อ่านเต็มๆ สรุปเสวนา “10 ปีรัฐประหาร 49 เราก้าวไปข้างหน้า?” ก่อนยุติช่วงท้ายหลัง “แทนคุณ” ถูกโห่

"ใบตองแห้ง" และ วริษา สุขกำเนิด (ภาพจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 กันยายน ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่(NDM) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และ กลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว ได้จัดกิจกรรม “ย่ำหยุดอยู่กับที่ 10 ปี สังคมไทย” โดยมีการจัดนิทรรศการครบรอบ 10 ปีการรัฐประหาร 2549 พร้อมเวทีเสวนา “10 ปีรัฐประหาร 49 เราก้าวไปข้างหน้า?”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มผู้จัดได้มีการแจกสูจิบัตรนิทรรศการ ประกอบไปด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่ 1.10 ปีรัฐประหาร 2.ศาลพระภูมิภิวัฒน์ 3.วังวนประเทศไทย 4.ขอเวลาอีกไม่นาน 5.วันวานที่สูญเปล่า ท่ามกลางประชาชนและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานจนเต็มพื้นที่ห้องประชุม

ทั้งนี้ก่อนงานเสวนาได้การปาฐกนำโดย นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า วันที่จะถึงไม่ใช่วันที่ควรเฉลิมฉลอง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความจริงแล้ว10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการย้ำอยู่กับที่แต่เป็นการถอยหลังครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย

ภาพจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (ภาพจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

“ประเด็นที่หนึ่ง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ถูกผลักดันโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่มีความคิดเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในช่วงเวลานั้นฝ่ายทหารเองกลับเป็นฝ่ายที่ลังเลใจที่จะทำรัฐประหารเสีย ด้วยซ้ำ เพราะมีข้อเรียกร้องในการทำให้ทักษิณออกจากอำนาจตามระบบประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชนิดเบ็ดเสร็จ”

Advertisement

สุธาชัย กล่าวว่า ในช่วงเวลานั้นทุกคนรู้ดีว่าเป็นวิธีการที่ล้าหลัง และไม่มีประเทศไหนยอมรับ เป็นสิ่งที่ทำให้ทหารลังเลใจ แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับผลักดันอย่างจริงจัง
ดังนั้นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นจึงเป็นการรัฐประหารที่ฉุกละหุกเป็นรัฐประหารที่ไม่มีแผนงาน เป็นการรัฐประหารเฉยๆ และเชิญฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้ามาดำเนินการจัดการประเทศตามที่เขาต้องการ

“หากมองย้อนหลังเป้าหมายที่ทำในช่วงปี 49 คือ ความพยายามในการเว้นวรรคประชาธิปไตยและจัดการฝ่ายทักษิณ และจึงเปิดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าฝ่ายทักษิณจะไม่สามารถกลับมาชนะได้ ทั้งการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการจัดการกับพรรคไทยรักไทย จัดการกับสมาชิกพรรค และเลือกตั้งตามกติกาที่พวกเขาควบคุม”

นายสุธาชัย กล่าวอีกว่า แต่สิ่งที่เขาไม่คาดคิดมาก่อนคือเขาประเมินความนิยมของประชาชนที่มีต่อ ทักษิณ ต่ำเกินไป การลดคะแนนนิยมกลับเป็นการเพิ่มคะแนนนิยม นี่จึงเป็นความล้มเหลวของฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือการทำลายภาพลักษณ์ของทักษิณไม่สำเร็จ

Advertisement

“ดังนั้นการเลือกตั้ง 2 หนในช่วงสิบปี ฝ่ายทักษิณจึงชนะทั้งสองครั้ง มันจึงนำมาสู่ความต้องการที่จะต้องใช้มาตรการเด็ดขาดมากยิ่งขึ้นในการจัดการ ฝ่ายทักษิณ จึงมาสู่การรัฐประหารครั้งที่สองที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นคือปัญหาตลอดทั้ง 10 ปี ก็ยังไม่จบ เป็นวิกฤตที่ความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุดในสังคมไทย” นายสุธาชัยกล่าว

นายสุธาชัย กล่าวอีกว่า แต่ที่สุดแล้วการรัฐประหารกลับไม่ใช่เป็นการจัดการฝ่ายทักษิณ แต่เป็นการจัดการฝ่ายประชาธิปไตยไปด้วย พวกเขาได้ทำให้การโค่นทักษิณกับการโค่นประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเพราะเขาแยกไม่ออกระหว่างประชาธิปไตยกับทักษิณ ดังนั้นมันจึงทำให้เกิดการเมืองที่ย้อนยุคล้าหลัง ถอยหลังเข้าคลองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“ความระแวงจากผีทักษิณที่สร้างขึ้นมาเอง ทำให้พวกเขาหวาดระแวงรัฐสภา การเลือกตั้ง และกลัวนักการเมือง มองว่านักการเมืองทุกคนเป็นคนชั่วไปทั้งหมด เมื่อเขามองเช่นนี้ เขาจึงมองว่าระบอบประชาธิไตยที่เปิดให้นักการเมืองขึ้นมาเป็นระบอบที่ชั่วไป ด้วย”นายสุธาชัยกล่าว

นายสุธาชัยกล่าวอีกว่า แต่นักการเมืองที่เขามองเป็นมุมมองที่แคบ มองนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เขาจึงนำระบบข้าราชการเข้ามาบริหารประเทศ 10 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นการเอาระบบราชการเข้ามามากยิ่งขึ้น มันจึงทำให้เกิดความล้าหลังในการบริหารจัดการ

“ท้ายที่สุดมันทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในที่สุดความเสียหาย 10 ปี นั้นไปลงที่เศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอยที่ค่อนข้างยาว ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและทหารไม่สามารถแก้ไขได้แต่ปากแข็งไม่ยอมับ ดังนั้นผลร้ายจะกลับมาสู่ประชาชนเนื่องจากการลงทุนของต่างชาติตกต่ำอย่าง หนัก ประเทศไทยไม่่น่าลงทุนอีกต่อไป เพราะไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง”

นายสุธาชัย กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังถอยหลังครั้งใหญ่ และถอยอย่างชนิดที่จะไม่รู้สว่าเมื่อไรเราจะก้าวหลับมา และประเทศอื่นจะคอยเราอยู่หรือไม่ หากชนชั้นนำยังไม่สำนึกและเปิดให้มีประชาธิปไตยสากล แก้ไขปัญหาอย่างมีอารยะ เราก็จะก้าวถอยหลังกันต่อไป และยังไม่มีจุดที่จะเดินหน้ากลับมาได้อีก

จากนั้นเป็นเวทีเสวนา แบ่งเป็นสามช่วงได้แก่ 1.คนรุ่นเก่า กับ คนรุ่นใหม่ โดย นางสาววริษา สุขกำเนิด เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และ นายอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) 2.คนรุ่นใหม่ที่มองว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต โดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่(NDM) และ นายปกรณ์ อารีย์กุล ขบวนการประชาธิปไตยใหม่(NDM) 3.คนที่เคยเห็นต่างทางความคิด โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 ปกรณ์ อารีกุล และ จตุภัทร บุญภัทรรักษา
ปกรณ์ อารีกุล และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ภาพจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

ทั้งนี้ นายปกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยมีส่วนร่วมในการออกไปขับไล่ทักษิณ ด้วยเดียงสาทางการเมืองในขณะนั้นเราจึงเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายระบบ ประชาธิปไตย และรัฐสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว จึงอยากขอโทษพี่น้องทุกคนด้วย

“ตอนนั้นผมเคยมุดรั้วโดดเรียนมาชุมนุม แต่เมื่อปี 2550 ผมเริ่มรู้สึกตัว และเห็นว่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการไม่เคารพกติกาจึงตัดสินใจโหวตโนตั้งแต่ตอนนั้น เพราะรู้สึกว่าเรามีปัญหากับเรื่องนโยบาย แต่ไม่ได้มีปัญหากับตัวระบบ ดังนั้นเราจึงต้องขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องเริ่มต้นใหม่” นายปกรณ์ กล่าว

ขณะที่ นายจตุภัทร์ กล่าวว่า ตอนนั้นตนเองก็ได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตร เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้เป็นแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

“ส่วนตัวถลำลึกแบ่งทีมกัน 4 คนในครอบครัว ไปดอนเมืองทีมหนึ่ง สุวรรณภูมิทีมหนึ่งแต่พอเติบโตก็ได้เข้าใจว่า เรามีสิทธิที่จะไล่รัฐบาล ตรวจสอบรัฐบาล แต่ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เกินเลย เกินควร และยอมรับในสิ่งที่นอกเหนือกฎหมาย” นายจตุภัทร กล่าวและว่า คนที่เคยทำผิดต้องยอมรับผิดก่อน แก้ตัวใหม่และลงมือทำ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนไม่อยากให้ประเทศไทยหยุดนิ่ง

ด้าน นางสาววริษา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 แม้ว่าส่วนตัวจะเกิดไม่ทัน แต่ถึงอย่างไรก็ได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเหตุการณ์นั้น และมองว่าเหตุที่เกิดคือความไม่ใช้เหตุผลของสังคม ปลูกฝังให้มีความเกลียดชังใครคนใดคนหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผล ไม่รับฟังความเห็นจากคนอื่นๆ ทำให้สังคมไม่มองปัญหาต่างๆ ตามข้อเท็จจริง

"ใบตองแห้ง" และ วริษา สุขกำเนิด (ภาพจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่)
“ใบตองแห้ง” และ วริษา สุขกำเนิด (ภาพจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่)

นายอธึกกิต กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถเอาชนะมาได้่ตลอดทั้ง 10 ปีที่ผ่านมา คือการทำให้อนาคตนั้นมองไม่เห็น เป็นการสร้างความสำเร็จของพวกเขาบนความสิ้นหวังของสังคม

“สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะว่ามันมองไปทั้งสังคมการเมืองแล้วมันไม่มีความหวัง อะไรเลย มันมีแต่ความเหมือนเดิม นี่เป็นชัยชนะ10 ปี ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่พยายามสร้างความดำสนิทในสังคม ทำให้ความหวังส่วนใหญ่ของคนในสังคมดับไปและจำเป็นต้องยอมอยู่แบบนี้ต่อไป” นายอธึกกิต กล่าว

นายแทนคุณ กล่าวว่า ในช่วงเวลานั้นไม่ได้สนใจทางการเมือง มีการชุมนุมแต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมเพราะอายุ 21 ปี กำลังเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงไม่ได้อินกับการเมือง และมองว่าไกลจากตัวเอง

“ส่วนตัวเพิ่งมาติดตามการเมืองในช่วง 5-6 ปีหลัง แต่พอเกิดเหตุการณ์มีคนที่เข้ามาอ้างว่ามีอำนาจบทบาทในการจัดตั้งกติกาใหม่ มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้”

นายแทนคุณ กล่าวอีกว่า การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองมีหลายสิ่งที่เป็นจุดประสงค์ที่ดีคือ แต่หลังจากที่เรียนรู้ก็ได้เห็นว่า การชุมนุมไม่ควรที่จะนำสถาบันมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการชุมนุมของปีกฝ่ายเสื้อเหลือง เพื่อเป็นแต้มต่อ นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควร เช่นเดียวกับการบอกว่าตนเองเป็นคนดีและชี้ว่าคนอื่นเป็นคนเลว

“อย่างน้อยที่สุดความพยายามที่จะตั้งใจที่จะมาคุยด้วย ท่ามกลางสังคมที่เจอหน้ากันก็เกลียดกัน ทำร้ายกัน กลายเป็นข้ออ้างในการกลับไปสู่การรัฐประหารอย่างไม่จบสิ้น ส่วนตัวจะไม่ใช้คำว่าปรองดองเพราะคิดว่ามันไม่มีจริง ทางเดียวที่จะทำให้คือการคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะทางประชาธิปไตย” นายแทนคุณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการเสวนาได้มีการถกเถียงกันระหว่าง นายแทนคุณ กับ นายสมบัติ กรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การตรวจสอบการคอรรัปชั่นของทั้งสองฝ่าย จนประชาชนส่วนหนึ่งที่มาฟังไม่พอใจและลุกขึ้นโต้เถียงนายแทนคุณอย่างรุนแรง ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาอีกส่วนหนึ่งก็โต้เถียงกันเองเพราะต้องการที่จะรับฟังงาน เสวนาต่อ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด จนทำให้ผู้จัดงานตัดสินใจยุติงานเสวนาดังกล่าว

ทั้งนี้ นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนตัวเสียดายโอกาสที่เราจะคุยกันในเรื่องที่ยากๆ ผมได้เรียนหนังสือกับแทนคุณก็ไม่ได้เห็นด้วยกันไปทั้งหมด แต่ก็ไม่เห็นต่างกับเขาในทุกๆ เรื่องเช่นกัน แต่สิ่งที่เรียนรู้เพิ่มขึ้นว่าทำไมคนถึงคิดไม่เหมือนกันผม และเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราได้ฟังในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ว่ามามโนเอาเองว่าทำไมเขาเป็นอย่างนั้น ทำไมเขาเห็นต่างกันเรา

“สังคมไทยขาดโอกาสแบบนี้ เราต้องพาตัวเองเข้าไปฟังความเห็นที่แตกต่าง และเราเองต้องรับฟัง ผมหวังว่าโอกาสหน้าจะมีเวทีแบบนี้อีก และผมเองยินดีที่จะไปเสวนาที่พรรคประชาธิปัตย์ และมหาวิทยาลัยรังสิตเช่นเดียวกัน” นายสมบัติ กล่าว

จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในผู้จัดงานได้ขึ้นมากล่าวว่า งานนี้เป็นงานแลกเปลี่ยนเพื่อแสดงทัศนะ เราไม่ได้บอกว่านี้คือการปรองดอง แต่เป็นการเปิดโอกาสในการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เป็นความมุ่งหวังที่งานนี้อยากจะทำ มันเลยน่าเสียดายที่เราไม่สามารถที่จะพูดคุยกันได้จนจบงาน

“หลังจากนี้เราไม่รู้ว่าคนไทยจะคุยกับคนอีกฝ่ายหนึ่งได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์ทื่สุดจากความเป็นไปไม่ได้ตรงนี้ ผมยืนยันว่าผมจะทำ จัดงานเสวนาแบบนี้อีก และขอประกาศ ณ ที่นี้ว่าเราต้องรับฟังอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเราไม่ฟังซึ่งกันและกัน คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือทหาร ถ้าเราบอกว่าทหารใจคับแคบ ประชาชนเองก็ต้องรับฟังทุกฝ่ายได้ และเมื่อไรวันนั้นมาถึงทหารจะไม่มีที่ยืนในสังคม ” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากเสร็จสิ้นงานเสวนา ประชาชนส่วนหนึ่งพร้อมด้วยวิทยากรได้เข้าไปจับมือให้กำลังใจแก่ นายแทนคุณ ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความเรียบร้อยและพา นายแทนคุณ ออกจากงานเสวนา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image