6 อาสาสมัครทำสถิติ ใช้ชีวิตบนดาวอังคารจำลอง

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาสาสมัคร 6 ราย ประกอบด้วย นักฟิสิกส์, นักบิน, สถาปนิก, ผู้สื่อข่าว และนักปฐพีวิทยา ซึ่งมีสุภาพสตรีรวมอยู่ด้วย 2 คน เสร็จสิ้นการใช้ชีวิตอยู่ในโดมที่จำลองสภาพแวดล้อมให้เป็นเหมือนการใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารนาน 1 ปี ทำสถิติการใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในสภาพจำลองของดาวอังคารนี้ยาวนานที่สุด ตามโครงการศึกษาวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่เตรียมส่งมนุษย์ไปลงยังดาวอังคารในปี 2030 ที่จะถึงนี้

โครงการซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากนาซาดังกล่าวนี้เรียกว่า “ไฮ-ซีส์” หรือ “โครงการสำรวจอวกาศจำลองและเสมือนจริงแห่งฮาวาย” ซึ่งออกแบบมาเพื่อทดสอบผลของการใช้ชีวิตโดดเดี่ยวอยู่ในพื้นที่จำกัดขนาด 36 คูณ 20 ฟุต ภายในโดมเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับนำไปใช้เทียบเคียงกับภารกิจสำรวจดาวอังคารโดยมนุษย์ โครงการทดลองครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 และเป็นครั้งที่ใช้เวลายาวนานที่สุดคือ 1 ปีเต็ม (สองครั้งแรกใช้เวลา 4 เดือนและ 8 เดือนตามลำดับ) พื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโดมดาวอังคารจำลองดังกล่าวอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟใกล้กับ มาอูนา โลอา ภูเขาไฟบนเกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกเจาะจงเลือกเป็นพิเศษเนื่องจากมีสภาพพื้นผิวคล้ายคลึงกับพื้นผิวบนดาวอังคารมากที่สุด

อาสาสมัครทั้ง 6 ราย จำเป็นต้องตัดขาดจากโลกภายนอก สามารถติดต่อกับคนอื่นๆ ได้เพียงผ่านอีเมล์ ซึ่งมีระบบควบคุมหน่วงเวลาให้ล่าช้ากว่าเวลาจริงอยู่ 20 นาที เพื่อจำลองสภาพการสื่อสารจริงๆ ระหว่างโลกกับดาวอังคารซึ่งกว่าสัญญาณวิทยุจะส่งถึงกันได้ต้องใช้เวลา 20 นาทีดังกล่าว นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีทรัพยากรใช้จำกัด ทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ ต้องนำเข้าไปภายในโดมตั้งแต่วันแรกรวมถึงข้าวของใช้เล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นเทปกาว เป็นต้น ในส่วนของอาหารจะมีการเติมเสบียงให้ทุกๆ 4 เดือน ยกเว้นน้ำจะมีการนำส่งให้ทุกๆ 2 เดือน

อาสาสมัครที่ถูกสมมุติเป็นลูกเรือของยานอวกาศทั้ง 6 คน สามารถออกจากโดมได้ภายใต้ข้อแม้ว่า จำเป็นต้องสวมชุดนักบินอวกาศที่หนักอึ้งเท่านั้น ในเวลาเดียวกันก็มีเหตุการณ์ที่เป็นการจำลองสภาวะฉุกเฉินต่างๆ เป็นระยะๆ ตั้งแต่จำลองเหตุการณ์พลังงานไฟฟ้าถูกตัดขาดกะทันหัน, ภาวะอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้พังเสียหาย เรื่อยไปจนถึงการจำลองการอพยพออกจากโดมกะทันหันเพื่อหลีกเลี่ยงคลื่นกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น

Advertisement

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาผู้รับผิดชอบในโครงการไฮ-ซีส์ กำลังเริ่มกระบวนการประมวล จัดเก็บข้อมูลสำหรับนำไปวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากโครงการเดียวกันใน 2 ครั้งแรก โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่ผลกระทบในเชิงจิตวิทยาจากสภาวะโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นกับลูกเรือของยานสำรวจดาวอังคารจำลองทั้งหมด

ชีวิตบนดาวอังคาร1

 

Advertisement

หลังจากนั้นทางนาซาเตรียมทดลองในทำนองเดียวกันนี้อีก 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2017 ที่จะถึงนี้ โดยตั้งเป้าจะเก็บข้อมูลที่ต้องการให้ได้มากที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งนักบินอวกาศและนักวิทยาศาสตร์ไปลงยังดาวอังคาร ภายในปี 2030 นี้

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มโครงการ นาซาอนุญาตให้ทีมงานถ่ายทำสารคดีของนักศึกษาระดับปริญญาเอกแผนกภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เข้าไปถ่ายทำการเริ่มต้นเข้าไปใช้ชีวิตภายในโดมจำลอง พร้อมสัมภาษณ์อาสาสมัครสตรี 2 รายเมื่อปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันลูกเรือแต่ละรายก็ได้รับกล้องถ่ายภาพยนตร์ไว้ประจำตัวสำหรับถ่ายกิจกรรมการใช้ชีวิตของตนเองและเพื่อนร่วมทีมตลอดทั้งปี ก่อนที่ ลอเรน เดฟิลิปโป กับ แคเธอรีน กอร์ริดจ์ สองนักศึกษาเจ้าของโครงการถ่ายทำสารคดีครั้งนี้จะนำมาตัดต่อ ถ่ายทำสัมภาษณ์เพิ่มเติม

เพื่อนำออกฉายเป็นภาพยนตร์สารคดีชื่อ “เรด เฮเว่น” ตามชื่อโครงการในปี 2018 นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image