกลุ่มลำน้ำน่าน
แต่พ่อขุนผาเมืองเป็น “ลูกเขย” กษัตริย์กัมพูชาด้วย (จารึกวัดศรีชุมเรียกกษัตริย์กัมพูชาตามประเพณีท้องถิ่นว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ”) เพราะกษัตริย์กัมพูชาในสมัยนั้นยก “ลูกสาว” ชื่อ “นางสุขรมหาเทวี” ให้เป็น “เมีย” พ่อขุนผาเมือง
นอกจากนั้นกษัตริย์กัมพูชายังยกย่องให้เกียรติพ่อขุนผาเมือง โดยขนานขานนามอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” แล้วมอบพระแสง “ขรรค์ชัยศรี” ให้เป็นเกียรติยศด้วย
พ่อขุนผาเมืองมีเครือญาติครอบครัวเดียวกันในตระกูลศรีนาวนำถุมคนหนึ่ง (ศิลาจารึกไม่ได้ระบุว่าเป็นน้องชายหรือลูกชายของพ่อขุนผาเมือง) มีชื่อว่า “พระยาคำแหงพระราม” เป็นเจ้าเมือง “สรลวงสองแคว” ย่านลำน้ำน่าน
ต่อมาพระยาคำแหงพระรามมีลูกชายคนหนึ่งเกิดในเมือง “สรลวงสองแคว” เป็นขุนศึกนักรบที่มีความสามารถมาก แต่ภายหลังได้ออกบวชแล้วธุดงค์ไปที่ต่างๆ จนถึงลังกา มีสมณศักดิ์จากลังกาว่า “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี” (เรียกสั้นๆ ว่า “เจ้าศรีศรัทธาฯ” เป็นผู้เล่าเรื่องวงศ์ตระกูลสุโขทัยในศิลาจารึกวัดศรีชุม) เจ้าศรีศรัทธาฯ จึงเกี่ยวดองเป็นหลานพ่อขุนผาเมือง
พ่อขุนผาเมืองมีสหายใกล้ชิดเสมอญาติสนิทคนหนึ่งชื่อ “พ่อขุนบางกลางหาว”

Advertisement

พ่อขุนบางกลางหาว ต้นตระกูลศรีอินทราทิตย์

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เล่าเรื่องว่า ที่ ต. บ้านโค (อาจเป็นบ้านโคน ใน จ. กำแพงเพชร) ยังมีชายคนหนึ่งรูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่งเห็นชายคนนั้นแล้วใคร่จะร่วมสังวาสด้วย จึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น จึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้นชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง หรือ “พระร่วง”
“โรจราช” หรือ “พระร่วง” ตรงนี้หมายถึงพ่อขุนบางกลางหาว (หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ในยุคต่อไป)
แต่เรื่องที่เล่ามานั้นเป็นตำนาน หรือนิทาน จึงไม่อาจถือเป็นจริงได้ ทั้งหมดจึงยังไม่มีหลักฐานว่าพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าเมืองใดมาก่อน เพราะจารึกวัดศรีชุมระบุแต่เพียงว่า พ่อขุนบางกลางหาว “ขึ้นไปเมืองบางยาง” เพื่อรวบรวมกำลังพล
จารึกวัดศรีชุมมิได้บอกว่าพ่อขุนบางกลางหาวครองเมืองบางยาง และไม่มีหลักฐานอื่นใดบอกว่าครองเมืองไหน แต่จารึกสุโขทัย (หลักที่ 45) มีข้อความตอนหนึ่งแสดงร่องรอยบรรพชนของพ่อขุนบางกลางหาวว่าอยู่ในสายตระกูลของ “ผีปู่ผาคำ” อันมีชื่อ “ปู่ขุนจิตขุนจอด” เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับเจ้าเมืองน่าน
ชื่อเป็นคู่ว่า “ปู่ขุนจิตขุนจอด” นี้คล้ายคลึงกับประเพณีตั้งชื่อบุคคลในนิทานปรัมปราที่เป็นบรรพชนของตระกูลเมืองน่าน เช่น “ขุนนุ่นขุนฟอง” และคล้ายคลึงเรื่องของเมืองหลวงพระบางว่า “ขุนเค็กขุนคาน”และ “ขุนครูขุนครอง”
จึงอาจกล่าวได้ว่าวงศ์ตระกูลของพ่อขุนบางกลางหาวเกี่ยวข้องเป็นเชื้อสายตระกูลเมืองน่านและตระกูลเมืองหลวงพระบาง (ซึ่งต่างก็เชื่อมโยงลงไปเป็นเครือญาติกับตระกูลสุพรรณภูมิที่เป็นใหญ่ครองรัฐสุพรรณภูมิอยู่ฟากตะวันตกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา)
เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองจึงให้นาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” (ที่ได้มาจากกษัตริย์กัมพูชา) ต่อจากนั้นก็เรียกพ่อขุนบางกลางหาวว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” จึงนับเป็นต้นตระกูลศรีอินทราทิตย์

[พรุ่งนี้อ่านขอมละโว้ (จากเมืองลพบุรี) ยกกองทัพ “ดำดิน” ยึดสุโขทัย]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image