ตะลึง!!! ต่างด้าวแห่เป็นเจ้าของแผงลอยสินค้า พม่าครอง44.5%

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม ถึง 22 มิถุนายน 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรีและสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติพม่า 44.5% กัมพูชา 21.4% ลาว19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7%

ในการสำรวจพบอีกว่า ผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย โดยผู้ค้าชาวไทยประมาณ 3ใน4 รับรู้ว่ามีคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ทราบว่าอาชีพค้าขายของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้ค้าต่างด้าวที่รู้ว่าผิดกฎหมายเพียง 1ใน 4 โดยผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นเจ้าของเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่า มีสถานภาพเป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัวหรือญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง

นอกจากนี้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายเลย มีสัดส่วน41.3% อาจเพราะแรงงานต่างด้าวมีเพื่อน ญาติ เครือข่ายทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1ใน3 ของผู้ค้าต่างด้าว เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาแล้ว 2-3 ปี ชี้ให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงาน ปรับเป็นผู้ประกอบค้าขายเพิ่มขึ้น แม้มีการจับกุมแต่กว่าครึ่งก็จะกลับมาค้าขายใหม่อีก ด้านรายได้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และ กว่า 80% ส่งเงินกลับประเทศเดือนละครั้ง โดยครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52% และส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-10,000 บาท คิดเป็น 35.1%

ทั้งนี้ การเข้าสู่อาชีพค้าขายรายย่อยของคนต่างด้าว มีทั้งเข้าเมืองมาใช้แรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย หรือ การตั้งใจเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่น ถือวีซ่านักท่องเที่ยว เป็นแรงงานเถื่อน เป็นต้น ส่วนการคงสภาพอาชีพค้าขายไว้ของต่างด้าว คือการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ ให้คนไทยรับหน้าเป็นนายจ้าง วนเวียนไปกลับประเทศไทยกับประเทศต้นทาง และ มีเครือข่ายแจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ไม่ถูกจับกุม ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยของไทยทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยผลดีคือส่งเสริมให้ตลาดมีความคึกคัก ดึงดูดคนต่างด้าวอื่นๆมาซื้อสินค้า และทำให้มีสินค้าหลากหลาย ส่วนผลเสียคือ การแย่งอาชีพคนไทย รวมทั้งตั้งกลุ่มอิทธิพล และผลกระทบอีกหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพอนามัย เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ ปัญหาอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาท การแพร่ระบาดของโรค ความต้องการทรัพยากรพื้นฐานและงบประมาณที่ต้องใช้การดูแล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image