09.00 น. INDEX ต่อยอด’ประชามติ โมเดล’สู่การเลือกตั้ง ปลายปี 2560

ไม่ว่าจะเป็นความฮึกห้าวเหิมหาญของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หรือ ของ นายวันชัย สอนศิริ
สามารถ “เข้าใจ” ได้
เข้าใจได้ว่าจะต้องก้าวเดินไปตามวิถีแห่ง “ป๋าเปรมโมเดล” ด้วยความแน่วแน่และมั่นคง
โดยไม่จำเป็นต้องตั้ง “พรรคการเมือง”
เพราะถึงไม่ตั้งพรรคการเมือง โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ก็สูงอย่างยิ่ง
สูงถึงขั้นที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยืนยัน
“ขอท้าพรรคการเมือง ต้องกล้าประกาศหาเสียงตอนเลือกตั้งกับประชาชนทั้งประเทศว่า แต่ละพรรคจะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี”
ยืนยันท่ามกลางความมั่นใจ
“เชื่อว่าพรรคการเมืองตกยุคเหล่านี้จะถูกประชาชนตบหน้าอีกครั้งช่วงปลายปี 2560”
ขอให้สังเกตคำว่า “อีกครั้ง”

คำว่าอีกครั้งที่ออกมาจากปากของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อ้างอิงอยู่ กับผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม
นั่นก็คือ 16 ล้านเสียง
เป็น 16 ล้านเสียงซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความเห็นชอบต่อ “ร่างรัฐธรรมนูญ”
หากเท่ากับเห็นชอบต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในความหมายของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จึงหมายความว่าไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมี ส.ว.จากการแต่งตั้ง 250 คนเป็นฐานเสียงอันแข็งแกร่งและมั่นคง
หากยังมี 16 ล้านเสียง

16 ล้านเสียงจึงเป็น “ผลงาน” และ “ความสำเร็จ” อันยอดเยี่ยมของ คสช.และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เท่ากับเป็นการกำราบต่อ 10 ล้านเสียง
เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า คสช.และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มี 16 ล้านเสียงอยู่ในมือ
โอกาสจึงมิใช่ของพรรคเพื่อไทย
โอกาสจึงเป็นของพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “นายกรัฐมนตรี”
นั่นหมายถึง “พรรคประชาชนปฏิรูป”
ขณะเดียวกัน นั่นหมายถึงการต่อยอด “ประชามติโมเดล” ไปสู่กระบวนการเลือกตั้งในปลายปี 2560 อีกด้วย
“ประชามติโมเดล” จีงมีความสำคัญเป็นอย่างสูง
เท่ากับชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งในปลายปี 2560 ยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศแห่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทยจึงต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัว
“นปช.” และ “คนเสื้อแดง” จึงต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัว
รับกับ “มาตรการ” เข้มเหมือนตอน “ประชามติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image