นักวิชาการฟันธง พรรคทหาร ไปไม่รอด

สุขุม นวลสกุล - อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

หมายเหตุ – นักวิชาการแสดงความเห็นถึงกรณีที่นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่ามีกลุ่มเพื่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอบถามความเห็นเรื่องการตั้งพรรคการเมืองโดยไม่ให้เป็นเหมือนพรรคทหารแบบเก่า จะไปไม่รอด

สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อย่าไปพูดว่าการตั้งพรรคทหารเหมาะหรือไม่เหมาะ คิดว่าน่าจะเป็นพวก ส.ว.ลากตั้งทั้งหลายมากกว่า ไม่ใช่พวกทหาร แต่ทหารอยู่ข้างหลัง ไม่ออกหน้า ส่วนเรื่องความสง่างามเป็นเพียงคำพูด ถ้าตัดสินใจแล้ว คงมองในแง่ของช่องทางว่าทำอย่างไรจึงเข้ามาได้ เพราะฉะนั้นการพูดว่ามาตามช่องทางรัฐธรรมนูญ เขาถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้ว คิดว่าถูกต้องในแนวทางของเขา แต่คนอื่นๆ ไม่ได้มองอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ก็อาจจะยอมรับ เพราะเขาบอกว่าตัวเองโหวตผ่านประชามติทั้งคำถามพ่วงมาแล้ว

ที่ผ่านมาในอดีต ไม่ใช่พรรคทหาร พรรคทหารที่พยายามตั้งมาไม่เคยได้ผล พรรคสามัคคีธรรมอยู่ไม่ได้ มันไม่มี ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อยู่มาได้ ไม่ใช่เพราะพรรคทหาร แต่อยู่ในจังหวะที่พรรคการเมืองคิดว่า พล.อ.เปรมคือคนที่จะสามารถประสานอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายได้

Advertisement

บทเรียนจากอดีตในกรณีนี้ มองไม่เห็นทางเลย บ้านเมืองเรามันก็ไปอย่างนี้ ในที่สุดคนก็จะเบื่อทหาร แล้วหันไปหานายกฯจากการเลือกตั้ง พอเบื่อนายกฯเลือกตั้งก็หมุนกลับมาหาทหารอีก หาจุดสมดุลไมได้ พอข้างใดขึ้นมา ก็ไม่เคยทำให้คนพอใจตลอดรอดฝั่ง เพราะจุดอ่อนของบ้านเรามีเยอะ การขึ้นมาอยู่ในอำนาจนานไปก็ถูกมองว่าแสวงประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ ไม่ว่าปีกไหน ที่พังมาก็เพราะคอร์รัปชั่น กับเผด็จการ แค่ 2 อย่าง

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

การจะตั้งพรรคทหารนั้นก็เป็นสิทธิเขาตามระบอบประชาธิปไตย จะไปห้ามได้อย่างไร ปัญหาคืออย่าเอาเงินหลวงมาตั้งก็เท่านั้น ถ้าเขามีการบริหารจัดการพรรคที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้และโปร่งใสก็เป็นพรรคที่ประชาชนจะดูนโยบายว่ามีอะไรดี อาจสนับสนุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าการจัดตั้งพรรคมีจุดประสงค์อะไร ตั้งใจจะทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองจริงหรือไม่ หรือตั้งพรรคเพื่อแค่เป็นเครื่องประดับทางการเมือง

Advertisement

ที่ผ่านมามีการตั้งพรรคทหารก็จริง แต่เป็นการตั้งมาเพื่อประดับบารมี ไม่ได้ตั้งมาเพื่อมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแน่ชัด ในระบอบประชาธิปไตย

การตั้งพรรคการเมืองนั้นต้องมีอุดมการณ์ที่แน่ชัดให้ประชาชนจับต้องนโยบายได้ แล้วสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ ที่ผ่านมามีการตั้งพรรคทหารแล้วก็จริงแต่ไม่ยั่งยืน เพราะอาจตั้งมาชั่วคราวเพื่อให้คนของตนได้เป็นนายกฯ แล้วก็เลิกไป

ถามว่าตั้งพรรคทหารแล้วกระแสโลกจะว่าอย่างไร คิดว่ากระแสโลกนั้นไม่แน่นอน อาจดูความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นหลัก เช่น ประชามติที่บอกว่าได้รับความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่โลกอาจมองว่าวิธีการได้มาไม่โปร่งใสก็ได้ อยู่ที่ว่าสิ่งที่คุณทำไปคืออะไร แล้วเดี๋ยวนี้ทำอะไรก็ไม่ใช่ง่ายๆ ทำอะไรก็รู้กันหมด

คิดว่าการจะตั้งพรรคทหารอย่างสง่างาม ต้องเปิดรับคนทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่ทหาร มีอุดมการณ์แน่ชัด มีนโยบายพัฒนาประเทศที่ตรงเป้าหมาย ตรงกับความต้องการของประชาชน ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นสมาชิกได้

มองว่าประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่น่าจะต้องมีการกลั่นกรองหรือมีการอบรมบุคคลก่อนจะมาเป็นสมาชิกพรรค เพื่อให้คนที่สมัครเข้าใจนโยบายและวิธีดำเนินการทางการเมืองของพรรคด้วย

 

ยอดพล เทพสิทธา - ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ยอดพล เทพสิทธา – ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่ตอบว่าการตั้งพรรคทหารเหมาะสมหรือไม่ ต้องดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในอนาคตว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร ถ้าเป็นพรรคที่ตั้งโดยทหาร แต่เป็นทหารที่เกษียณอายุราชการไม่ได้อยู่ในระบบราชการแล้ว ก็โอเค เพราะถือเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง สามารถตั้งพรรคได้ แต่ในอดีตพรรคทหาร พรรคข้าราชการ ก็มีพรรคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคของจอมพลถนอม กิตติขจร อย่างพรรคเสรีมนังคศิลา

ในอดีตพรรคทหารอย่างพรรคของจอมพลถนอม-จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ตอนนั้นต้องเข้าใจว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำเข้ามาเป็น ส.ส.และ ส.ว.ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์

เมื่อถามว่าสง่างามไหม วิธีการทำให้สง่างามคือลงเลือกตั้งและได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเยอะที่สุด และได้รับการเลือกในสภาจึงจะสง่างาม

บทเรียนในอดีตของพรรคทหารมีหลายอย่าง จอมพลถนอมเองก็เคยได้ชื่อว่าเป็นนายกฯเจ้าน้ำตา เห็นสภาพกันอยู่แล้วว่าจบไม่สวย พรรคจะประกอบด้วยอะไรไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ทีมงานมีความเชี่ยวชาญในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ อย่างพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร ในยุคแรก แม้คุณทักษิณจะเป็นนักธุรกิจแต่พรรคประกอบไปด้วยอาจารย์นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ด้าน จึงเกิดนโยบายที่คนติดใจและติดตาอย่างมาก อย่างนโยบาย 30 บาท ถ้าพรรคทหารเป็นการรวมตัวเฉพาะทหาร พูดตรงๆ ผมว่าไปไม่รอด ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นเข้ามาทำนโยบายให้

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

ตอนนี้สภาพทางการเมืองหลังการลงประชามติ เกิดกระแสมีการตีความว่าเสียงที่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเสียงสนับสนุนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในภาพใหญ่ทางการเมืองก็มีคนหลายกลุ่มที่อยากเกาะความเชื่อนี้ การตั้งพรรคผมคิดว่าเป็นช่องทางของคนที่มีความเชื่อแบบนี้ที่จะเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองภายใต้ร่มธงใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำ แล้วในหมู่คนที่ต้องการมีบทบาททางการเมือง

ฝั่งที่ต้องการอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พล.อ.ประยุทธ์มีอยู่ 2 กลุ่ม 1.คนที่เชื่อว่าตัวเองจะเข้าไปสู่ช่องทางนี้ผ่านกระบวนการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และ 2.กลุ่มที่อาจประเมินว่าตัวเองไม่สามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านทาง 250 ส.ว.ได้ คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่พูดเรื่องพรรคทหาร อาจเป็นพลเรือน นักวิชาการบางกลุ่ม หรือทหารซึ่งไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางของอำนาจในเวลานี้

คนที่อยากมีบทบาททางการเมืองขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคือคนที่พูดเรื่องพรรคการเมืองแล้วรู้ว่าตัวเองอาจไม่มีโอกาสใน ส.ว. 250 คน เลยพูดเรื่องนี้ขึ้นมา

ส่วนใหญ่แล้วการตั้งพรรคทหารในประเทศไทยไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะพื้นฐานคือการตั้งพรรคเฉพาะกิจ มักเกิดหลังการยึดอำนาจ แล้วผู้ยึดอำนาจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจเริ่มแสดงท่าทีว่าอยากจะสืบทอดอำนาจทางการเมือง เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์ของพรรคจึงเป็นเรื่องของการตั้งพรรคเฉพาะกิจทุกครั้งอยู่แล้ว โอกาสที่จะได้คนซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องกับประชาชนก็จะน้อยตามไปด้วย

การตั้งพรรคทหารทุกครั้งส่วนใหญ่ที่จะได้ คือ 1.คนที่อยากมีบทบาททางการเมือง แต่ไม่มีช่องทางเข้าสู่อำนาจทางการเมือง 2.นักการเมืองประเภทที่เป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง โดยอาจมี ส.ส.ในมือเล็กน้อย คุมคะแนนเสียง ส.ส.ได้จำนวนหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าการเข้าสู่อำนาจแบบนี้จะทำให้ตัวเองเติบโตทางการเมืองแบบทางลัด

แต่โดยภาพรวมเกิดขึ้นบนฐานการเป็นพรรคเฉพาะกิจ คนที่เข้ามาส่วนใหญ่ชัดเจนว่าเข้ามาเพื่ออยู่ภายใต้ร่มธงของผู้นำทหารที่อยากจะอยู่ต่อในทางการเมือง

การจะตั้งพรรคทหารให้สง่างามแข็งแรงต่างจากอดีต ผมคิดว่ายาก เพราะโดยธรรมชาติของการตั้งพรรคแบบนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังเกาะบารมีของผู้นำทางทหารที่มีอำนาจทางการเมืองเป็นตัวตั้ง โจทย์ในการตั้งพรรคไม่ใช่โจทย์ทางการเมืองที่มีฐานจากมวลชนเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว และวิสัยทัศน์ทางการเมืองไม่ได้เริ่มต้นจากการพยายามเอาความต้องการของประชาชน หรือมีนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่เอาเรื่องการตอบโจทย์ของผู้มีอำนาจเป็นตัวตั้ง โดยพื้นฐานโอกาสที่จะหลุดจากสิ่งเหล่านี้จึงยากมาก

มีปรากฏการณ์ที่คล้ายกันคือทุกครั้งที่มีพรรคทหารเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจะมีไม่กี่คนที่มีบทบาทเป็นผู้นำในการก่อตั้ง จะเล่นบทบาทเป็นถุงเงิน หรือสร้างภาพให้สังคมเข้าใจว่าตัวเองมี

คอนเน็กชั่นกับผู้มีอำนาจในกองทัพ กระบวนการทางการเมืองจะเป็นแบบนี้ มีคีย์แมนอยู่ 3-4 คน คนหนึ่งแสดงท่าทีว่าต่อสายกับผู้มีอำนาจในกองทัพได้ บางคนแสดงท่าทีว่าตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ บางคนแสดงท่าทีว่าเข้าถึง ส.ส.เก่าได้ คนเหล่านี้จะมารวมตัวกัน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่พื้นฐานและภาพลักษณ์ทาง การเมืองซึ่งไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image