ผนึกกำลัง พัฒนานวัตกรรมยางพารา สู่การใช้งานจริงในประเทศ

ภาคส่วนต่างๆ ร่วมลงนามความร่วมมือ

นับเป็นก้าวสำคัญของเเวดวงยางพาราในประเทศ

เมื่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนานวัตกรรมยางพารา

เน้นการแปรรูปเพื่อนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

ที่ผ่านมามีงานวิจัยออกมามากมายไม่ว่าจะเป็นที่นอนยางพารา หมอนยางพารา หรือที่โดดเด่นมากที่สุดคือ “ถนนยางพารา” ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

โดยเฉพาะถนนยางพาราดินซีเมนต์ (Para Rubber Polymer Soil Cement) ของ มจพ. ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่สร้างถนนโดยใช้ยางน้ำยางพารา กับซีเมนต์ แล้วก็ดินลูกรังเป็นวัตถุดิบ

ในการสร้างถนนขึ้นมา โดยถนน 1 เส้น ความกว้าง 6 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้น้ำยาง 6-12 ตัน หรือ 6,000-12,000 กิโลกรัม มีต้นทุนที่ 240-280 บาทต่อตารางเมตร เทียบกับถนนคอนกรีตมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 800-850 บาทต่อตารางเมตร ส่วนถนนยางมะตอยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 350-400 บาทต่อตารางเมตร

ดร.วิษณุ เครืองาม ประธานการลงนามความร่วมมือ บอกว่า การนำยางพารามาทำเป็นถนน เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก เพราะมีต้นทุนต่ำ แต่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ยางใน ประเทศ เเละเป็นเเนวทางการระบายสต๊อกยางเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในขณะนี้ และยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศอีกด้วย

Advertisement

สอดคล้องกับ ดร.พินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ผู้สนับสนุนเเละผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ระบุว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมมือที่มีคุณค่า สร้างคุณูปการให้แก่เกษตรกรรากหญ้า และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรมยางพารา ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ และยังพัฒนาไปถึงตลาดการส่งออก โดยประเทศไทยมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในระดับต้นของโลก สามารถส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถึงปีละ 12 ล้านเส้น ซึ่งเปลี่ยนภาพจากเกษตรกรที่ขายน้ำยาง ขายยางดิบ ขายยางแผ่น เปลี่ยนมาขายล้อยางรถยนต์ มาเป็นถนนแทน ซึ่งถือเป็นความหวังของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก

บรรยากาศการเยี่ยมชมนวัตกรรมถนนยางพารา
บรรยากาศการเยี่ยมชมนวัตกรรมถนนยางพารา


ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า กยท.สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยาง โดยเฉพาะการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยางล้อ ถุงมือ ฯลฯ ซึ่งในวันนี้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างถนนยางพาราดินซีเมนต์ ที่ใช้น้ำยางสดในสัดส่วนที่มากขึ้นมาสร้างประโยชน์ โดย 1 กิโลเมตรใช้ยางพาราไปถึง 12 ตัน ทำให้ยางพาราถูกนำมาใช้มากกว่าเดิม เป็นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพทางราคายางพารา และเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง

ขณะที่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า อยากให้มีการจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการวิจัย และพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยนำเอานักวิจัยและเกษตรกรมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้การดำเนินงานวิจัย และความต้องการของเกษตรกรไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

สำหรับตัวเเทนภาคการศึกษา ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มจพ. บอกว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมยางพาราโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยว ชาญด้านยางพารา เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงกับเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปยางพารา รวมถึงอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาค เอกชน และร่วมจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไตรภาคี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราในพื้นที่ประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับถนนยางพาราดินซีเมนต์ เป็นผลงานริเริ่มวิจัยโดย ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม นักวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุและการผลิต บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ

สิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มจพ. ซึ่งมีการทำตัวอย่างถนนยางพาราสายเเรกของประเทศไทย ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี

เเละมีกำหนดการสร้างถนนสำหรับใช้งานจริง พร้อมเปิดตัวที่จังหวัดบึงกาฬ ในงานวันยางพาราบึงกาฬปลายปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image