กรมบัญชีกลางเร่งรัดหน่วยราชการเบิกจ่ายงบ หลังพบงบลงทุนต่ำเป้าเบิกไปเพียง 62%

มนัส แจ่มเวหา (ภาพ:กระทรวงการคลัง)

ที่กรมบัญชีกลาง วันที่ 29 สิงหาคม 2559 นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงมาตรการเร่งรัดการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ว่า ขณะนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนยังล่าช้ากว่าแผน สามารถเบิกจ่ายไปได้เพียงกว่า 62% จากวงเงินทั้งหมด 4.57 แสนล้านบาท การเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าตั้งเป้าตั้งไว้ 87 % ส่วนงบลงทุนพิเศษ อาทิ เงินตำบลละ 5 แสนบาท หมู่บ้านละ 2 แสนบาท มีวงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาทนั้นในส่วนนี้เบิกจ่ายไปได้ถึง 85% คิดเป็นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท

นายมนัส กล่าวว่า เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนปีนี้ โดยได้ชี้แจงมาตรการเพื่อกระตุ้นการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐ การปฏิบัติงานในระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2559 นอกจากนี้ยังเวียนหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องของการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยขยายระยะเวลาให้กับส่วนราชการที่นำงบประมาณปี 2559 ที่ยังคงเหลือ ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 และเบิกจ่ายลักษณะงบดำเนินงาน เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาองค์กรและพัฒนาบุคลากร สามารถกันเงินและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธันวาคม 2559 เพื่อเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

นายมนัส กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ในปีงบ 2560 นั้น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น สามารถเริ่มดำเนินการตามกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่าง TOR การเผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้ก่อน ได้ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป โดยจะลงนามในสัญญาได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณ 2560 มีผลใช้บังคับ และได้รับการจัดสรรงบจากสำนักงบประมาณแล้วเท่านั้น โดยมีข้อกำหนดคืองบลงทุนที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ต้องเบิกจ่ายให้จบในเดือนธันวาคม2559 ถ้าไม่มีการทำสัญญาไว้ต้องโอนงบคืนมายังกระทรวงการคลัง ส่วนงบลงทุนตั้งแต่ 2ล้านบาท-1พันล้านบาท ก่อหนี้ภายในไตรมาส 1 ปีงบ และงบลงทุนตั้งแต่ 1 พันล้านบาทเป็นต้นไป ก่อหนี้ภายในไตรมาส 2 และเบิกจ่ายตามงวดงาม

นายมนัส กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรม และทำให้รัฐบาลมีข้อมูลในการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน กรมบัญชีกลางจะรวบรวมผลการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างจากข้อมูลในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ตั้งแต่ขั้นตอนจัดทำร่าง TOR ผู้มีอำนาจเห็นชอบรายงาน ขอซื้อขอจ้าง ประกาศเชิญชวน และผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง รวมทั้งผลการเบิกจ่ายงบประมาณของทุกหน่วยงาน รายงานให้ ครม.ทราบเป็นรายเดือน โดยจะเริ่มรายงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image