พบวิธีใช้ “โปรตีน” บ่งชี้อัตลักษณ์คู่ “ดีเอ็นเอ”

(ภาพ-GlacierNPS/Wikimedia Commons)

ทีมนักวิจัยจาก ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการวิจัยที่นำไปสู่การใช้องค์ประกอบของโปรตีนจากเส้นผมในการบ่งชี้อัตลักษณ์บุคคล ได้ผลแม่นยำกว่า การบ่งชี้ด้วย “ดีเอ็นเอ” สามารถใช้บ่งชี้ตัวบุคคลเพียง 1 คนจากจำนวนคน 1 ล้านคนได้

แทคติคใหม่นี้ใช้วิธีการตรวจสอบหา “เครื่องหมายกำกับเชิงพันธุกรรม” (เจเนติค มาร์กเกอร์) ที่ปรากฏอยู่ในโปรตีนในเส้นผม ซึ่งเกิดการกลายพันธุ์ในระดับโมเลกุลและทำให้เจเนติค มาร์กเกอร์ ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป และให้ความแม่นยำในการชี้ตัวคนได้สูงมาก จนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้เป็นแทคติคใหม่ในงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ได้ แทนที่จะใช้การชี้ตัวบุคคลด้วยการเทียบเคียงดีเอ็นเอเพียงอย่างเดียว

ทีมวิจัยทดลองวิธีการนี้ด้วยการใช้ตรวจสอบเส้นผมเพื่อบ่งชี้ตัวบุคคล 6 คนซึ่งเคยใช้ชีวิตชีวิตอยู่ในลอนดอนในช่วงทศวรรษ 1750 ซึ่งร่างกายเน่าเปื่อยไปหมดแล้วหลงเหลือเพียงโครงกระดูก แต่ยังคงมีเส้นผมหลงเหลืออยู่ นอกจากนั้นยังทดลองใช้วิธีเดียวกันนี้ชี้ตัวบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ 76 ราย ซึ่ง 66 คนในจำนวนนี้เป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายจากภาคพื้นยุโรป อีก 5 คนเป็นชาวเคนยา อีก 5 คนเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน ผลลัพธ์ที่ได้มีความแม่นยำสูงจนน่าพอใจทั้งในการบ่งชี้อัตลักษณ์ของกลุ่มตัวอย่างที่เสียชีวิตไปนานแล้ว และกลุ่มตัวอย่างที่มีชีวิตอยู่

แทคติคใหม่นี้ถูกเรียกว่า “โปรเทโอมิคส์” ซึ่งเป็นการบ่งชี้ตัวบุคคลโดยอาศัยโปรตีนเป็นพื้นฐานที่แบรด ฮาร์ท ผู้อำนวยศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ แห่งลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มพัฒนา แต่ในที่สุดจะกลายเป็นกรรมวิธีที่พลิกโฉมหน้าวงการนิติวิทยาศาสตร์ แม้ว่ายังจำเป็นต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนเพื่อให้แทคติคใหม่นี้สามารถนำมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ

Advertisement

ในรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวิธีการจำแนกเจเนติค มาร์กเกอร์ 1,000 ตัวที่อยู่ในโมเลกุลของเส้นผม มาร์กเกอร์ดังกล่าวเป็นการกลายพันธุ์ในระดับโมเลกุลของโปรตีน ซึ่งทำให้มาร์กเกอร์ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป และสามารถการันตีได้ว่าวิธีนี้ใช้แยกตัวคน 1 คน จากจำนวนคน 1 ล้านคนได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างเช่นคณะทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ชี้ว่า แทคติคนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่บางประการ ที่สำคัญก็คือ ยังไม่มีใครรู้ว่าโปรตีนที่นำมาใช้เพื่อตรวจหามาร์กเกอร์เหล่านั้นสามารถเปลี่ยน แปลงไปตามผลกระทบจากภาวะแวดล้อมได้หรือไม่และอย่างไร นอกจากนั้นยังไม่มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมมาร์กเกอร์ของโปรตีนจึงมีความแตกต่างจนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพราะแม้แต่มาร์กเกอร์โปรตีนของฝาแฝดแท้ (ไอเดนติคอล ทวิน) ก็ยังแตกต่างกัน แต่มีดีเอ็นเอเหมือนกัน

แต่จุดอ่อนดังกล่าวนี้หากได้รับการศึกษาวิจัยให้ได้คำตอบที่แน่ชัดก็จะยิ่งทำให้เกิดความแม่นยำในกรรมวิธีพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากวัสดุชีวภาพได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ในรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า นอกเหนือจากโปรตีนในเส้นผมแล้วยังสามารถบ่งชี้มาร์กเกอร์จากโปรตีนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน อาทิ จากกระดูก, โปรตีนจากรูขุมขน และฟัน และกำลังพัฒนาการบ่งชี้ดังกล่าวเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคตโดยเฉพาะในกรณีของฟันกับกระดูก

Advertisement

ผลงานการค้นพบดังกล่าวนี้ อาจสามารถนำมาใช้แทนที่การตรวจสอบเปรียบเทียบดีเอ็นเอได้ในอนาคต หรือไม่ก็อาจใช้ตรวจสอบคู่กันไปเพื่อความแม่นยำ

จุดเด่นของแทคติคใหม่นี้นอกเหนือจากความแม่นยำแล้ว ยังเป็นกรรมวิธีบ่งชี้อัตลักษณ์บุคคลที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและทำได้รวดเร็วกว่าการตรวจดีเอ็นเออีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image