คำชี้แจงกรธ.ปรับแก้ร่างรธน. ฉบับส่ง”ศาลรธน.”วินิจฉัย

หมายเหตุ – คำชี้แจงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม

1.ในการตั้งประเด็นเพิ่มเติม สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งประเด็นว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งถ้อยคำที่ขีดเส้นใต้ดังกล่าวเช่นเดียวกับถ้อยคำส่วนหนึ่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 159 วรรคหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติ

2.บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีบัญญัติไว้ในมาตรา 159 อันเป็นบทถาวร และมาตรา 272 อันเป็นบทเฉพาะกาล

3.มาตรา 159 ของร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ ดังต่อไปนี้

Advertisement

3.1 การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำโดยสภาผู้แทนราษฎร

3.2 บุคคลซึ่งจะได้รับความเห็นชอบต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรค

การเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 และพรรคการเมืองนั้นต้องมีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

3.3 ในการเสนอชื่อ ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

3.4 มติของสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

4.มาตรา 272 ของร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการไว้ ดังต่อไปนี้

4.1 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

4.2 หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ได้

ไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็อาจขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อจากบุคคลตามบัญชีของพรรคการเมืองได้

4.3 ในการขอยกเว้นตาม 4.2 ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อกันเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาจะต้องจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน

4.4 คะแนนเสียงที่จะยกเว้นให้ ต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

4.5 เมื่อได้รับยกเว้นแล้ว เรื่องจะย้อนกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อจากบุคคลซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

5.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่าประเด็นเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่าให้ใช้บังคับเฉพาะ “ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้” ประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้บังคับเฉพาะกาล กล่าวคือ ใช้เฉพาะห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดังนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ จึงสมควรต้องบัญญัติขึ้นให้มีลักษณะเป็นบทเฉพาะกาลเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขไว้เป็นบทถาวร ซึ่งก็สอดคล้องกับถ้อยคำในคำถามเพิ่มเติมที่ระบุว่า “สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล”

6.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่าหลักการสำคัญของมาตรา 159 นั้น บัญญัติขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการดำเนินการของสภา

ผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การดำเนินการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้โดยราบรื่น สำหรับมาตรา 272 นั้นเป็นบทเฉพาะกาลที่ใช้ในวาระเริ่มแรกเป็นการชั่วคราว และเฉพาะกรณีที่รัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 ไม่สามารถเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าได้ และประสงค์จะขอยกเว้นหลักการดังกล่าว ก็ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นผู้เข้าชื่อกันขอยกเว้น และเมื่อจะเป็นการยกเว้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงกำหนดให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่เมื่อได้รับการยกเว้นแล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไปตามมาตรา 159 สำหรับประเด็นเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดที่จะแสดงให้เห็นว่าประสงค์จะยกเว้นหลักการดังกล่าวด้วย คงมีเพียงข้อความว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” เท่านั้น ดังนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามตินั้น ต้องคงหลักการ

ดังกล่าวข้างต้นไว้ และดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกันได้เพียงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยให้ทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเท่านั้น

7.เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงเห็นควรแก้ไขมาตรา 272 โดยย้ายบทบัญญัติเดิมไปไว้เป็นวรรคสองของมาตรา 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล แล้วเพิ่มความใหม่เป็นวรรคหนึ่งของมาตรา 272 แทน ซึ่งจะทำให้มีผลดังต่อไปนี้

7.1 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 (ซึ่งมีความหมายว่า “รัฐสภาชุดแรก” ตามที่ปรากฏในคำถามเพิ่มเติม แต่ก็ได้เขียนให้ชัดเจนขึ้น) ในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา

7.2 ในการเสนอชื่อบุคคล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสนอโดยต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

7.3 บุคคลซึ่งจะได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

7.4 มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 159 วรรคสาม เพียงแต่แก้ไขจำนวนสมาชิก จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ

7.5 ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร อาจเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติยกเว้นได้ตามมาตรา 272

7.6 มติของรัฐสภาตาม 7.5 ที่จะยกเว้น ต้องมีไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในทั้งสองสภา

7.7 เมื่อได้รับการยกเว้นแล้ว จึงกลับไปดำเนินการเพื่อเสนอชื่อและให้ความเห็นชอบตาม 7.1 7.2 7.3 และ 7.4 ข้างต้นต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการพิจารณาว่าร่างเดิมเป็นอย่างไร และมีการเพิ่มเติมถ้อยคำใดขึ้นใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้จัดทำร่างในลักษณะแสดงการแก้ไขไว้ให้ปรากฏโดยข้อความที่เพิ่มใหม่จะขีดเส้นใต้ไว้ ส่วนข้อความเดิมที่ถูกตัดออกจะแสดงการขีดฆ่าไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขคำปรารภให้สอดคล้องกันด้วย โดยได้แสดงการแก้ไขไว้เช่นเดียวกัน

โดยสรุปเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเฉพาะคำปรารภและมาตรา 272 ร่างที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ

มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 268 การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image