ประยุทธ์ หากลไกให้ความเป็นธรรมขรก.ระดับล่าง จำใจกระทำการทุจริต

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. เวลา 20.15 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เกี่ยวสถานการณ์การแก้ปัญหาคอร์รับชั่น ระบุช่วงหนึ่งว่า

จากการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ได้เห็นชอบให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) นับเป็นกลไกใหม่ ในแต่ละทุกกระทรวง มีหน้าที่ประสานงาน เร่งรัด กำกับและติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย โดยต้องทำงานประสานสอดคล้องกับ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) –ป.ป.ช.– ป.ป.ท. –สตง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยรัฐบาลนี้ ถือว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็น “วาระแห่งชาติ” การดำเนินการทุกอย่าง ต้องมิใช่เป็นเพียงแนวนโนบาย หรือเป็นแผนในกระดาษ แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ในทุกระดับ และมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา (2556 – 2558) ปัญหาการทุจริต พบความเสียหายในหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มากกว่า 200 เรื่อง คิดมูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

วันนี้ รัฐบาลนี้ทำให้สถานการณ์การทุจริตลดลงอย่างชัดเจนตามผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556 – 2558 อันดับของประเทศไทย “ดีขึ้น” ทุกๆ ปี อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ก่อนที่รัฐบาลนี้ และ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ เราอยู่อันดับที่ 102 ปัจจุบันเราอยู่อันดับที่ 76 (“ดีขึ้น” เกือบ 30 อันดับ) โดยเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามการทุจริตของ รัฐบาลคือ “คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกง ในทุกวงการ” เพราะเราต้องทำงานเชิงรุก ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง

Advertisement

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 258 รายดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัดแล้วเสร็จ จำนวน 62 ราย มีผลทางวินัยให้ไล่ออก 8 ราย พ้นจากตำแหน่ง 25 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบหน่วยงานด้านปราบปรามทุจริต เพื่อความรอบคอบและรัดกุม

อย่างไรก็ตาม ผมมีความห่วงใยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งบางทีไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือไม่ได้รู้เห็นกับการทุจริต แต่ต้องทำงานตามนโยบาย ตามคำสั่ง ไม่กล้าปฏิเสธ เนื่องจากเป็นผู้น้อย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงสั่งการในที่ประชุม คตช. ให้พิจารณาหากลไกที่เหมาะสมในการให้ความเป็นธรรม แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างเหล่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image