มีชัยยันส่งร่างตีความทำตามขั้นตอน ขู่ร่างกม.ลต.เอง หากกกต.ไม่ส่งใน2อาทิตย์

มีชัย ฤชุพันธุ์ (แฟ้มภาพ)

“มีชัย”ยัน กรธ.ทำตามขั้นตอน ม.37/1 ส่งร่าง รธน.ให้ศาลตีความแล้ว ขู่จะร่าง กม.ลต.เอง หาก กกต.ไม่ส่งมาภายใน 2 อาทิตย์

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 กันยายน ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับมายัง กรธ.ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งคำสั่งให้ กรธ.ส่งใบมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประชาชนของตน ซึ่งทาง กรธ.จะส่งเอกสารเหล่านี้ไปในภายหลัง และ กรธ.จะได้ทำคำชี้แจงและแถลงข่าวถึงกรณีนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรธ.นั้นบกพร่อง ขอเรียนว่า กรธ.ได้ดำเนินการเซ็นเอกสารตามระเบียบราชการทุกประการ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ กรธ.ต้องนำไปเป็นข้อมูลเพื่อนำไปปรับแก้เรื่องการดำเนินการของศาลต่อไป เพราะขนาดตนที่เป็นนักกฎหมายยังถูกมองว่าเข้าใจผิด ดังนั้นประชาชนที่จะไปยื่นเรื่องต่อศาลนั้นก็คงจะลำบาก เพราะต้องยื่นเอกสารไป 2 ถึง 3 รอบ ทั้งนี้ขอเรียนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีองค์ประกอบภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่เป็นอุปสรรคเรื่องขั้นตอนทางราชการและเรื่องเวลาเท่านั้น

นายมีชัยกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่ได้เริ่มนับ 1 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีความเข้าใจว่าเขามีสิทธิจะรับหรือไม่รับพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั้นระบุชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าศาลนั้นมีสิทธิหรือไม่ที่จะไม่รับพิจารณา ส่วนกรณีถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณานั้นจะทำอย่างไร ตอนนี้ตนยังตอบไม่ได้ แต่วันหลังคงตอบได้ ขอเรียนว่าการตีความของทางศาลรัฐธรรมนูญที่ตีเอกสารกลับมานั้น มีความขัดแย้งกับมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

เมื่อถามว่า นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.ก็เป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นได้มีการประสานกันกับทางศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ก็มีการคุยกัน แต่นายสุพจน์ก็ได้แต่ส่ายหน้า

Advertisement

นายมีชัยยังกล่าวถึงการพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า กรธ.ได้มีการคุยกับ กสม.ถึงเรื่องบทบาท กสม.ว่าควรจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ว่ายังไม่ได้ลงไปถึงรายละเอียดตรงนี้ ส่วนความเห็นของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอกำหนดบทเฉพาะกาลให้มีการซ้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศนั้น คิดว่าคงไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นคนละฉบับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ส่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมายัง กรธ.ทั้งๆ ที่ กรธ.ได้ทำหนังสือร้องขอไปแล้ว ดังนั้นถ้าหากอีก 2 สัปดาห์ กกต.ไม่ส่งเอกสารมา กรธ.คงจะดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดปัญหาเรื่องความไม่สมบูรณ์ของเอกสาร จากการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดไว้ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 จนถูกศาลรัฐธรรมนูญตีกลับถึง 2 ครั้ง เนื่องจากครั้งแรก กรธ.ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ยื่นคำร้อง และไม่มีการทำใบมอบฉันทะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่เดินทางไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แม้ต่อมาจะมีการส่งเอกสารกลับไปใหม่โดยให้ กรธ.ลงลายมือชื่อแล้ว แต่กลับไม่มีใบมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาทำหน้าที่แทน ทำให้ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญจนศาลรัฐธรรมนูญต้องพักการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ชั่วคราว และออกคำสั่งให้ กรธ.ส่งใบมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่รัฐสภามาดำเนินการแทนภายในวันที่ 5 กันยายน โดยวันเดียวกันนี้ทาง กรธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่รัฐสภานำใบมอบฉันทะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อ กรธ.ได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 37/1 ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันพุธที่ 7 กันยายนนี้ หลังจากการพิจารณาต้องยุติกลางคันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์เพราะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล สำหรับประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาต่อจากนี้คือ จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ และเมื่อรับไว้พิจารณาแล้วจำเป็นจะต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับมติของตุลาการทั้ง 9 คน

Advertisement

ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไม่พอใจกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 37/1 อย่างถูกต้องแล้วนั้น แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 โดยในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อที่ 17 ได้กำหนดประเภทคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยไว้ 20 ข้อ การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดอยู่ในข้อที่ 20 คือเป็นคดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการยื่นคำร้องจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในข้อ 18 ที่กำหนดการทำและยื่นหรือส่งคำร้องเอาไว้ในวงเล็บห้าว่าจะต้องลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำหรือยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณา และทำคำวินิจฉัยภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อพบว่าการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อกำหนดฯ ศาลหรือตุลาการประจำคดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ไม่มีปัญหา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในวันพุธที่ 7 กันยายนต่อไป

ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนส่งให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา โดยการประชุม กกต.วันที่ 2 กันยายน กกต.มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งนี้ กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งโครงร่างเสร็จหมดแล้ว เพื่อดูความถูกต้อง ความเชื่อมโยงแต่ละมาตรา ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย และจะทยอยเข้า กกต.พิจารณา ส่วนส่งกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับให้ กรธ.ได้เมื่อใดนั้นไม่สามารถตอบได้ แต่พยายามเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image