เส้นทางที่พอเป็นไปได้ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ครับ ถ้าเราสามารถ “สลายเสื้อสี” ด้วยการ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ได้ ทุกอย่างคงง่ายลง และที่สำคัญกว่าง่ายลงก็คือ เราอาจผ่านช่วงนี้ไปโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้ออย่างน่าสยดสยอง หรือต้องจำยอมให้เรื่องมันจบลงโดยไม่มีอะไรคลี่คลาย เพราะคนถืออาวุธเข้ามากินพุงปลา ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อระงับการนองเลือด

แต่ผมสงสัยว่า นี่อาจเป็นวิถีทางที่เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุผลสองอย่าง

หนึ่งคือ เราไม่เหลือจุดร่วมอะไรอีกแล้ว ในเชิงกติกาสังคมนะครับ ไม่ได้หมายถึงเพลงฮิต, หนังน่าดู หรือฟุตบอลทีมชาติ และสองคือ แม้แต่สิ่งที่เราอาจใช้ชื่อเดียวกัน จนดูเหมือนเราเห็นพ้องต้องกัน แต่เรามองสิ่งนั้นจากคนละมุม ที่ไม่มีทางไปด้วยกันได้เลย

ผมขออธิบายสองเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ครับ

Advertisement

เรื่องที่หนึ่งนั้นง่าย และมีคนเห็นกันมานานแล้ว ในเมืองไทยเวลานี้ ไม่เหลือหลักการใหญ่ๆ อะไรที่ทุกฝ่ายเห็นว่าต้องรักษาเอาไว้ให้ได้อีกต่อไป แม้แต่พระพุทธศาสนา

ในปัจจุบันความแตกร้าวทางศาสนาในเมืองไทยมันเลยขั้นนั้นไปแล้ว เพราะแม้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พูดถึงหน้าที่ของรัฐในการปกป้องพุทธศาสนาเถรวาท ผมก็เชื่อว่าคนไทยก็ยังไม่ได้เห็นพ้องต้องกันว่า ความเชื่อและวัตรปฏิบัติอย่างไรจึงถือเป็นเถรวาท

ดังกรณีธรรมกายและสมเด็จช่วง เป็นพยานให้เห็นอยู่ และความขัดแย้งในสองเรื่องนี้ แรงถึงขนาดที่พร้อมจะห้ำหั่นกันและกันได้ เวลานี้อาจแค่ห้ำหั่นกันด้วยวาจา แต่หากเลยขั้นนี้ไปก็น่าห่วงนะครับ

Advertisement

ที่สมัยหนึ่งเคยเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้าย เวลานี้ยังมีคนเชื่อกันพร้อมเพรียงดีอยู่หรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ ในทุกสังคมต้องมีสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า last resort ของความขัดแย้งต่างๆ คือไปถึงตรงนั้นแล้วต้องยอมรับ แม้ไม่ชอบใจเลยก็ตาม ไม่ใช่เพียงการระงับข้อพิพาททางกฎหมายเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่สังคมจะอยู่ร่วมกันได้ต้องยอมรับใน last resort ในความขัดแย้งด้านอื่นด้วย เช่นด้านนโยบาย ด้านอำนาจ ด้านมติของสังคมที่แสดงออกผ่านสื่อ ฯลฯ เวลานี้ยังเหลืออะไรที่จะเป็น last resort ที่ยอมรับกันได้ทั่วไปอีก

รัฐสภาถูกหลายฝ่ายทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับให้เป็น last resort ได้ สมัยก่อนยังยอมรับการรัฐประหารเข้ามาทำหน้าที่แทน คือเมื่อยึดอำนาจไปแล้ว การตัดสินใจของคณะรัฐประหารคือ last resort แต่การรัฐประหารในเมืองไทยได้สูญเสียสถานะนี้ไปนานแล้ว

แม้แต่การรัฐประหารซึ่งทำกันในประเทศไทยมาไม่รู้จะกี่ครั้งแล้ว ก็ไม่ใช่หลักการใหญ่ที่ทุกฝ่ายยอมรับเสียแล้ว ฉะนั้นรัฐประหารจึงไม่สามารถ “เดินหน้า” ประเทศไทยได้อย่างในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือก่อนหน้านั้นอีกต่อไป

ในทางตรงกันข้าม กระบวนการประชาธิปไตยก็ไม่อาจเป็น last resort ของเมืองไทยได้อีกแล้วเหมือนกัน การปล่อยให้ทหารผสมพันธุ์พรรคการเมืองในค่ายทหารก็ตาม การผ่านร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่ง ซึ่งผิดหลักการที่ได้รับอนุมัติจากสภาก็ตาม ทำลายความน่าเชื่อถือของเสียงข้างมากตามหลักประชาธิปไตยไปโดยสิ้นเชิง ถ้าประชาธิปไตยจะกลับคืนมาสู่บ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ผู้คนทุกฝ่ายต้องมั่นใจว่า เสียงข้างมากในสภาต้องมีความรับผิดชอบกว่าที่ผ่านมา

เรื่องที่สองยุ่งยากในการทำความเข้าใจมากกว่า แต่มีความสำคัญมาก เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแก่สังคมไทยในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา (ทั้งจากโลกาภิวัตน์และจากความแปรเปลี่ยนภายใน) ทำให้รากฐานความเชื่อที่เกี่ยวกับค่านิยมต่างๆ เปลี่ยนไปด้วย

ผมขอยกตัวอย่างจากสิ่งที่มองเห็นได้ง่ายๆ ก่อน ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายในประเทศไทยเวลานี้ต่างเห็นความจำเป็น หรือความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมนั้นมีสองระดับ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือระดับชาตินี้ กับระดับข้ามภพข้ามชาติ หรือระดับโลกภูมิ ลองคิดว่าพระเวสสันดรนำเอาสมบัติส่วนรวม (คือช้างปัจจัยนาเคนทร์) ไปทำทาน จึงทำให้ผู้ปกครองคือ พระราชบิดาต้องลงโทษขับออกจากเมือง แต่ตัวชาดกเองกลับดำเนินเรื่องไปถึงตอนจบที่พิสูจน์ว่า ทานเป็นบุญกิริยาที่ใหญ่ระดับโลกภูมิ ที่ชาวเมืองสีพีต่างประสบความเดือดร้อนเพราะขาดพระเวสสันดร เสียยิ่งกว่าขาดช้างปัจจัยนาเคนทร์ ในที่สุดจึงพากันต้อนรับพระเวสสันดรคืนเมือง ซึ่งแปลว่าอาจบำเพ็ญทานให้ยิ่งไปกว่าที่ได้ทำไปแล้วก็ได้

พระเวสสันดรได้รับ “ความยุติธรรม” ในที่สุด แต่เป็นความยุติธรรมระดับโลกภูมิ ไม่ใช่ความยุติธรรมระดับโลกนี้

การที่คิดว่า “คนดี” ไม่ควรถูกลงโทษ เช่นแม้ไปยึดป่าสงวนทำบ้านพักส่วนตัว ท่านก็ตัดสินว่าทำไปโดยไม่เจตนาเช่นนี้ จึงเป็นการรักษาความยุติธรรมระดับโลกภูมิไว้ ไม่ใช่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย คนที่เรียกร้องให้เอา “คนดี” ไปติดคุกเสียอีก ที่มองอะไรสั้นเกินไป ไม่ผดุง “ธรรม” ไว้รักษาโลก

ผมคิดว่าความขัดแย้งในเมืองไทยว่าด้วยความดีระดับโลกนี้ กับความดีระดับโลกภูมิที่ข้ามภพข้ามชาติมีมานานแล้ว คุณคึกฤทธิ์ ปราโมชเองยังเคยเขียนถึงพระเวสสันดรในเชิงเสียดสี ว่าหากเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองจริง ก็จะทำความพินาศถึงล่มสลายให้บ้านเมืองได้

แต่ความขัดแย้งเช่นนี้ในสมัยก่อน ยังจำกัดอยู่กับคนจำนวนน้อยในหมู่ชนชั้นนำ และสามารถเอาความดีในระดับโลกนี้ไปยกให้แก่ “วีรบุรุษ” ของเราในอดีตได้ เช่นสมัยหนึ่งคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็มักยกพระบรมราชวินิจฉัยในพระพุทธเจ้าหลวง หรือพระวินิจฉัยของเจ้านายรุ่นนั้น ซึ่งมักจะยืนอยู่กับหลักความดีระดับโลกนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นได้เสมอ

แต่เมืองไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว การยกเอาความดีระดับโลกนี้ ไปหักล้างความดีระดับโลกภูมิ ไม่ได้ทำกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น กลับขยายไปยังคนที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีนอีกมาก จึงเท่ากับคุกคามค่านิยมไทยอย่างรุนแรงและน่าตระหนกทีเดียว

นอกจากนี้ แม้แต่คนที่เคยถูกยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษ” ก็กลับถูกตั้งข้อสงสัย จนกระทั่งคนไทยเวลานี้มี “วีรบุรุษ” ต่างกันจนแทบจะเป็นคนที่มาจากสังคมคนละสังคมทีเดียว

คราวนี้ ลองคิดถึง “ระเบียบสังคม” ซึ่งผมเชื่อว่าทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันเวลานี้ ต่างก็เห็นว่าสังคมจะดำเนินไปได้ ต้องมีระเบียบบางอย่างกำกับพฤติกรรมของคนในสังคมอยู่ด้วย แต่อะไรคือระเบียบสังคมที่จำเป็นชนิดขาดไม่ได้ ผมคิดว่าต่างมีความเห็นไม่ตรงกันทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงมองเห็นเรื่องการโกงทรัพย์สาธารณะ มองเรื่องความเสียสละ มองเรื่องความรักชาติ ฯลฯ แตกต่างกันไปหมด ไม่เพียงเท่านั้น บทบาทของครู, นักเรียน, ผู้หญิง, คนข้ามเพศ, พลเมือง, นายกฯ, ส.ส., ความงาม, ศิลปิน, กวี, ฯลฯ แตกต่างกันเป็นคนละด้านไปหมด

ความแตกต่างเหล่านี้ถูกจัดให้ไปอยู่ในเสื้อสี ซึ่งเป็นการจัดที่หยาบที่สุด เพราะผมเชื่อว่ามีความแตกต่างระหว่างคนไทยด้วยกันมากกว่าสีของเสื้ออย่างแน่นอน การ “สลายสีเสื้อ” ทั้งในความหมายถึงสีเสื้อโดยตรง หรือในความหมายถึงความแตกต่างที่ละเอียดซับซ้อนกว่านั้น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียแล้วในทรรศนะของผม

เราจะก้าวข้ามสภาวะที่ตีบตันนี้ไปได้อย่างไร ผมมีข้อเสนอที่ไม่รู้หรอกว่าจะทำอย่างไรจึงจะบรรลุผลได้ ผมคิดว่าสิ่งแรกและสิ่งเดียวที่ต้องทำให้ได้คือ ฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมให้ปฏิบัติงานได้อย่างสุจริต และเป็นไปตามกฎหมายให้ได้ในระดับหนึ่ง อาจไม่ดีเลิศนัก และบางส่วนของกระบวนการยุติธรรมก็อาจยังไม่ดีขึ้นสักเท่าไรนัก เช่นเรือนจำหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อัยการและศาลต้องสามารถปฏิบัติงานได้ในระดับที่น่าพอใจ ผู้คนอาจมีความเห็นต่างจากวินิจฉัยของอัยการและศาล แต่ก็ไม่ใช่ด้วยเหตุที่เชื่อว่าอัยการและศาลปฏิบัติงานด้วยอคติ

ผมคิดว่า เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไปตามธรรมชาติของความขัดแย้ง โดยเฉพาะในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน อาจมีการชุมนุมบนท้องถนนบ้าง อาจมีสื่อเลือกข้างเหมือนเดิม แต่ต้องไม่มีฝ่ายใดใช้กำลังในการทำให้คู่ขัดแย้งไม่สามารถตอบโต้ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงได้ การชุมนุมอาจผิดกฎหมายบางข้อ เช่นกฎหมายจราจร แต่การ “ปิดเมือง” ผิดกฎหมายฉกรรจ์จำนวนมากและปล่อยให้ทำไม่ได้ การชุมนุมยืดเยื้อจนคนอื่นต้องหยุดกิจกรรมตามปกติของตน ก็ต้องอยู่ในดุลพินิจว่าเกิดผลกระทบเช่นนั้นจริง และเกินความจำเป็นของการชุมนุม จึงอาจมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่มีผลกระทบเช่นนั้น

ภายใต้บรรยากาศที่เที่ยงธรรมเช่นนี้เท่านั้น ที่จะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายไปสู่จุดที่ทุกฝ่ายพอจะยอมเห็นพ้องกันในบางเรื่องได้ และปราศจากบรรยากาศเช่นนั้น ก็ต้องใช้อำนาจกดขี่บังคับ ซึ่งไม่ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงแต่อย่างไร มีแต่คุกรุ่นและพร้อมจะระเบิดไปในทางรุนแรงเมื่อโอกาสอำนวยเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image