กรธ.ยื่นร่างแก้ไขต่อศาลรธน.แล้ว’มีชัย’แจง แค่เรื่องเอกสาร ยัน’ไม่ปรับแก้เนื้อหา’

นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ (แฟ้มภาพ)

กรธ.ส่งจนท.ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อศาลรธน.แล้ว “มีชัย” แจง เรียกคืนร่าง รธน. แค่เรื่องเอกสาร ยันไม่ปรับแก้เนื้อหา

เมื่อเวลา 10.45 น.วันที่ 31 สิงหาคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐสภา ได้เดินทางมายื่นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไป เนื่องจากเอกสารที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของคำร้อง จึงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับเนื้อหาที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย 1. มาตรา 272 ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่เคยเป็นมติการประชุม กรธ. เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ให้อำนาจการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นของ ส.ส.เท่านั้น ขณะที่ ส.ว.มีหน้าที่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ 2. แก้ไขคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ และ3.เอกสารคำชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับคำถามพ่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีนัดประชุมตามวาระปกติ ซึ่งการที่กรธ.เร่งนำมาส่งคาดว่าเพื่อให้ทันต่อการประชุมในวันนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะมีกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 37/1 ว่าต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงการขอเอกสารคืนจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเราหวังดีจึงส่งสำเนาเอกสารไป 20 ชุด แต่พอมีปัญหาเรื่องเอกสาร เราจึงเรียกคืนมา แล้วลงรายชื่อกำกับให้ชัดเจน จากนั้นก็จะส่งเอกสารตัวจริงกลับไปชุดเดียว ส่วนเนื้อหาที่แก้ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงยืนยันว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ สาเหตุเกิดจากทางเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนึกว่าเราเป็นประชาชนไปฟ้องคดี แต่ไม่ใช่ เพราะเราส่งหนังสือราชการตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ แต่เมื่อเกิดปัญหานี้ กรธ. จึงต้องทำให้ชัดเจนในส่วนของกฎหมายลูก สำหรับการพิจารณาในวันนี้ (31 สิงหาคม) กรธ.ได้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มาชี้แจงถึงเนื้อหาของกฎหมายลูกที่ส่งมาให้เราพิจารณา พร้อมกันนี้ กรธ.ก็ได้รับข้อเสนอแนะการร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ สำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จาก กมธ.ปฏิรูปการเมือง ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้หยิบมาพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image