น้ำโขงล้นตลิ่งท่วมที่นาอีสานแล้ว4แสนไร่ พณ.-กรมข้าวถกรับมือราคาข้าวดิ่ง5ก.ย.นี้

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559 ผลผลิตข้าวจะออกสู่ตลาดประมาณ 24 ล้านไร่ ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ จะหารือรับมือสถานการณ์ผลผลิตข้าวที่ออกมาแบบกระจุกตัว อาจส่งผลให้ราคาข้าวปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ตกต่ำ ในวันที่ 5 กันยายนนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อหาทางรับมือสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ เพราะกังวลว่าอาจมีโรงสีกดราคารับซื้อข้าว ส่งผลให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปัญหาการกระจุกตัวแยกจาก 2 เรื่อง คือ การเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้รถเกี่ยวจำนวนมากและพร้อมๆกันอาจไม่พอเพียง ชาวนาอาจเดือดร้อนขาดแคลนแรงงาน ปัญหานี้ทั้งกระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยืนยันว่าเครื่องจักรกลเพียงพอ อีกปัญหาคือผลผลิตกระจุกตัวอาจฉุดราคาลดลง

“แนวโน้มราคาข้าวไม่ค่อยดีนัก ขณะนี้ราคาข้าวโลกเริ่มลดลง อาจกระทบผลผลิตข้าวไทยที่จะออกพร้อมกันในปลายปีนี้ จึงเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลโรงสีข้าวที่อาจกดราคาข้าวที่จะออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก ประกอบกับสต๊อกข้าวของโรงสี ยังมีจำนวนมากอยู่ ก็จะดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ราคาตกต่ำ” นายอนันต์กล่าว

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กล่าวว่า จิสด้าได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยจากภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถวางแผนเพาะปลูกข้าวได้ตรงตามความต้องการบริโภค ทั้งในประเทศและส่งออก สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ซึ่งสามารถทำนายเหตุการณ์ได้ล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อาทิ ฝนแล้ง น้ำท่วม

สำหรับสถานการณ์การปลูกข้าวทั่วประเทศ ล่าสุดมีการเพาะปลูกข้าว 54 ล้านไร่ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5 ล้านไร่ ที่มีการเพาะปลูก 49 ล้านไร่ เนื่องจากภาคกลางฝนมาช้ากว่าปีก่อน ทำให้ชาวนาปลูกข้าวช้ากว่าปีปกติ 1 เดือน ส่วนใหญ่ปลูกในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 30 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับปีก่อน ทั้งนี้มีบางพื้นที่เสี่ยงจากสถานการณ์น้ำโขงล้นตลิ่งท่วมนาข้าว ครอบคลุมพื้นที่ 4.02 แสนไร่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ใน อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง และ อ.แม่จัน ครอบคลุมพื้นที่ 1 หมื่นไร่

Advertisement

รวมถึงจังหวัดนครพนม ใน อ.ท่าอุเทน อ.ธาตุพนม อ.นาแก อ.บ้านแพง อ.ปลาปาก อ.เมืองนครพนม และ อ.เรณูนคร ครอบคลุมพื้นที่ 1.12 แสนไร่ จังหวัดบึงกาฬ ใน อ.บึงกาฬ อ.บึงโขงหลง อ.บุ่งคล้า อ.ปากคาดและ อ.ศรีวิไล ครอบคลุมพื้นที่ 1.23 แสนไร่ จังหวัดหนองคาย ใน อ.ท่าบ่อ อ.เฝ้าไร่ อ.โพธิ์ตาก อ.โพนพิสัย อ.เมืองหนองคาย อ.รัตนวาปี และ อ.ศรีเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 1.55 แสนไร่ และจังหวัดอุดรธานี ใน อ.บ้านผือ ครอบคลุมพื้นที่ 1,018 ไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image