เปิดตัว 4 เว็บไซต์นิตยสารชั้นนำในเครือ”มติชน” เดินหน้ารับใช้ผู้อ่านในโลกออนไลน์

เปิดตัว 4 เว็บไซต์นิตยสารชั้นนำในเครือ”มติชน” เดินหน้ารับใช้ผู้อ่านในโลกออนไลน์ ทั้งมติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม เส้นทางเศรษฐี และเทคโนโลยีชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ห้องประชุมอาคารข่าวสด มีการจัดงาน “Matichon Moving Forward #MagazineOnline” เปิดตัว 4 เว็บไซต์ใหม่จากนิตยสารในเครือ “มติชน” ทั้ง 4 ฉบับ คือ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม เส้นทางเศรษฐี และเทคโนโลยีชาวบ้าน โดยมีคอลัมนิสต์จากนิตยสารทั้ง 4 เล่ม และบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก อาทิ นายทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา, นายประทีป กุณาศล, นายพัฒนา นรมาศ, นายสมยศ ศรีสุโร, นายมานพ อำรุง, นายศักดา ศรีนิเวศน์, น.ส.ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา), นายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (เชฟหมี), น.ส.จิตต์สุภา ฉิน, นายจรัญ มะลูลีม, พล.ท.ดร.พงศกร รอดชมภู, นายโตมร สุขปรีชา, นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม), นายอาทิตย์ ศรีจันทร์, นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, นายไกรฤกษ์ นานา, นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, นายชานันท์ ยอดหงษ์, นายบูรพา อารัมภีร, นายกำพล จำปาพันธ์, นายกิตติกร มีทรัพย์, นายจัตวา กลิ่นสุนทร และ น.ส.นภัทร ปั้นเหน่งเพชร

ขณะที่หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งรัฐและเอกชนต่างส่งตัวแทนเข้ามาร่วมงานด้วยเช่นกัน อาทิ เอสซีจี, กรมการปกครอง, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมส่งเสริมสินค้าระหว่างประเทศ, สำนักงาน กสทช., กองทุนการออมแห่งชาติ, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ ร่วมกับคณะผู้บริหารในเครือมติชน

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวทีว่า ประเด็นที่อยากจะพูดคือเราคนทำสื่อมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1.นำเสนอเนื้อหาที่ถูกต้องเเม่นยำ มีความเป็นธรรมเเละรวดเร็ว 2.ต้องตอบสนองความต้องการของผู้อ่านหรือผู้ชมให้ได้ด้วย ทุกคนรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว สื่อกระดาษเริ่มถดถอยที่เข้ามาเเทนคือสื่อดิจิทัล เมื่อตลาดผู้อ่านไปอยู่ตรงนั้นเราก็ต้องไปอยู่ตรงนั้นด้วย จะมาขวางไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำหนังสืออ่านเอง เราทำให้คนอื่นอ่าน

Advertisement
35
นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวที

นายฐากูรกล่าวอีกว่า เรานำสถิติจาก TrueHits เป็นหน่วยงานภายในศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ทำหน้าที่นับสถิติทั่วประเทศ จะเห็นว่าสัดส่วนของเว็บไซต์ข่าวเเละสื่อ เว็บไซต์ข่าวสด เยอะที่สุดเกือบ 1 ใน 4 ของสื่อทั้งหมด ถ้ารวมกับมติชนและประชาชาติ มีผู้อ่านเกือบครึ่งของเว็บไซต์ข่าว ถ้าดูจากวันที่ 8 มกราคม 2559 เราได้เปิดงาน Matichon Moving Forward เรามั่นใจว่าข่าวสดเป็นอันดับ 1 ของเว็บไซต์ข่าวเเละสื่อ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตแบบนี้เชื่อว่าสิ้นปีมีโอกาสเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 ของประเทศได้

“ตลาดหนังสือพิมพ์เดิมตอนที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด มีคนซื้อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับรวมกันเเล้ว 2 ล้าน 2 เเสนฉบับ ทุกวันนี้ต่ำกว่า 2 ล้านฉบับ เเต่จำนวนผู้บริโภคข่าวไม่ได้น้อยลงเลย มีผู้อ่านจากเว็บไซต์เฉพาะ 10 เว็บข่าวเเต่ละวันมีผู้อ่าน 4-5 ล้านคน ดังนั้น คนอ่านไม่ได้หายไปไหน เเค่เปลี่ยนที่เท่านั้น เฉลี่ยเว็บข่าวในเครือมติชนมีผู้อ่านแต่ละวัน 1 ล้าน 5 แสน Unique IPs และถ้าดูจากสถิติเปรียบเทียบกับเว็บไซต์ข่าวด้วยกัน กราฟของทุกฉบับค่อยๆ ไต่ขึ้นมา ทุกฉบับทำฐานใหม่ขึ้นมา เช่น เว็บไซต์มติชน เมื่อเดือนมกราคม 2559 อยู่อันดับ 1 ใน 10 ของกลุ่มเว็บไซต์ข่าวเเละสื่อ เเต่วันนี้มติชนปรับฐานใหม่เข้าไปอยู่ 1 ใน 10 ของเว็บไซต์ทั้งประเทศ หรือเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจก็ขยับเข้ามาติด 1 ใน 10 ของเว็บไซต์ข่าวเเละสื่อ เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับเดียวที่เข้ามาอยู่ในเเวดวงเว็บไซต์ข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน หรือเว็บไซต์อื่นได้

“ยังมีจำนวนเเฟนเพจที่เข้ามากดไลค์ในเฟซบุ๊กที่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยอยู่ที่ 28 ล้านแอคเคาต์ จำนวนผู้ไลค์เพจข่าวสดอยู่ที่ 4 ล้านไลค์ เเต่วันนี้จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กอยู่ที่ประมาณ 38-39 แอคเคาต์ จำนวนผู้ไลค์เพจข่าวสดอยู่ที่ 9 ล้าน 5 เเสนไลค์ เเละมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ น่าจะเป็นเพราะรูปแบบการใช้งานของเฟซบุ๊ก ถ้าเราชอบดูหรือกดดูอะไรบ่อยๆ มันก็จะเลือกเอาที่เราชอบให้ดูก่อน ทางธุรกิจเรียกว่า การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน กล่าว

Advertisement

นายฐากูรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเฟซบุ๊กไลฟ์ จากสถิติยอดวิวที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ ชอบพูด ชอบคุย ชอบให้มีคนสรุปให้ฟังก่อนอ่านเอง เว็บไซต์ มติชน ข่าวสด และประชาชาติ ผลิตข่าววันหนึ่งเกือบ 500 ข่าว เดือนหนึ่งมีผู้อ่านรวมกันกว่า 50 ล้าน Unique IPs จากสถิติที่เริ่มทำเฟซบุ๊กไลฟ์ตั้งเเต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของผู้ชมคลิปในประเทศไทยสูงมากจากเมษายน 2559 จำนวน 15 ล้านวิว เดือนสิงหาคมทะลุ 60 ล้านวิวเเล้ว มาจากการไลฟ์สตรีมมิ่ง 50 ชิ้นต่อวัน

“เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ผู้บริหารเฟซบุ๊กจากนครนิวยอร์กมาคุุยกับเราที่เมืองไทย มติชนเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่เฟซบุ๊กจ้างให้ไลฟ์เพื่อทดสอบ ดูตลาด ดูพฤติกรรมผู้บริโภค ประเทศไทยมีสถิติการไลฟ์สตรีมมิ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองประเทศสหรัฐอเมริกา เเต่ถ้าเทียบจำนวนประชากรเเละจำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก สัดส่วนคนไทยสูงสุด ขณะที่จำนวนไลฟ์เยอะเเล้วเเต่ทุกไลฟ์มีคนดูมีคนกดไลค์ให้กำลังใจเต็มไปหมด ไม่แปลกใจที่หลายไลค์ของมติชนมีคนดูจำนวนมาก บางคลิปมีคนดูสดหลักเเสน มาดูที่เป็นคลิปตอนหลังอีกเป็นล้านก็มี” นายฐากูรกล่าว

นายฐากูรกล่าวว่า การทำงานในหน้าที่ของสื่อ ส่วนที่ 1.หลักการจรรยาบรรณ ความเที่ยงธรรมยุติธรรม ความถูกต้องเเม่นยำ ต้องยืนหยัดรักษาไว้ ละเมิดไม่ได้ เเต่ส่วนที่ 2 เรื่องตามใจตัวเองไม่ได้ คนอ่านอยู่ที่ไหนต้องไปตรงนั้น ไปให้เร็วที่สุด ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ การจัดงาน Matichon Moving Forward ครั้งเเรกต้องการบอกให้รู้ว่าเราเปลี่ยนจากสื่อกระดาษเข้าสู่ดิจิทัลแล้ว เราเกิดจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วันหนึ่งเราเห็นเเล้ว สื่อเหล่านี้ที่เคยรุ่งเรืองค่อยๆ ร่วงลงตามสัจธรรม ตามความเป็นไปของโลก จากผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ เราก้าวมาสู่จุดที่ 2 คือคนทำมีเดีย ผลิตเนื้อหารูปแบบกระดาษ รูปแบบดิจิทัล รายการโทรทัศน์ เเละรายการวิทยุ สื่ออะไรก็ตามที่เข้าถึงผู้อ่าน ผู้ชม ผู้บริโภค เราก็พยายามทำให้ครบทั้งหมด สำหรับเว็บไซต์ เมื่อเว็บหลักข่าวรายวัน

ข่าวธุรกิจปักหลักดีเเล้ว ก็เป็นคิวของสิ่งพิมพ์อื่น คือนิตยสาร เเต่ละฉบับตอนนี้ก็มีเเฟนเพจ

เฟซบุ๊กอยู่เเล้ว ครั้งนี้เราก็ยกทัพย้ายทุกคอนเทนต์มาลงดิจิทัลเเล้วนำเสนอในรูปแบบที่ผู้เสพสื่อต้องการ เเละมีกิจกรรมอื่นที่สามารถตอบสนองหรือสื่อสารกับผู้อ่านผู้ชมได้ทันที

33
4 บรรณาธิการ เล่าที่มาที่ไป เชิญชวนผู้อ่านสัมผัส 4 เว็บไซต์ใหม่เครือมติชน

ด้านนายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวว่า มติชนสุดสัปดาห์เป็นนิตยสารวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คุณเสถียร จันทิมาธร ผู้บุกเบิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ บอกว่า มติชนสุดสัปดาห์เหมือนร้านชำ มีครบครันหมด ตั้งแต่อาหารหลัก อาหารว่าง อาหารกินเล่น เพราะเรามีเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แล้วยังมีด้านสุนทรียะ นิยาย เรื่องสั้น บทกวี กีฬา และบันเทิง อ่านได้ทั้งครอบครัว นี่คือจุดเด่นของเรา

“มติชนสุดสัปดาห์เป็นที่รวบรวมคอลัมนิสต์ระดับชั้นนำของประเทศมากที่สุดในนิตยสารไทย กลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็มีเนื้อหาสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกดิจิทัลด้วย เราจึงนำคอนเทนต์ในสื่อกระดาษมาปรับเติมเสริมแต่งโดยคงเนื้อหาหลักไว้ ใช้จุดเด่นสื่อดิจิทัลมีวิดีโอเข้ามาประกอบ เช่น คุณธงชัย วินิจกูล เขียนบทความเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 มาหลายตอนแล้ว เราให้คุณธงชัยส่งคลิปเสียงจากวิสคอนซินมาเล่าว่าทำไมจึงเขียนเรื่องนี้ ถ้าเราปรุงรสใหม่ในเว็บ เรื่องที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาจกลับมาอยู่ในความสนใจ ทั้งเรื่องซีเรียสและเรื่องบันเทิงด้วย ขณะนี้เราพยายามนำเนื้อหาย้อนหลังไปใส่เว็บไซต์ให้ได้มากที่สุด ระยะแรกตั้งเป้าว่าย้อนหลัง 6 เดือนถึง 1 ปี แต่ในอนาคตอาจย้อนไปถึง 10 ปีก็ได้ เราจะเป็นแหล่งข้อมูลใหญ่ที่สุด” นายสุวพงศ์กล่าว

ด้านนายสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เกิดขึ้น 3 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา สุจิตต์ วงษ์เทศ ออกหนังสือศิลปวัฒนธรรม ในเวลานั้นหนังสือเชิงวิชาการเป็นหนังสือของมหาวิทยาลัยเป็นส่วนมาก คนที่สนใจอ่านเรื่องศิลปวัฒนธรรมเรื่องของประวัติศาสตร์ไม่มีเวที นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นเวทีของผู้สนใจ ส่วนจุดเด่นของนิตยสารคือความท้าทายความเชื่อที่มีมาก่อน เป็นไปเองโดยนิสัยของผู้เขียนผู้ทำ ตลอด 37 ปีที่ผ่านมาเราได้เสนอเรื่องราว เสนอหลายประเด็นที่พลิกความเชื่อ เมื่อคุณเปิดอ่านศิลปวัฒนธรรมโลกจะไม่เหมือนเดิม เเต่หลายเรื่องคงล้มทั้งหมดไม่ได้ยังมีคนเชื่อเเบบเดิมอยู่ เช่น เรื่องคนไทยไม่ได้มาจากเขาอัลไต หรือสุโขทัยไม่มีนางนพมาศ คนก็ยังเชื่ออยู่

“สำหรับเว็บไซต์ www.silpa-mag.com อาจจะไม่เหมือนกับตัวนิตยสาร เพราะคนอ่านคงอ่านบทความ 24 หน้าบนหน้าจอคอมพ์ไม่ได้ เเล้วเราเน้นว่าคนอ่านต้องสนุก อ่านเเล้วได้ประโยชน์ อาจจะพลิกความเชื่อได้ ดั งนั้น เนื้อหาบนเว็บไซต์อาจจะปรับสั้นกว่าเเละอาจจะไม่ลึกซึ้งเหมือนในนิตยสารที่เป็นกระดาษ ยังมีเรื่องของรายการทัวร์อดีตกับศิลปวัฒนธรรม รายการวิทยุ จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เเละทุกวันพฤหัสบดีเเรกของเดือนจะมีศิลปเสวนา สามารถรับชมเเละรับฟังผ่านเว็บไซต์ได้” นายสุพจน์กล่าว

 

34
นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด ร่วมรับรับฟังการเปิดตัว 4 นิตยสารใหม่บนโลกออนไลน์

น.ส.วิมล ตัน บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารเส้นทางเศรษฐี กล่าวว่า นิตยสารเส้นทางเศรษฐีก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 22 ปี นับเป็นน้องคนสุดท้องในเครือมติชน ตลอดเวลาที่ผ่านมา เส้นทางเศรษฐีมีโจทย์ที่ชัดเจนตลอดว่าเพื่อสร้างอาชีพและเสริมอาชีพให้การศึกษานอกโรงเรียน นับเป็นโจทย์ที่ดำเนินมาโดยตลอดอย่างมั่นคง ในขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

“ด้านเนื้อหาของออนไลน์ นิตยสารเส้นทางเศรษฐีมีแนวคิดชัดเจนว่าเนื้อหานั้นต้องต่างไปจากนิตยสาร เพราะเนื้อหาในนิตยสารเน้นตอบโจทย์อาชีพคนทั่วไป แต่เรามองว่าเมื่อนำขึ้นออนไลน์ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์การทำอาชีพที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน เช่น งานฟรีแลนซ์ การสตาร์ทอัพ เป็นต้น ที่ตอบโจทย์ความสนใจของพวกเขา บอก How to ทำให้เนื้อหาส่วนของเว็บไซต์นั้นชัดเจนว่าเน้นไปทางคนรุ่นใหม่และปรับไปตามยุคดิจิทัล แต่ทั้งนี้ เนื้อหาในนิตยสารที่ไม่ได้ขึ้นเว็บไซต์นั้นก็ยังมีเนื้อหาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์” น.ส.วิมลกล่าว

นายพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน กล่าวว่า นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นนิตยสารเเนวเกษตรก่อตั้งมา 28 ปีเเล้ว เนื้อหาจะนำมาจากทุกภาคของประเทศครอบคลุมทุกด้านของสาขาการเกษตร ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่วนภาษาที่ใช้นำเสนอเข้าใจง่าย เรายังเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่อยู่ในภาคต่างๆ มานำเสนอผลงานเเละเเนวคิด ขณะนี้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านจึงเป็นนิตยสารเกษตรอันดับ 1 ของประเทศไทย

“สำหรับเว็บไซต์ www.technologychaoban.com เนื้อหาที่นำเสนอส่วนหนึ่งคงเดิมโยกจากในเล่มมาลงในออนไลน์ ส่วนที่เพิ่มเติมคือการทำคลิปวิดีโอ อย่างการทำการเกษตรในหนังสือบางครั้ง

อาจจะนึกภาพไม่ออก เมื่อมีคลิปเข้ามาจะช่วยให้เห็นภาพชัด เรายังจัดคลังภาพ คลังข้อมูล เพื่อคนอ่านที่สนใจสามารถค้นหาได้ บนเว็บไซต์มีรายละเอียดเรื่องราคาสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ใหม่ที่ทำขึ้นบนเว็บไซต์ คือ “เกษตรดีๆ บนวิถีคนเดินทาง” นำเสนอการจัดงานด้านเกษตรจากจังหวัดต่างๆ เป็นเหมือนไกด์นำทางผู้อ่าน” นายพานิชย์กล่าว

ขณะที่นักวิชาการ คอลัมนิสต์ และบุคคลที่เข้ามาร่วมงาน ต่างร่วมแสดงความคิดเห็น โดยนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ของนิตยสารทั้ง 4 ฉบับ นั้นเป็นการก้าวเข้าสู่อนาคต เพื่อเพิ่มฐานผู้อ่านให้กว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทำให้นิตยสารเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้

“ก่อนหน้านี้กลุ่มเป้าหมายของนิตยสารทั้งสี่มักเป็นกลุ่มคนในวัย 30 ขึ้นไป มีเงินและมีเวลา ขณะที่เด็กเยาวชนไม่มีสิ่งเหล่านี้ หนังสืออย่างศิลปวัฒนธรรมไม่ได้มีอยู่ในห้องสมุดของทุกโรงเรียน การเข้ามาสู่โลกออนไลน์เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลต่างๆ” นายธำรงศักดิ์กล่าว

นายธำรงศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากจะเปิดโอกาสแล้วภารกิจอีกอย่างที่ต้องทำคือการทำให้ผู้คนก้าวเข้ามาค้นหาข้อมูลมากยิ่งขึ้นด้วย การเปิดโอกาสและช่องทางเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องทำให้คนสนใจและอยากที่เข้ามาศึกษามากขึ้น ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญต่อจากนี้

นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม นักเขียนชื่อดัง กล่าวว่า ปรากฏการณ์ในวันนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก เพราะเท่าที่ฟังมีข้อมูลหลายอย่างที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะการนำเอาต้นฉบับเก่าๆ มาใส่ไว้ในเว็บไซต์ ทำให้เว็บไซต์ของนิตยสารเหล่านี้กลายเป็นคลังต้นฉบับให้กับผู้คนที่สามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่สนใจได้

“การเข้ามาสู่โลกออนไลน์เป็นเหมือนการเปิดประตูให้คนรุ่นใหม่ ส่วนตัวมองว่ามันมีคุณค่าแก่คนรุ่นใหม่มากที่จะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในอดีตได้มากยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน ผ่านทางคลังความรู้ของนิตยสารทั้ง 4 เล่มนี้” นายสราวุธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image