รายงานพิเศษ ไอเดีย”ญี่ปุ่นโมเดล” กระชับพื้นที่เลือกตั้ง

กลายเป็นเรื่องฮือฮา “ไพบูลย์ นิติตระวัน” อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชงไอเดีย “ญี่ปุ่นโมเดล” ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งในเมืองไทย

เพราะการหาเสียงแบบญี่ปุ่นนั้น กกต.จะเป็นคนกำหนดสถานที่กลางในการติดรูปและประวัติผู้สมัคร ส่วนผู้สมัครจะหาเสียงอนุญาตให้มีรถหาเสียง 1 คัน และมีผู้ติดตามได้ 5 คน พร้อมไมค์ 1 ชุด และต้องไปหาเสียงด้วยตัวเอง

ระบบนี้ตอบโจทย์ คือ ไม่มีการหาเสียงให้วุ่นวาย ไม่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เป็นการสร้างความเท่าเทียม ให้ผู้สมัครที่เสียค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งน้อยที่สุด ไม่ต้องมีการแห่หรือจัดเวทีปราศรัย หรือใช้หัวคะแนนเคาะตามประตูบ้าน

ประเด็นดังกล่าว “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุว่า โมเดลญี่ปุ่นอาจเป็นเรื่องยาก หรือไม่สอดคล้องกับบริบทการเมืองไทย เพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ “established” แล้ว ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูง และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แอบอิงกับนโยบายของพรรคการเมืองอย่างเด่นชัด แน่นอน ไม่ได้ด่วนสรุปว่าผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของญี่ปุ่นจะมีความศรัทธาต่อพรรคการเมืองของตัวเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา

Advertisement

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า คนญี่ปุ่นก็เปลี่ยนความเห็นและความภักดีทางการเมืองได้ หากพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่อาจตอบสนองความต้องการทางการเมือง อย่างเช่น การลงจากอำนาจที่ครอบงำมายาวนานของพรรค LDP (Liberal Democratic Party) ในปี ค.ศ.1993 และอีกครั้งในปี ค.ศ.2009

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพียงแต่ต้องการอธิบายว่า โมเดลของญี่ปุ่นใช้แนวคิด party politics หรือการเมืองที่อิงกับอุดมการณ์และผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเป็นหลัก ดังนั้น การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอาจไม่มีความจำเป็นมากนัก อาศัยความคุ้นเคยและความภักดีของประชาชนต่อนโยบายของพรรคการเมือง ตราบที่นโยบายของพรรคการเมืองยังสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ พรรคการเมืองนั้นก็จะยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของไทยนั้น ยังไม่ได้มีพัฒนาทางการเมืองไปสู่จุดของการใช้อุดมการณ์และนโยบายของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยในการเลือกตั้ง อาจมีความพยายามจากพรรคในฝ่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พยายามจะเปลี่ยนรูปแบบการเมืองของไทยให้ไปสู่ความเป็น party politics แต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียทีเดียว

การเมืองไทยยังมีความต้องการนักการเมืองที่มีบารมี โดยผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งบางครั้งไม่ได้คำนึงถึงนโยบายของพรรค มากไปกว่าการที่พวกเขารู้จักผู้สมัครมากน้อยเพียงใด ดังเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงความเห็นส่วนที่ว่า โมเดลญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบต่อนักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก การแสดงความเห็นนี้สะท้อนว่าการเมืองไทยยังขึ้นอยู่กับบารมีหรือลักษณะส่วนตัวของนักการเมือง เป็นการเมืองที่มีลักษณะ individualistic อย่างมาก ซึ่งแตกต่างไปจากโมเดลของญี่ปุ่นที่ยึด platform ของพรรคเป็นหลัก แต่การที่มองว่าโมเดลญี่ปุ่นอาจไม่สอดคล้องกับบริบทการเมืองไทยนั้น อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์มอง นักการเมืองยังจำเป็นต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่นักการเมืองไทยจะทำเช่นนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างบารมี แต่เพื่อเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ อธิบายนโยบายพรรค สร้างความเชื่อมโยงกับผู้มีสิทธิใช้เสียงในพื้นที่ การเมืองในลักษณะแบบนี้สามารถพบเห็นทั่วไปแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา

ในกรณีของไทยที่การตื่นตัวทางการเมืองยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รณรงค์หาเสียงและผู้มีสิทธิใช้เสียงยังมีความสำคัญอย่างมาก และที่ผ่านมาพิสูจน์ด้วยซ้ำว่ามีส่วนช่วยลดปัญหาการซื้อเสียงด้วยซ้ำ เพราะประชาชนมีโอกาสเลือกรับข้อมูลจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยตรง

ในแง่ของพรรคการเมือง อาจได้ออกไปรณรงค์บ่อยครั้งจะมีผลดีในการรับข้อคิด ความเห็น ข้อวิพากษ์จากสาธารณชน เพื่อนำมาปรับเป็นนโยบายพรรคต่อไป การหันมาใช้โมเดลของญี่ปุ่นที่ไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองลงพื้นที่ แต่อาศัยกลไกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อาจจะส่งผลเสียต่อความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

ต้องยอมรับว่า กกต.ถูกวิจารณ์เสมอถึงความไม่เป็นกลางทางการเมือง หากจะเอาตามโมเดลของญี่ปุ่น กกต.จะเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลเลือกตั้งไปตามครัวเรือนต่างๆ กำหนดและจำกัดขอบเขตของการเลือกตั้ง รวมไปถึงป้ายรณรงค์หาเสียงต่างๆ เป็นการตอกย้ำการสื่อสารแบบทางเดียว แบบที่พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนในพื้นที่

อย่าลืมว่า การสื่อสารแบบทางเดียวนี้ ดังที่ปรากฏในกรณีการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา นำไปสู่คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มองว่าการรณรงค์หาเสียงอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องดี เปิดโอกาสให้นักการเมืองและประชาชนตรวจสอบซึ่งกันและกัน

หากจะมีการนำเอาโมเดลของญี่ปุ่นมาใช้จริงๆ ก็อาจจะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ ณ เวลานี้ พรรคเพื่อไทยยังประสบความสำเร็จอย่างมากในการใช้นโยบายของพรรคเป็นจุดขาย อาจจะเลยจุดที่ต้องอาศัยนักการเมืองที่มีบารมีไปแล้ว ดังนั้น แม้ไม่มีการรณรงค์จากพรรคการเมืองโดยตรง แม้พรรคเพื่อไทยจะมีนักการเมืองหน้าใหม่ แต่นโยบายของพรรคเพื่อไทยยังขายได้ จึงน่าจะได้ประโยชน์จากโมเดลญี่ปุ่น

ขณะที่ “วีระศักดิ์ เครือเทพ” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าไม่ควรลอกเลียนแบบมาทั้งหมด เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะการกำหนดโซนปิดป้ายหาเสียงของพรรคการเมือง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการนำจำนวนป้ายมาคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงควรดำเนินการให้ชัดเจนมากกว่าในอดีต แต่ไม่ควรหักดิบกำหนดห้ามในการปิดป้ายหาเสียงหรือห้ามปราศรัยเนื่องจากจะทำให้เสียบรรยากาศในการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพราะประชาชนบางส่วนอาจไม่ทราบว่ามีการเลือกตั้ง

“นักการเมืองญี่ปุ่นมีลักษณะการปราศรัยที่สุภาพ ชูนโยบายพรรคเป็นหลัก ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ที่สำคัญสาระสำคัญในกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริม

ให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้แทนในระบบพรรคมากกว่าการยึดติดกับตัวบุคคลเพื่อตัดวงจรของกลุ่มหัวคะแนนในแต่ละพื้นที่ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบอุปถัมภ์” วีระศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image