สปท.ถกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ด้านสื่อหวั่นถูกทุน-การเมืองแทรก

สปท.ถกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ด้านองค์กรสื่อหวั่นถูกกลุ่มทุน-กลุ่มการเมืองแทรกแซง

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….โดยมี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวรายงาน โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นตามแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สปท. รวมทั้งเป็นการสานต่องานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องการปฏิรูปสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ทำให้สื่อและข้อมูลข่าวสารอยู่ในรูปแบบดิจิทัล การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการบริการต่าง ๆ ทั้งสื่อสารมวลชนโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างของสื่อเหล่านี้ออกไปได้อีก โดยการประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อในยุคสื่อหลอมรวม ที่ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ เพื่อมากำกับดูแลสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสื่อมวลชนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน และกลุ่มผู้บริโภคสื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ได้แสดงข้อห่วงใย ในประเด็นที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ควบคุมสื่อมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเวลานี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง และฝ่ายความมั่นคงจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรสื่อมวลชนเพื่อส่งตัวแทนเข้าร่วมในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการแทรกแซงสื่อได้

โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อเนื่องจากการดำเนินงานของ สปช. แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้กำหนดให้มีการองค์กรขึ้นมาจัดตั้งองค์การสภาวิชาชีพ โดยรวมแล้วร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์ซึ่งเป็นทรัพยากรของรัฐ มาใช้กับสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งสื่อเหล่านี้มีองค์กรกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว การนำองค์การวิชาชีพตามร่าง พ.ร.บ.มาใช้น่าจะนำไปสู่การแทรกแซงโดยกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองทั้งที่สื่อควรเป็นอิสระ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับการควบคุมในลักษณะนี้ ทั้งนี้ตนมีข้อเสนอคือขอให้ กมธ.นำร่างกฎหมายที่องค์กรสื่อเคยร่วมกันทำไว้ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกามาเป็นฐานในการร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วย รวมทั้งต้องดำเนินการให้มีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญที่กำลังเตรียมประกาศใช้ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image