ผู้ประกันตนเฮ! บอร์ดการแพทย์ยกเลิกบัญชีแนบท้าย’ทำฟัน’ ให้สิทธิ900บ.ไร้เงื่อนไข

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดการแพทย์ พิจารณาทบทวนบัญชีประกาศแนบท้าย หลักเกณฑ์สิทธิการรักษาทันตกรรมผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมตามที่มีผู้เรียกร้อง เพราะมองว่าการเพิ่มสิทธิค่าบริการทันตกรรม 900 บาทต่อปี จากเดิม 600 บาท แต่มีการกำหนดบัญชีแนบท้าย จะทำให้เป็นการจำกัดวงเงินและได้รับสิทธิที่น้อยลงนั้น ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีมติให้ยกเลิกประกาศแนบท้าย กล่าวคือ ให้ผู้ประกันตนได้สิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมได้ 900 บาทต่อปี โดยไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันจะมีการประสานหารือร่วมกับสถานพยาบาลภาครัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสังกัดภาครัฐอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือในการเบิกจ่ายตรงคล้ายๆ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยผู้ประกันตนไปใช้สิทธิทันตกรรมโดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ให้ทางสถานพยาบาลภาครัฐมาเบิกกับทาง สปส.แทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 900 บาท โดยการใช้บริการแต่ละกรณี ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน จะเป็นเกณฑ์ค่าบริการของสถานพยาบาลภาครัฐนั้นๆ อาทิ ของกระทรวงสาธารณสุข ค่าบริการจะคิดตามเกณฑ์ของกระทรวง หากค่าบริการเกิน 900 บาท ทางผู้ประกันตนจะต้องจ่ายส่วนต่างเอง

“เช่นเดียวกับ รพ.เอกชน โดยจะมีการประกาศว่า รพ.เอกชน หรือคลินิกใดสนใจเข้าร่วมก็จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของ สปส. โดยเป็นการเบิกจ่ายตรง คือ ไม่เก็บเงินผู้ประกันตนในวงเงิน 900 บาท แต่มาเบิกกับทาง สปส.เอง ทั้งนี้ ต้องมีการเปิดเผย หรือแจ้งค่าบริการกรณีต่างๆ ให้ทางผู้ประกันตนทราบก่อน เพื่อให้ทราบว่า หากเกินวงเงิน 900 บาทต้องจ่ายส่วนต่างเองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกันตนที่อาจไม่ต้องการเข้าสถานพยาบาลภาครัฐ ก็เลือกเข้า รพ.เอกชนได้ แต่ทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสิ้นสุด เพราะมติของบอร์ดการแพทย์จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหญ่ให้พิจารณาอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า” นพ.ชาตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งจะมีการยกเลิกในเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ (เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2.อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลกัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาท อุด 2 ด้าน 450 บาท 3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400 บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท 4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท

แนบท้าย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image