ศาลจว.ปากพนัง สั่งจำคุก 35 ปี ปรับกว่า 6 แสน หน.ขบวนการ คดีค้ามนุษย์”โรฮีนจา”

ศาลปากพนัง พิพากษาจำคุก 35 ปี ปรับกว่า 6 แสน หัวหน้าขบวนการคดีค้ามนุษย์”โรฮีนจา”

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลง เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 784/2558 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดปากพนัง โจทก์ นางสาวอาซีอาบีบี ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน โจทก์ร่วม นายสุนันท์หรือโกมิตร แสงทอง ที่ 1 นายสุริยาหรือโจ๊ก ยอดรัก ที่ 2 นายวราชัย ชฎาทอง ที่ 3 จำเลย เรื่อง ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วม ในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ซึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกสมคบกันค้ามนุษย์ โดยร่วมกันพาคนต่างด้วยชาวโรฮีนจำจำนวน 97 คนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ร่วมกันค้ามนุษย์โดยหน่วงเหนี่ยวกักขังคนต่ำงด้าวให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และใช้อำนาจโดยมิชอบเอาคนต่างด้าวลงเป็นทาส หรือให้มีลักษณะคล้ายทาส โดยนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้กระทำจนสำเร็จ เหตุเกิด ที่รัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานช่วยซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้ คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ในครั้งแรกจำเลยทั้งสามได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาของศาล แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูก ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ออกหมายขังในคดีอื่น นายประกันจึงขอส่งตัวจำเลยที่ 2 คืนและมีการออกหมายขัง จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภำคม 2559 ซึ่ง ในการสืบพยานของแต่ละฝ่ายนั้น โจทก์อ้างพยาน 69 ปาก 18 นัด สืบจริง 37 ปาก 16 นัด โจทก์ร่วมอ้างพยานและสืบจริง 7 ปาก 2 นัด ส่วนจำเลยทั้งสามอ้างพยาน 10 ปาก สืบจริง 2 ปาก 2 นัด

จากการสืบพยานพบว่า มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีที่มีการโอนเงินจากกระบวนการค้ามนุษย์หลายรายเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง เมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการขนส่งชาวโรฮีนจาจากเขตแดนชายฝั่งทะเลจังหวัดพังงา เพื่อไปยังจังหวัดสงขลา ก่อนถูกจับได้ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิด แต่ในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่อื่นในเครือข่ายการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา จึงฟัง ได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็น คนขับรถนำเส้นทางและขนส่งชาวโรฮีนจา ต่อไปยังจังหวัดสงขลา เท่านั้น อีกทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยรวมตัวกัน หรือ ร่วมกันกระทำการใดอันเป็นองค์กรอาชญากรรมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วม ในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556
จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้

Advertisement

ซึ่งศาลจังหวัดปากพนัง พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานสมคบกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท ส่วนฐานร่วมกันค้ามนุษย์บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีและเกินสิบห้าปี แต่ไม่เกินสิบแปดปีที่ถูกพาเข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ฐานร่วมกันเอาคนลงเป็นทาส ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหรือพาไป ซึ่งบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีและเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี ฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงพยายาม ส่งคนไปนอกราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียว ให้ลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมาย บทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 20 ปี ปรับ 400,000 บาท ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้าเมือง จำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท ฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นการจับกุม จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 35 ปี ปรับ 660,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือ คนต่างด้าวให้พ้นการจับกุม จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท นับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ต่อจากโทษของศาลจังหวัดตะกั่วป่า ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย ที่ 3 จำนวน 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ที่ศาลจังหวัดหลังสวน อีก 2 คดี รวม 10 เดือน 5 วัน เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 เดือน 5 วัน ปรับ 10,000 บาท ข้อหาอื่นของ จำเลยทั้งสามนอกจากนี้ให้ยก

นายสืบพงษ์ กล่าวด้วยว่า จะเห็นได้ว่าศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับคดีค้ามนุษย์ โดยคดีนี้นายยงยุทธ แสงรุ่งเรือง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 ได้มอบหมายให้นายพีระเดช ไตรรัตน์ธนวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 นั่งพิจารณา ร่วมกับองค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดปากพนัง ทุกนัด อีกทั้งยังนำระบบการพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่องมาใช้ ทำให้สามารถพิจารณาคดีแล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากคดีนี้เริ่มทำการสืบพยานเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 และสืบแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 รวมใช้เวลาในการสืบพยานเพียงห้า เดือนเศษแม้จะมีการสืบพยานกว่า 40 ปากก็ตาม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image