กกต.ส่งกม.พรรคการเมืองให้กรธ.แล้ว ไม่มีเซตซีโร่ ชูหลักการ’ตั้งยาก-อยู่ยาก-ยุบยาก’

กกต.ส่ง กม.ลูกพรรคการเมืองให้ กรธ.แล้ว ยันไม่มีเซตซีโร่ ชูหลักการ “ตั้งยาก-อยู่ยาก-ยุบยาก”

เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่าขณะนี้ทาง กกต.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้กับทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้แล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ที่ กกต.ออกแบบนั้นเป็นการนำเอาประสบการณ์ของสำนักงานฯซึ่งได้เห็นปัญหามาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้พรรคการเมืองในอนาคตและพรรคการเดิมที่เป็นอยู่เกิดความเข้มแข็ง โดยมีหลักการสำคัญคือ “ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก” ทั้งนี้ หลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีหลักการที่กำหนดขึ้นใหม่ คือ การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน และมีสาขาพรรคอย่างน้อยหนึ่งสาขาในแต่ละภูมิภาค ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ก็ดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ ไม่ต้องเซตซีโร่

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กำหนดให้สาขาพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาและเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยคำนึงสัดส่วนของชายและหญิง นอกจากนี้ นโยบายหาเสียงของพรรค กกต.กำหนดแนวทางจะต้องมาจากความเห็นที่ประชุมสาขาพรรค โดยต้องมีกรอบ 4 ด้าน คือ ที่มางบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ และความเสี่ยง และต้องส่งให้ กกต.ประกาศต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ หากไม่ได้ดำเนินการตามกรอบนี้ กกต.มีอำนาจในการสั่งยุติการใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียง และหากไม่ยอมยุติจะมีความผิดทางคดีอาญา ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองคิดนโยบายอย่างรอบคอบต่อการนำเสนอมากขึ้น มีการวิเคราะห์รอบด้าน

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนเหตุของการสิ้นสภาพพรรคการเมือง กำหนดให้การยุบพรรคจะกระทำได้เฉพาะที่มีเหตุร้ายแรง คือ กระทำการล้มล้างหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พรรคการเมืองใดไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็เป็นเหตุให้สิ้นสภาพได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมาจากการกลั่นกรองของคณะทำงาน ยอมรับว่ายังไม่มีการฟังความเห็นจากพรรคการเมือง เป็นการดำเนินการซีกเดียว ฉะนั้น อยากให้พรรคการเมืองมีส่วนให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้ส่งหนังสือความเห็นไปยัง กรธ.เพื่อให้ กรธ.ประมวลความเห็นจากฝ่ายต่างๆ

Advertisement

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนกฎหมายอื่นๆ กกต.จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยในวันที่ 13 กันยายน จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 20 กันยายน พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. และวันที่ 27 กันยายน พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถส่งให้กรธ.ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดย กรธ.สามารถเปลี่ยนแปลงได้หมดทุกเรื่อง แม้กระทั่งเซตซีโร่ ท้ายที่สุดอยู่ กรธ.จะไม่เอาเลยตามที่ กกต.เสนอก็ได้ เพราะออกกฎหมายโดย กรธ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image