คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : “เทรนนิ่ง คาเฟ่”คาซัคสถาน ฝึกผู้ป่วยทางจิต

AFP PHOTO / Vyacheslav OSELEDKO

มองผ่านๆ “เทรนนิ่ง คาเฟ่” ก็อาจจะเหมือนกับร้านอาหารทั่วๆ ไปในเมืองอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน ประเทศในอดีตของสหภาพโซเวียต

หากแต่ความเป็นจริงแล้ว คาเฟ่แห่งนี้มีความพิเศษกว่าร้านอาหารอื่นทั่วๆ ไป ตรงที่ “พนักงาน” ที่ทำงานในร้าน 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยของสถาบันจิตเวชในเมืองอัลมาตี!

เป็นหนึ่งในหนทางที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชในเมืองใหญ่แห่งนี้ ได้มีโอกาสในการทำงานในเมืองใหญ่แห่งนี้มากขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลคาซัคสถานจะพยายามยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของผู้ทุพพลภาพ หากแต่ยังคงต้องต่อสู้กับทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของผู้พิการในสังคม

Advertisement

เหตุเพราะในยุคโซเวียตนั้น ผู้คนที่เริ่มมีปัญหาทางการรับรู้ มักจะถูกส่งตัวไปยังสถาบันจิตเวช ส่วนผู้ที่ป่วยหนัก บางครั้งถึงกับถูกกักตัวไว้ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด

ดังนั้น ในปัจจุบันผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต หรือพิการ จึงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ให้ได้รับการศึกษา รวมไปถึงการรับเข้าทำงาน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ในสถาบันจิตเวชของเมืองอัลมาตี มากถึงกว่า 700 คน ในเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 1.5 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังที่

Advertisement

ลงทะเบียนไว้ราว 200,000 คนทั่วประเทศ จากประชากรที่มีอยู่ทั้งหมดราว 17 ล้านคน

และตัวเลขจากรัฐบาลคาซัคสถาน แสดงให้เห็นว่าทั้งประเทศมีผู้พิการที่ถูกว่าจ้างให้ทำงานเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การที่ร้านเทรนนิ่ง คาเฟ่ เปิดรับสมัครพนักงานที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ป่วยที่มีโอกาสอันน้อยนิดอยู่ในสังคมแห่งนี้

โดยร้านเทรนนิ่ง คาเฟ่ แห่งนี้เป็นร้านอาหารคาซัคสถาน และรัสเซีย ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิโอเพ่น โซไซตี้ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย นายจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มของ นายทามารา ดูเซโนวา รัฐมนตรีสาธารณสุขคาซัคสถาน ที่ต้องการหาช่องทางในตลาดแรงงานให้แก่ผู้ป่วยทั้งหลายในประเทศ

เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเปิดโอกาสให้แก่ผู้พิการในประเทศ ขณะที่คาซัคสถานเองพยายามส่งเสริมกีฬาคนพิการอย่างจริงจัง ระหว่างการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ฤดูหนาว ปี 2022 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่จีน

กระนั้นก็ตาม เรื่องของคนพิการก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น และรัฐบาลพยายามหาทางช่วยเหลือผู้พิการให้ได้มีการศึกษา มีงานทำ

และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลคาซัคสถานประกาศว่า ปีที่แล้วมีผู้พิการกว่า 4,400 คน ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน

ถือเป็นอีกความก้าวหน้า ในการช่วยเหลือผู้พิการ ให้ได้มีโอกาสในสังคมมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image