สัมภาษณ์พิเศษ “ชัยเกษม นิติสิริ” กางยุทธศาสตร์”พท.” กับกติกาที่”จำต้องรับ”

หมายเหตุ – นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์มติชนในประเด็นการวางแนวทางของพรรคเพื่อไทยภายใต้ร่าง รัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่เพิ่งผ่านการทำประชามติ และการประเมินทิศทางการขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้มีอำนาจหลังการเลือกตั้ง

– ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่เพิ่งผ่านการทำประชามติไปมองอย่างไร

รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่แปลก พิสดารกว่าทุกครั้ง คนร่างต้องถือว่าชั้นเซียน มีความรู้ความสามารถ และที่ตอบสนอง คสช.ได้ตรงเป้าที่สุดนั่นคือ การที่ คสช.วางแผนไว้แล้วว่าการปฏิรูปประเทศต้องใช้ระยะเวลานาน ในระหว่างเปลี่ยนผ่านนี้จะขอเวลาสัก 5 ปี และการปฏิรูปนั้นใช้เวลาสัก 20 ปี ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงรองรับว่า 5 ปีนี้ คสช.เอาอยู่ และการที่ให้ ส.ว.จำนวนมากมาเสริมอำนาจของตนเองนั้นความจริงแล้วไม่ใช่ 5 ปี แต่จะคาบเกี่ยวการเลือกตั้งอย่างน้อย 2 ครั้ง คือช่วง 4+4 ปีคืออย่างน้อยๆ ก็ 8 ปี บวกช่วงเตรียมการเลือกตั้งอีกเบ็ดเสร็จแล้วก็ประมาณ 10 ปี ส่วนหลังจากนั้นก็คงต้องดูกันต่อไป เพราะการที่จะคาดหมายอะไรไปถึง 20 ปีนั้นเป็นเรื่องยาก

– ในส่วนของคำถามพ่วงที่มีความพยายามผลักดันให้ ส.ว.มีอำนาจเสนอซื่อนายกฯในก๊อก 2 หาก ส.ส.เลือกกันไม่ได้

Advertisement

ต้องบอกว่า ถ้าฝืนทำไปจริงๆ ก็จะเกินกว่าที่ถามประชาชน ความจริงเมื่อถามประชาชนแล้วก็ต้องเขียนง่ายๆ ตามที่ถามประชาชน ไปเติมอะไรเข้าไปเป็นเรื่องทั้งนั้น สุดท้ายก็จะเป็นประเด็นที่ต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะเป็นการฝืนความเป็นจริง และฝืนความรู้สึกของประชาชน การใช้กฎหมายที่มีคนรู้สึกมากขึ้นทุกวันๆ ว่าเบี่ยงเบน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะทำให้ภาพยิ่งชัดขึ้น ผมคิดว่าเขาคงไม่อยากทำ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ท่านก็โดนโจมตีมามากแล้ว ถ้าจะโดนเรื่องนี้อีกเรื่องก็คงเหนื่อย

– การให้อำนาจส.ว.ในการเสนอซื่อนายกฯนั้นจะเป็นการปลดล็อกเวลาเจอทางตันได้หรือไม่

พูดง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีไซน์ออกมาครั้งนี้เป็นการทำลายพรรคใหญ่ไม่ให้มีเสียงข้างมากเด็ดขาด โดยอ้างว่ามีประสบการณ์จากครั้งที่แล้ว แต่กลับกลายเป็นการย้อนหลังที่ปล่อยให้มีพรรคเล็กพรรคน้อย และการตั้งรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทางผู้ที่มีอำนาจจะสามารถที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์การปกครองได้หากเกิดปัญหาขึ้นมา และผู้ที่สนับสนุนที่ดีที่สุดก็คือ ส.ว.ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วย แต่การเมืองมันไม่ง่าย ถึงเวลาตอนนั้นก็ต้องดูกันช็อตต่อช็อต และเป็นการเมืองที่ผมคิดว่าน่าตื่นเต้น ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องดูและต้องแก้กันไป ทางที่เขาวางไว้เขาคงจะต้องแบ่งแล้วว่าจะต้องการเดินไปทางไหน แต่อย่างที่บอก การเมืองย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป

สมมุติไม่ต้องอะไรเกิดพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันได้ ไปด้วยกันได้ แผนนี้อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ นี่เพียงยกตัวอย่าง อย่างไรก็ตามการเมืองมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะการคุยกันแล้วเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือบ้านเมืองนั้น ไม่มีใครปฏิเสธ ไม่ว่าพรรคไหนที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการที่บางครั้งตกลงกันไม่ได้ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง ซึ่งบางทีต่างคนก็ต่างมองถึงพรรคหรือพวกของตัวเอง แต่ถ้ามองบ้านเมืองเป็นหลักแล้ว คิดว่าการอยู่แบบประชาธิปไตยดีกว่าอยู่ภายใต้เผด็จการ ถ้าเห็นพ้องต้องกันอย่างนั้นทุกอย่างมันก็พูดคุยกันได้หมดแหละ แต่วันนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะคุยกัน เรื่องพวกนี้อย่าไปคิดล่วงหน้า

ผมพูดหลายครั้งแล้วว่าถ้า คสช.เข้ามาทำแล้วประชาชนถูกใจ ชอบใจ ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่น่าขัดข้อง เขาก็ทำต่อไป แต่ผมเองมีความเชื่อส่วนตัวว่าเท่าที่ผ่านมา 2 ปี กว่าแล้ว ยังมีประชาชนที่บ่นผ่านเข้าหูว่าความเป็นอยู่ไม่ดี ถูกรังแก บางทีผู้นำอาจจะมีความคิดที่ดีแต่ถ้าท่านไม่สามารถที่จะควบคุมคนที่เป็นฝ่ายปฏิบัติได้จะมีปัญหาตามมามากมายไปหมด ท่านอาจจะไม่รู้ บางทีท่านพูดแบบที่ท่านคิด แต่ท่านไม่ได้ควบคุมลงไปถึงข้างล่าง อันหนึ่งที่ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าท่านควรจะพูดถ้าไม่เป็นความจริง แต่ท่านก็อาจไม่ได้พูดในสิ่งเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้น ซึ่งท่านอาจจะไม่รู้ แล้วก็ไปสู่สาธารณะ คนก็หัวเราะเอาว่าทำไมท่านผู้นำไม่ดูให้ดีเสียก่อน ผมขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ติดใจผมมานานนั่นคือท่านจะพูดออกทีวีว่าเวลาที่เอาคนไปควบคุมตัว เอาไปปรับทัศนคติ ท่านบอกมีที่ไหนที่ไปปิดตา คลุมหัว มัดมือมีที่ไหน ไม่มี ไม่ทำ อ้าวก็ผมโดนมาแล้ว แล้วท่านจะบอกว่าไม่มีได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นอกจากนี้ที่มีคนมาบ่นกับผมมากคือท่านพยายามที่จะแก้ไขในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ นโยบายท่านดี มีการเข้มงวดกวดขัน แต่ท่านไม่ได้มองในทางตรงกันข้ามว่า การที่นโยบายท่านออกมาอย่างนี้แล้วท่านไม่ลงไปดูแลให้ทั่วถึงก็กลายเป็นเรื่องของการหาประโยชน์จากผู้ที่อยู่ข้างล่าง หาก คสช.อยากทราบรายละเอียดเรื่องนี้เชิญผมไปปรับทัศนคติได้ แล้วผมจะบอกว่าเกิดเรื่องที่ไหน อย่างไร

หัวหน้า คสช.มักพูดอยู่เสมอว่าท่านใช้กฎหมาย แต่กฎหมายนั้นมันเป็นกฎหมายของท่าน ไม่ใช่กฎหมายที่มาจากประชาชน ท่านมีอำนาจมาตรา 44 ถ้าผมเป็นรัฐบาลที่มีมาตรา 44 ผมเชื่อว่าผมทำได้อะไรได้หลายๆ อย่าง บางอย่างอาจจะสู้ท่านไม่ได้ แต่บางอย่างอาจจะดีกว่าที่ท่านทำก็ได้ ดังนั้นจึงอยากเรียนว่า ถ้าท่านสามารถควบคุมลงไปได้ลึกอีกสักนิดหนึ่ง แทนที่จะควบคุมแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะทำให้การบริหารท่านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมเรียนด้วยความหวังดี ทั้งต่อตัวท่านเอง และต่อบ้านเมืองด้วย

– หากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาแบบพิสดารพรรค พท.รับได้หรือไม่และจะเดินอย่างไร

ถ้าถามว่ารับได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ต้องรับ เพราะเราอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปฏิเสธอะไรได้ เพราะทุกคนในบ้านเมืองเขายอมรับแล้วว่าเมื่อมีปฏิวัติก็มีรัฏฐาธิปัตย์ออกรัฐธรรมนูญมา และรัฐธรรมนูญก็ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน กฎหมายลูกก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เราอาจจะแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ในที่สุดแล้วก็โหวตโดย สนช. และ สนช.ก็มาจาก คสช.เหมือนเดิม ผมจึงบอกว่า ถ้าท่านตั้งอะไรเพื่อที่จะหวังผลให้ท่านอยู่ต่อไป หรือตั้งคนที่ท่านสั่งได้เสียเป็นส่วนใหญ่มันก็ต้องเป็นไปตามที่ท่านได้วางนั่นแหละ และเป็นกติกาที่แก้ยาก แต่ถามว่าพรรคการเมืองยอมได้ไหม ต้องยอม บางเรื่องก็จำต้องยอมแม้จะไม่เห็นด้วย

– ต้องวางยุทธศาสตร์อย่างไรภายใต้กฎหมายที่ออกมาใหม่

ผมคิดว่าการปรับตัวนั้นคงต้องมีบ้าง โดยเราจะต้องดูว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร ตอนนี้ประชาชนเขาก็มองนักการเมืองไม่ค่อยดี แต่ความจริงแล้วไม่ว่าฝ่ายไหนล้วนต่างมีคนที่ดีและไม่ดี ความจริงขณะนี้ก็ไม่ได้ดีหมด แต่เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ต่างจากการเมืองที่ต้องใช้กฎหมายจริงๆ ที่ถามว่าจะวางแผนอย่างไรต่อไปผมว่าตอบขณะนี้ไม่มีความชัดเจนหรอก เพราะเราไม่รู้ว่าแต่ละเรื่องนั้นจะเดินไปทางไหน

– หลายฝ่ายบอกว่าพรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเอง ในส่วนของพรรค พท.จะปฏิรูปอย่างไรบ้าง

เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ให้พรรคการเมืองประชุมได้เราจึงยังตอบอะไรไม่ได้ แต่ต้องมีอย่างแน่นอน แต่คงตอบชัดเจนลงไปไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมากำหนดได้

– มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวทหารอาจตั้งพรรคการเมือง

ถ้าตั้งจริงผมสนับสนุนนะ โดยเฉพาะถ้าตั้งแล้วนายกฯบอกจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง อย่างไรก็แล้วแต่การเมืองที่เปิดหน้าเล่นดูดีกว่าการเมืองที่แอบๆ เล่น ต่อไปท่านก็ต้องลดทอนอำนาจของท่านไป เพราะท่านจะใช้มาตรา 44 ไปตลอดไม่ได้ แล้วท่านก็จะได้รู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร ถ้าประชาชนเชียร์ท่าน ท่านก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ยิ่งได้เกิน 50% ก็ยิ่งไม่ต้องไปพึ่ง ส.ว.ที่ท่านตั้งมาด้วยซ้ำ ประชาชนจะเห็นจากผลงานที่ท่านทำมา

– แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจจะให้คนอื่นตั้งพรรค แล้วตัวผู้มีอำนาจค่อยเข้ามารับตำแหน่ง

ก็เป็นไปได้เหมือนกัน และผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนี้มากกว่า แต่ผมว่ามันไม่สง่างาม ถ้าท่านเห็นว่าสิ่งที่ท่านทำมานั้นถูกต้องแล้ว และท่านจะอยู่ต่อไป หรือเห็นว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติท่านเอานโยบายมาประกาศกับประชาชนเลย แล้วลงมาสู้กันกับพรรคการเมืองอื่น อย่างนี้จะสง่างาม

– คิดว่า “เปรมโมเดล” ยังใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้ได้อยู่หรือไม่

ผมคิดว่าเวลามันเปลี่ยนไป อาจจะมีคนพยายามอยากจะใช้ ถามว่าเป็นไปได้ไหมก็ยังน่าคิด แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมากไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะจะวนอยู่แบบนี้ไม่จบสิ้น ควรจะให้ทุกอย่างเดินไปตามรัฐธรรมนูญ และควรจะเปิดหน้าเล่นอย่างที่ผมว่าไม่ควรหลบไป หลบมา เพราะหากเป็นอย่างนั้นก็ไม่แน่ว่าถึงเวลาแล้วเขาจะเลือกท่าน เขาอาจจะเลือกคนอื่นก็ได้

– ส่วนตัวหากการเมืองยังเป็นอย่างนี้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะลงเล่นการเมืองหรือไม่

ผมได้ตัดสินใจทิ้งทุกอย่างมา การถูกเสนอให้เป็นรัฐมนตรีผมก็ถือว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้มีโอกาสมาทำอะไรที่อยากจะทำโดยใช้ความรู้ความสามารถ จึงตัดสินใจเข้ามา แต่เมื่อเข้ามาแล้วมาเจอสภาวะการเมืองที่แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย แบ่งสี เป็นภาวะที่่ค่อนข้างเหนื่อย และหนักใจอยู่พอสมควร แต่เมื่อผมเข้ามาแล้วก็คงต้องเดินต่อไป ผมคงดูจังหวะว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าให้ผมลงเลือกตั้งผมคงไม่เหมาะ เพราะผมไม่ใช่การเมืองในเนื้อ ถ้าให้อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังอยู่ในวิสัยที่จะทำงานต่อไปได้ ถ้าได้มีโอกาสช่วยคิดช่วยทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดก็คิดว่าคงจะอยู่ และอยู่ที่นี่แหละ คงไม่ไปอยู่ที่อื่น เพราะจากการทำงานได้เห็นแนวคิด ได้เห็นอุดมการณ์ก็ตรงกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image