เกมย้อนยุค เมื่อ “การเมืองไทย” ต่างจากเนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์” ของติ๊นา ล้านตลับ

เกมย้อนยุค เมื่อ "การเมืองไทย" ต่างจากเนื้อเพลง "ประวัติศาสตร์" ของติ๊นา ล้านตลับ

เกมย้อนยุค

ว่ากันว่าการเมืองไทยนั้นใช้ทฤษฎีรัฐศาสตร์มาวิเคราะห์ไม่ได้

เพราะทุกอย่างไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ

ถ้าอยากรู้ว่าการเมืองไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ต้องใช้หลักวิชาประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์

Advertisement

ไม่ใช่ศึกษา “อดีต” เพื่อเป็นบทเรียนใน “อนาคต”

แต่ศึกษาว่า “อดีต” เป็นอย่างไร

“ปัจจุบัน” ก็แบบนั้น

และ “อนาคต” ก็แบบเดิม

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปสดๆ ร้อนๆ

รัฐธรรมนูญในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นอย่างไร

ปัจจุบันก็แทบจะถอดแบบมาเลย

โดยเฉพาะเรื่องอำนาจของวุฒิสมาชิกที่มีสิทธิ์เลือกตัวนายกรัฐมนตรีตามคำถามพ่วงของ สนช.

และเรื่อง “นายกฯ คนนอก”

เป็นหมากที่วางไว้สำหรับการเดินเกมการเมืองในอนาคต

การเปิดทางให้วุฒิสมาชิกที่มาจากกลไกของ คสช. มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อตั้งแต่รอบแรก

ก่อนที่จะเปิดทางให้เสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” ได้หากเจอ “ทางตัน”

เป็นเกมเก่าที่คุ้นเคยอย่างยิ่งในยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อเนื่องถึงยุค พล.อ.เปรม

เป็นตำนาน “นายกฯ คนนอก” ที่มาจาก “กองทัพ”

หายไปเกือบ 30 ปี

วันนี้กลับมาเหมือนเดิม

เกมการเมืองวันนี้ก็เหมือนอดีต

เปิดไพ่อ่านได้เลย

เมื่อพรรควุฒิสมาชิก มี ส.ว. 250 คน

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง หากไม่ถล่มทลายแบบ ออง ซาน ซูจี คือ 376 คนจาก 500 คน

พรรคเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้าน

เพราะ ส.ว. ไม่มีทางจะยกมือหนุน

และพรรคการเมืองลำดับถัดมา ไม่ยอมเสนอชื่อที่ “ผู้มีอำนาจ” พึงพอใจ

พรรควุฒิสมาชิกก็ตีรวนให้เกิด “ทางตัน”

จากนั้นก็เดินเกมเพื่อให้ “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นหมากเกมง่ายๆ ที่วิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทยสอนไว้

เนื้อหาจะไม่เหมือนเนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์” ของ “คริสติน่า”

“ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน”

แต่เป็น…

“ประวัติศาสตร์ยังคงซ้ำ

การเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image