บิ๊กฉัตรสั่งกยท.เร่งให้ความรู้ชาวสวนยางอีสาน-เหนือเลิกใช้กรดฟิวริกก่อนกระทบคำสั่งซื้อ

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้บริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่า ได้รับการยืนยันจากบริษัทมิชลิน และบริสโตน ผู้ผลิตล้อยางรถยนต์ระดับโลก ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของไทย และตัดสินใจพับแผนการก่อสร้างโรงงานมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในภาคอีสานหลังพบว่า กว่า80% ของพื้นที่มีการใช้สารซัลฟิวริก หรือ กำมะถัน ใส่ในน้ำยางเพื่อให้น้ำยางเซทตัวเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพและอายุการใช้งานยางล้อรถยนต์สั้นลงนั้น ว่า การใช้สารเพื่อให้ยางจับตัวเป็นก้อน หรือยางก้อนถ้วย ปัจจุบันมีการใช้สารอยู่ 3 ชนิดคือ ซัลฟิวริกหรือกำมะถัน ฟอร์มิก และอะซิติก ซึ่งในอดีตเกษตร100%ใช้ซัลฟิวริกเนื่องจากมีราคาถูก อย่างไรก็ตามการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ได้เริ่มรณรงค์ให้เกษตรกรในภาคอีสาน และเหนือที่ผลิตยางก้อนถ้วยเลิกใช้ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาโดยหันมาใช้กรดฟอร์มิกแทน เนื่องจากผลการวิจัยของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์เห็นว่ากรดซัลฟิวริก ทำให้ยางรถยนต์เสื่อมคุณภาพไวขึ้น ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเห็นความสำคัญและเลิกใช้กรดซัลฟิวริกไปแล้วกว่า 40 % ที่เหลือ 60 % ยังใช้อยู่ โดยกระทรวงเกษตรได้สั่งการให้กยท.จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรหันมาใช้กรดฟอร์มิกมากขึ้นเรื่อยๆ และลดผลกระทบที่ผู้ประกอบการอาจปฏิเสธการรับซื้อยางจากการใช้สารซัลฟิวริก

นายธีธัช สุดสะอาด ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การผลิตยางในภาคอีสานออกสู่ตลาดปีละ 7.17 แสนตัน ในจำนวนนี้เป็นยางก้อนถ้วย 5.3 แสนตัน ภาคเหนือ ผลผลิต 7.1 หมื่นตัน ซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้กรดซัลฟิวริกอยู่ ประมาณ 60 % แต่จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้เห็นถึงผลเสียของ การใช้กรดดังกล่าว คาดว่าเกษตรกรจะเลิกใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยกรดซัลฟิวริก ทำให้โรงงานผู้ผลิตล้อยางไม่รับซื้อ ยางที่ได้คุณภาพต่ำ ทำให้เครื่องจักร หน้ากรีดยาง อันตรายต่อสุขภาพ และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรควรหันมาใช้กรดฟอร์มิก แทน จะส่งผลให้ยางก้อนถ้วยที่ได้มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของโรงงาน ไม่ทำให้เครื่องจักรเสียหาย ไม่กระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

“การที่เกษตรกรยังใช้กรดซัลฟิวริกอยู่เพราะมีราคาถูกมาก ลิตรละ 20 สตางค์เท่านั้น ในขณะที่ฟอร์มิก มีราคาลิตรละ 60 บาท ดังนั้นการที่บริษัทยางรถยนต์ปฏิเสธรับซื้อ จะทำให้เกษตรกรปรับพฤติกรรมได้เร็วขึ้น ซึ่งการประกาศห้ามใช้เลย ทาง กยท.ไม่มีอำนาจจึงต้องใช้วิธรการอบรมสร้างคุณภาพยางให้ได้มาตรฐานการผลิต(จีเอ็มพี)เท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการประสานงานเบื้องต้นกับผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ยืนยันว่ายังมีแผนการก่อสร้างโรงงานยางแท่งเอสทีอาร์ 20 อยู่และยังรับซื้อยางที่มาจากทางอีสาน ในขณะที่โรงงานยางแท่งของกยท. 3 แห่งยังรับซื้อตามปกติ”นายธีธัช กล่าว
นายธีธัช กล่าวว่าจากที่บริษัทศรีตรังฯออกมาอ้างว่า2 ผู้ประกอบการยางไม่รับซื้อยางจากภาคอีสาน ในขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่กก.ละ 23-25 บาท แต่ยางแผ่นดิบ กก.50.95 บาท ลดลง 20 สตางค์ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 52.37 บาท ลดลง 40 สตางค์ และน้ำยางสด กก.ละ 49 บาทเท่าเดิมเมื่อเทียบกับราคาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม สำหรับพื้นที่การปลูกยางทั้งประเทศรวม19.6 ล้านไร่ ผลผลิต 4.4 ล้านตัน แยกเป็นเหนือ 7.8 แสนไร่ 1.13 แสนตัน อีสาน3.7 ล้านไร่ 6.8 แสนตัน กลาง 2.2 ล้านไร่ 5 แสนตัน และภาคใต้12ล้านไร่ 3.1 ล้านตัน

นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันชาวสวนยางยังนิยมใช้กรดซัลฟิวริก เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับกรดชนิดอื่น หากศรีตรังไม่ต้องการให้ใช้ก็ควรปรับเพิ่มราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 25 บาท จากปัจจุบันเกษตรกรได้รับราคาเพียงกก.ละ 19 บาทเท่านั้น ซึ่งการที่ศรีตรังออกมาอ้างถึง 2 ผู้ประกอบการยางปฏิเสธรับซื้อครั้งนี้ถือว่าเป็นแผนกดราคายางในประเทศจากที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในปีที่ผ่าน 5 เสือผู้ประกอบการยางในประเทศ มีแผนโรงงานยางแท่ง 16 แห่งทั่วประเทศ เป้าหมายในภาคอีสาน 3 โรง ซึ่งบริษัทศรีตรังฯรวมอยู่ด้วย

Advertisement

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า การสร้างโรงงานยางแท่งแต่ละแห่งจะต้องมีพื้นที่ปลูกยางรองรับอย่างน้อย 2-3 แสนไร่ ในขณะที่ภาคอีสานมีโรงงานยางแท่งกระจายอยู่ทุกจังหวัด บางจังหวัดมีประมาณ 4-5 โรง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าศรีตรังฯยังไม่ตัดสินใจลงทุนในขณะนี้ อีกทั้งในปีที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้วที่ปัตตานีวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยพื้นที่นี้ไม่มีคู่แข่ง ดังนั้นการกล่าวอ้างถึงการใช้กรดซัลฟิวริกในช่วงนี้จึงเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีกับเกษตรกรเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image