บทเรียนจากพม่า โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

การที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องบริหารงานในประเทศที่ทหารคุมอำนาจเด็ดขาดมา 54 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะยิ่งยากกว่านั้นอีก เมื่อรัฐบาลพลเรือนพยายามจะแก้ปัญหาที่สั่งสมมาภายใต้เผด็จการทหารที่ยาวนานอย่างนั้นให้สำเร็จ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ปัญหาดำรงอยู่ได้เป็นเวลานานๆ ย่อมจะมีหลายฝ่ายเข้ามามีผลประโยชน์ปลูกฝังในปัญหา และการแก้ปัญหาที่ล้มเหลว จนกระทั่งการขจัดปัญหาหรือเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหา ย่อมทำลายผลประโยชน์ของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่อยู่ในกองทัพ

รัฐบาลเอ็นแอลดีภายใต้กำกับของนางออง ซาน ซูจี พยายามทำเรื่องยากๆ อย่างนั้นสองเรื่อง ด้วยยุทธวิธีที่แนบเนียน เพื่อมิให้ทัตมาดอว์หรือ ทบ.พม่าขัดขวางได้ แต่จะลุล่วงไปได้หรือไม่ก็ยังคาดเดาไม่ถูก ผมอยากจะพูดถึงการกระทำสองเรื่องนั้นของรัฐบาลเอ็นแอลดีและดอว์ซู เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลพลเรือนที่จะลดอิทธิพลของกองทัพลงได้นั้น ไม่ใช่การทำตัวเซื่องๆ ตามใจทหารอย่างไม่ลืมหูลืมตา ด้วยความหวังว่าทหารจะไม่ลุกขึ้นมายึดอำนาจ แต่ต้องเริ่มที่การอ่านตัวเองให้ออกว่า พลังของตนนั้นอยู่ตรงไหน จะระดมพลังของตนส่วนไหนบ้าง เพื่อแก้ปัญหาที่ทหารทิ้งเอาไว้ โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับทหารโดยตรง เมื่อตัวเองยังไม่พร้อม

ผมคิดว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะเผชิญกับปัญหาเช่นนี้หนักหน่วงยิ่งกว่าที่เคยผ่านมา ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและแก้ยากอย่างเดียวกันกับพม่า ฉะนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ดอว์ซูกำลังทำอยู่ในพม่าจึงเป็นบทเรียนสำคัญแก่นักการเมืองไทย แม้ว่าในที่สุดแล้วดอว์ซูอาจไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ก็ได้

เรื่องแรกคือกรณีความรุนแรงทางศาสนาในรัฐยะไข่ และลุกลามเข้ามายังรัฐอื่นๆ ของพม่าด้วย ทั้งนี้ ย่อมรวมปัญหาโรฮีนจา ซึ่งเอ็นแอลดีไม่จำเป็นต้องระบุออกมาด้วย

Advertisement

ผมยอมรับว่าเคยผิดหวังกับนางออง ซาน ซูจี เมื่อพรรคเอ็นแอลดีไม่ส่งผู้สมัครเป็นมุสลิมเลย รวมทั้งไม่เอ่ยปากถึงชะตากรรมของโรฮีนจาในที่สาธารณะตลอดมา แต่เมื่อได้เห็นความพยายามของดอว์ซูในครั้งนี้แล้ว ก็เริ่มเข้าใจและเห็นใจ เพราะความรังเกียจมุสลิมลามเข้ามาในเขตพม่าแท้ ปลุกเร้าฐานเสียงของเอ็นแอลดีให้ออกมาต่อต้านมุสลิมทั่วไป (ส่วนจะมีใครอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวนี้หรือไม่ต้องทิ้งไว้ก่อน เพราะไม่สำคัญเท่าไรนัก) การไม่พูดถึงโรฮีนจาเลย และไม่ส่งมุสลิมเป็นผู้สมัครของพรรค อาจเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมที่สุด ทั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง และแสดงจุดยืนที่ไม่ถูกระแวงสงสัยเสียก่อนจะถึงเวลาจะแก้ปัญหาในอนาคต

ในฝ่ายท่าทีของทัตมาดอว์หรือกองทัพบกต่อกรณียะไข่และโรฮีนจาก็คือ รัฐธรรมนูญ 1974 ของนายพลเนวิน ไม่ได้รับให้ชาวโรฮีนจาเป็น “พลเมืองเต็มขั้น” อยู่แล้ว (รัฐธรรมนูญฉบับนี้แบ่งสถานะพลเมืองออกเป็นสามประเภท นับตั้งแต่พลเมืองเต็มขั้นไปจนถึงพลเมืองแปลงสัญชาติ พลเมืองเต็มขั้นต้องมีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ในพม่าตั้งแต่ ค.ศ.1823 คือก่อนที่อังกฤษจะยึดครองส่วนล่างไป) นี่เป็นทรรศนะที่กองทัพในปัจจุบันรับต่อมา นอกจากนี้ ในรัฐยะไข่ยังมีกองกำลังปลดปล่อยยะไข่ ARNO และองค์กรโรฮีนจายะไข่แห่งชาติ ซึ่งไม่ยอมลงนามสัญญาสงบศึกกับกองทัพ จึงถูกขจัดออกไปจากกระบวนการสร้างสันติภาพในทรรศนะของกองทัพมาแต่ต้น

แต่เมื่อชนะการเลือกตั้งจนตั้งรัฐบาลพลเรือนได้เป็นครั้งแรกในรอบ 54 ปี เวลาผ่านไปกว่าครึ่งปีมีความมั่นคงทางการเมืองระดับหนึ่งแล้ว ดอว์ซูเลือกวิธีจัดการกับปัญหายะไข่โดยการเชิญผู้มีชื่อเสียงระหว่างประเทศ มีนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาตินอกตำแหน่ง เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลพม่า ให้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อเข้าไปศึกษาปัญหาในยะไข่ แล้วทำข้อเสนอแก่รัฐบาล

Advertisement

รู้กันอยู่แล้วว่า กองทัพพม่ามีนโยบายคืนดีกับมหาอำนาจตะวันตก เพื่อเอามาคานอำนาจกับจีน (สอดคล้องกับมหาอำนาจตะวันตกก็มีนโยบายคืนดีกับเผด็จการทหารพม่าเหมือนกัน เพราะการโดดเดี่ยวพม่าจะยิ่งผลักให้พม่าต้องหันไปหาจีนและเกาหลีเหนือมากขึ้น) ดังนั้น ทัตมาดอว์จะไม่มีวันออกหน้ามาขัดขวางคนขนาดนายโคฟี อันนัน โดยตรงเป็นอันขาด เพราะเขาเป็นที่เคารพนับถือในประเทศตะวันตกเกินกว่าจะหยามเหยียดกันอย่างเปิดเผยเช่นนั้นได้

รายงานข้อเสนอของเขาก็จะมีภาษีกว่าที่รัฐบาลเอ็นแอลดีทำเองอย่างแน่นอน ยากที่จะต่อต้านคัดค้าน ยกเว้นแต่ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เช่น ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางเพียงพอ

ข่าวล่าสุดถึงวันที่เขียนบทความนี้ก็คือ มีประชาชนในยะไข่จำนวนมากออกมาต่อต้านและประท้วงในอันนันในเมืองซิตต่วย (อันเป็นเมืองหลักของรัฐ มีข้อสังเกตสองประการคือ ประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธ ได้ผ่านเหตุการณ์จลาจลระหว่างศาสนามาหลายครั้งแล้ว และอาจไม่เกี่ยวกับชาวพุทธยะไข่ในชนบท) ประเด็นสำคัญที่ประท้วงก็คือ นายอันนันเป็นคนต่างชาติ ยากที่จะรู้สถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ได้ จึงควรตั้งคนภายในทำหน้าที่นี้แทนมากกว่า

สำเนียงชาตินิยมในคำประท้วง ทำให้ยากที่จะหาใครมาคุ้มกันการศึกษาและทำงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาได้ นอกจากทหารพม่าเอง ความไม่ปลอดภัยเช่นนี้ย่อมทำให้คณะกรรมการเก็บข้อมูลในพื้นที่ได้ไม่กว้างขวาง

ผมไม่ทราบว่ากองทัพอยู่เบื้องหลังฝูงชนที่ซิตต่วยหรือไม่อย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน คนขนาดที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาฯสหประชาชาติมาแล้ว คงมีวิธีที่จะอ้อมเข้าไปหาข้อมูลด้วยวิธีอื่น ซึ่งหากไม่ถูกขัดขวางหรือขัดขวางไม่ทัน ก็จะทำให้เขาสามารถผลิตรายงานข้อเสนอที่ดูน่าเชื่อถือออกมาจนได้ ใครจะแพ้หรือชนะผมเดาไม่ถูก แต่ก็ต้องยกย่องดอว์ซูว่า เป็นการเดินหมากที่ชาญฉลาดมากๆ แม้ไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้เลย ก็จะมีความเห็นที่มีดุลยภาพที่ดีในเรื่องมุสลิม, โรฮีนจา, และความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมออกมา โดยไม่ต้องผ่านปากของเอ็นแอลดีด้วย

เรื่องที่สองคือ การประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ปัญหาความแตกแยกของชนกลุ่มน้อย จนถึงจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลกลาง เป็นปัญหาใหญ่มากของพม่า และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พม่าไม่สามารถระดมทั้งพลังคนและทรัพยากร มาพัฒนาประเทศได้อย่างทั่วถึง ซ้ำยังเป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงไปทั่วประเทศ กองทัพจับจองผูกขาดปัญหานี้มาตั้งแต่ 1962 โดยไม่เคยปล่อยวางเลย อีกทั้งใช้เป็นข้ออ้างที่จะต้องยึดอำนาจเด็ดขาดเพื่อรักษามิให้ประเทศแตกแยกล่มสลายลง

แม้ว่าในปัจจุบัน ไม่มีกองกำลังของชนกลุ่มน้อยใดที่ใหญ่พอจะคุกคามรัฐพม่าให้แตกแยกล่มสลายได้ แต่กองกำลังเล็กๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นช่องทางให้อำนาจภายนอกแทรกแซงพม่าได้ง่าย โดยการให้ความช่วยเหลือลับๆ ลือกันว่าจีนเองก็ให้ความช่วยเหลือแก่โกก้าง ยิ่งเมื่อพม่ากำลังถอยห่างจากจีนเพื่อสร้างระยะห่างที่เท่ากันระหว่างจีนและตะวันตก จีนก็อาจให้ความสนับสนุนแก่กองกำลังของชนกลุ่มน้อยได้ เช่นกองกำลังของพวกว้า ซึ่งอยู่ในเขตผลประโยชน์ของจีนโดยตรง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของพม่าเต็มไปด้วยการแทรกแซงจากประเทศอื่นผ่านกองกำลังที่รบกับรัฐบาลพม่าทั้งสิ้น แม้แต่ไทยก็เคยหนุนให้ KNU เป็นกองกำลังกันกระทบ เพราะเกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอาจได้ชัยชนะในที่สุด ไม่ต้องพูดถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐ, จีน (ทั้งคณะชาติและคอมมิวนิสต์), อินเดีย ซึ่งล้วนเคยแทรกแซงพม่ามาแล้วทั้งสิ้น

ตรงกันข้ามกับความมั่นคงของรัฐที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยเล็กลง และไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คือการขยายกองทัพไปครอบงำในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ แทบไม่มีท้องถิ่นใดที่ไม่มีค่ายทหารตั้งอยู่ไม่ไกล เล็กบ้างใหญ่บ้าง ทหารเหล่านี้แหละคือผู้บริหารที่แท้จริงในท้องถิ่น เป็นรัฐบาลที่ทำงานด้านเดียวคือควบคุม โดยไม่ต้องแจกจ่ายบริการอะไรเลย นอกจากมีอำนาจในการเก็บภาษีแล้ว (ที่จริงควรเรียกว่า “ส่วย” มากกว่า ทั้งส่วยแรงงานและส่วยสิ่งของ) ยังมีอำนาจในการควบคุมการตั้งภูมิลำเนาของประชาชน ในเขตที่ถือว่าเป็น “แนวหน้า” จะกวาดต้อนประชาชนมาอยู่ใน “นิคม” ที่ไม่ไกลจากค่ายทหาร (เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ตัดสี่อย่าง” ของนายพลเนวิน คือตัดอาหาร, ตัดกำลังคน, ตัดข่าวสารข้อมูล และตัดเงินจากกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล) แต่นิคมก็เล็กเกินกว่าจะทำเกษตรเลี้ยงตนเองได้ ฉะนั้นจึงอดอยากและต้องยอมรับงานจ้างในราคาถูก

ทั้งหมดนี้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ทหาร ตั้งแต่ระดับเล็กขึ้นไปจนถึงนายพล เพราะทหารเป็นผู้คุมการเข้าถึงทรัพยากรทุกชนิด ทหารจึงสามารถหาประโยชน์จากทรัพยากรนั้นได้ เช่น คุมเส้นทางผ่านของการขนยาเสพติด ก็สามารถเรียกเก็บค่าผ่านทางจากชนกลุ่มน้อยที่ผลิตยาเสพติดได้ ในตอนเหนือในรัฐกะฉิ่นมีหยกจำนวนมากซึ่งมีคุณภาพดีที่ตลาดจีนกำลังหิวกระหาย ทหารเปิดให้บริษัทจีนเข้ามาทำเหมืองหยก แต่เก็บค่าสัมปทานเข้ากระเป๋าตนเอง หรือเข้าถือหุ้นลมกับบริษัทจีนที่ได้รับสัมปทาน จนนายทหารส่วนใหญ่รวยไม่รู้เรื่อง (ดังงานแต่งลูกสาวที่อื้อฉาวของนายพลตันฉ่วย เป็นต้น)

“เศรษฐกิจสงคราม” คือแหล่งรายได้สำคัญที่หล่อเลี้ยงกองทัพพม่า ตั้งแต่ระดับนายพลลงมาจนถึงพลทหาร ใช่แต่เท่านั้น “เศรษฐกิจสงคราม” ยังหล่อเลี้ยงกองกำลังของชนกลุ่มน้อยด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด, ไม้, แหล่งแร่, ค่าผ่านทาง ฯลฯ ดังนั้น หากเลิกยิงกันได้ ทุกฝ่ายคงพอใจ แต่จะให้เลิก “เศรษฐกิจสงคราม” ไปเลย คงไม่มีฝ่ายใดต้องการสักฝ่ายเดียว

ดอว์ซูถือหลักว่า การประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ต้องรวบรวมทุกฝ่าย (inclusivity) แต่กองทัพยืนยันว่า กลุ่มที่ไม่ยอมลงนามในสัญญาหยุดยิง เข้าร่วมไม่ได้ รัฐบาลเอ็นแอลดีจึงต้องจัดกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็นสองกลุ่ม ที่ไม่ยอมลงนามในสัญญาหยุดยิงมีฐานะด้อยกว่านิดหน่อย แต่ที่จริงแล้วหากจะรวบรวมทุกฝ่ายจริง ก็คงมีมากกว่า 17 กลุ่มที่เข้าร่วมประชุมอีกมาก Mikael Gravers ได้รวมกลุ่ม “ชนชาติ” ที่จับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลในพม่าว่ามีถึง 40 กลุ่ม (Burma/Myanmar, Where Now?) และในความเป็นจริงอาจมีมากกว่า 40 ด้วย เพราะกลุ่มเหล่านี้แตกกันเองเป็นกลุ่มใหม่อยู่เสมอ เช่น เราคุ้นเคยกับ DKBA หรือกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ แต่หลังจากที่กลุ่มนี้ยอมลงนามหยุดยิงกับกองทัพพม่าแล้ว กลับมีอีกกลุ่มที่ไม่ยอม รวมตัวกันภายใต้ชื่อใหม่ มีพระภิกษุเป็นแกนกลาง เป็นต้น

อุปสรรคของการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ใหญ่หลวงกว่าหลัก 6 ประการที่ ผบ.ทบ.มินอ่องไหล่งตั้งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่กองทัพจะยอมได้มากนัก ดังนั้น นางออง ซาน ซูจี จึงกล่าวว่าการประชุมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความไว้วางใจระหว่างกันขึ้นเท่านั้น คงต้องทำงานและประชุมกันอีกหลายครั้ง

ทําไมจึงต้องใช้ชื่อปางโหลง ทีแรกผมก็ไม่สู้จะเห็นประเด็นนัก เพราะสัญญาปางโหลงใน 1946 ถูกชนกลุ่มน้อยส่วนหนึ่งมองว่าเป็นกลลวงของนายพลอองซานมากกว่าแผนเส้นทางไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสงบ แต่เมื่อคิดดูใหม่แล้วก็พบว่าพอมีประเด็นเหมือนกัน อย่างน้อยสองอย่าง

อย่างแรกก็คือ แม้ในสัญญาปางโหลงไม่ได้พูดชัดๆ ถึง “สหพันธรัฐ” (federation) แต่ในข้อตกลงเรื่องรัฐกะฉิ่น และชาน ทำให้เข้าใจได้ว่า การรวมอยู่ในพม่า จะเป็นการรวมในลักษณะที่พม่าเป็นสหพันธรัฐ คือแต่ละรัฐมีอำนาจในการปกครองตนเองสูงมาก แต่เพราะรัฐธรรมนูญ 1947 ไปเขียนให้สิทธิแก่รัฐชานและกะฉิ่นในการแยกตัวออกได้หลัง 10 ปี (เอามาจากรัฐธรรมนูญของโซเวียต) จึงทำให้ความคิดเรื่องสหพันธรัฐกลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว ในสมัยนายพลเนวิน ใครพูดคำนี้อาจมีความผิดด้วยซ้ำ กองทัพสนับสนุน “สหภาพ” (Union) คำนี้หากแปลเป็นไทยให้ตรงกับความหมายภาษาอังกฤษกว่าคือ “สหเอกภาพ” คือรวมหน่วยย่อยต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ไม่อาจแยกกลับไปได้อีก และด้วยเหตุดังนั้น กองทัพจึงถือเป็นเหตุที่จะเข้าไปแทรกแซงการบริหารในรัฐต่างๆ ได้เท่ากับในเขตพม่าแท้ (หรือมากกว่าเสียอีก)

ดังนั้น การใช้ชื่อปางโหลงอีกครั้งหนึ่ง จึงตอบสนองต่อชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ใฝ่ฝันจะรวมอยู่ในพม่าในฐานะรัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมากกว่า ในขณะเดียวกันก็ทำให้กองทัพพม่าเห็นว่า ตัวแนวคิดเรื่องสหพันธรัฐไม่ได้ทำให้รัฐพม่าล่มสลายลง

อย่างที่สองก็คือ สัญญาปางโหลงเป็นข้อตกลงว่าด้วยการเมือง ไม่ใช่สัญญาหยุดยิงเฉยๆ สิ่งที่กองกำลังของชนกลุ่มน้อยทั้งหลายไม่พอใจตลอดมาก็คือ กองทัพพม่าได้แต่เสนอสัญญาหยุดยิง แต่ไม่มีการเจรจาต่อไปด้านการเมือง (หรือเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม) อะไรหลังหยุดยิงอีกเลย (ดังที่กล่าวแล้วว่าคือเท่ากับรักษา “เศรษฐกิจสงคราม” เอาไว้) ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนอกจากเลิกยิงกัน แต่เหตุแห่งความไม่พอใจก็ยังดำรงอยู่ต่อไปเหมือนเดิม ฉะนั้น การใช้ชื่อปางโหลงคือการบอกเป็นนัยยะว่า รัฐบาลเอ็นแอลดีพร้อมจะแสวงหาสันติภาพบนเส้นทางที่มีการตกลงกันในเรื่องอื่นๆ นอกจากการทหารด้วย

การเปิดให้ตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่างๆ ได้แถลงบนเวที ก็คือการทำให้ปางโหลงศตวรรษที่ 21 เป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาที่รวมเอาทุกมิติของความขัดแย้งขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาทั้งหมด ซึ่งโดยตัวของมันเองหาได้ขัดแย้งกับหลัก 6 ประการที่กองทัพตั้งเป็นเงื่อนไขของการเจรจาแต่อย่างใด

รัฐบาลเอ็นแอลดีได้ระดมกำลังที่ตนมีมาใช้อย่างเต็มที่ นั่นคือ สังคมพม่าซึ่งให้การสนับสนุนพรรคอย่างท่วมท้นตลอดมา อาจเป็นพลังที่ไม่สามารถหยุดยั้งกองทัพได้เด็ดขาด แต่ก็เป็นพลังหนึ่งที่กองทัพต้องคิดหนัก เพราะกองทัพจะปล่อยให้เกิด “สี่แปด” ขึ้นอีกไม่ได้ (การปราบประชาชนอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 8 เดือน 8 ค.ศ.1988) เพราะเท่ากับบังคับให้ประเทศตะวันตกต้องโดดเดี่ยวพม่าอีก

รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในทุกสังคม มีพลังมากกว่าสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนั้นจะใช้พลังอื่นอย่างฉลาดหรือไม่ กองทัพทำได้แต่เพียงฉีกกฎหมายที่รองรับอำนาจของรัฐบาลนั้นเท่านั้น หากรัฐบาลนั้นรู้จักใช้พลังอื่นๆ อย่างชาญฉลาด กองทัพและบริวารย่อมสำนึกได้ว่า ถึงฉีกกระดาษที่ใช้เขียนกฎหมายไป แต่ยังมีพลังอื่นๆ ของรัฐบาลประชาธิปไตยอีกมาก ที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรม, เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งอำนาจปืนและรถถังฉีกไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image