‘กม.เลือกตั้งส.ส.’ ฉบับแจกใบ’ส้ม-แดง-ดำ’

หมายเหตุ – พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ กกต. ในการพิจารณาส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

กกต.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำไปประกอบการพิจารณาภายในวันที่ 16 กันยายนนี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้เอง เพิ่มค่าการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตจากเดิมคนละ 5,000 บาท เป็น 10,000 บาท เพิ่มช่องทางรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ควบคู่กันกับวิธีปกติ ผู้สมัครต้องติดป้ายตามขนาดและในพื้นที่ที่ กกต.กำหนดเท่านั้น พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องดีเบตนโยบายต่อสาธารณะ ส่วนการคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมจะยึดตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ที่จะมีปัญหาคือในส่วนของการปรับสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้อยู่ในกรอบ 150 คน ตามเจตนารมณ์ของ กรธ.ใช้วิธีการเทียบบัญญัติไตรยางค์ ทั้งนี้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออาจมีการเปลี่ยนแปลง กรณี กกต.ยังไม่ประกาศผลในส่วนร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ภายใน 1 ปี ซึ่งหากมาคำนวณในภายหลังอาจทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปแล้วซึ่งอยู่ในลำดับท้ายๆ ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าพ้นระยะเวลา 1 ปี ไปแล้วจะไม่มีการคำนวณแต่อย่างใด

ส่วนการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งไม่สุจริต ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งนั้น กกต.สามารถสั่งระงับสิทธิรับสมัครหรือใบส้มได้เป็นเวลา 1 ปี โดยมติ กกต. ถือเป็นที่สุด พร้อมกับสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ ส่วนหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กกต. สามารถเสนอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือใบแดง มีระยะเวลา 5-10 ปี แล้วแต่ความผิด ส่วนกรณีเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือใบดำ มีการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการทำประชามติ และยอมรับว่าควรจะมีบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … แต่เนื่องจาก กกต.เห็นว่า ยังมีความไม่ชัดเจนว่า กรธ.มีเจตนาที่จะให้หมายถึงความผิดลักษณะใดบ้าง จึงยังไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวฯ แต่จะมีข้อสังเกตและไปหารือกับ กรธ.ในวันที่ 19 กันยายนอีกครั้งหนึ่ง

เดิมคณะทำงานการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ของ กกต. คิดว่าจะเอาโทษตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.2554 ไปใส่ไว้เป็นลักษณะความผิดที่จะเข้าข่ายใบดำ แต่ยังไม่ชัดเจนเพราะการจำแนกโทษระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกับการเพิกถอนสิทธิรับสมัครนั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งอำนาจในการร่างกฎหมายลูกเป็นของ กรธ. จึงอยากหารือเพื่อหาความชัดเจนก่อนและให้ กรธ.เป็นผู้กำหนดลักษณะความผิดที่จะเข้าข่ายใบดำไว้ในกฎหมายลูกเอง แต่ยอมรับว่าหากไม่มีการกำหนด ในทางปฏิบัติเมื่อเกิดการทุจริตและ กกต.ต้องเสนอต่อศาลเพื่อให้ลงโทษ กกต.ต้องระบุว่าจะให้ศาลลงโทษความผิดใดระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิรับสมัคร

Advertisement

แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะโดนโทษใดตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 98 (11) ที่กำหนดว่า ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการองค์กรอิสระตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image