ถอดรหัสฉลอง’วันชาติไทใหญ่’หลังเลือกตั้งพม่า หั่นพิธีสั้น ปรับสุนทรพจน์รับการเจรจา

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ดอยไตแลง รัฐฉาน ประเทศพม่า ได้มีการจัดงานวันชาติไทใหญ่ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี ในปีนี้พิธีเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 08.00 น. กองทหารตั้งแถวเตรียมสวนสนาม โดยปิดท้ายขบวนด้วยมวลชน จากนั้น เมื่อเจ้ายอดศึก ผู้นำไทใหญ่มาถึงปรัมพิธี จึงมีการเคลื่อนขบวนสวนสนาม โดยมี ‘ลุงปายเมือง’ นักปฏิวัติอาวุโสของขบวนการปฏิวัติไทยใหญ่กล่าวเปิดงาน ซึ่งมีการกล่าวปลุกความฮึกเหิมด้วยการโบกธงชาติไทใหญ่ 3 ครั้งพร้อมด้วยการเรียกเสียงปรบมือกึกก้อง

วันชาติไทใหญ่ 59cc

นายฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมงาน
กล่าวว่า งานวันชาติในปีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนจากปีที่ผ่านมา กล่าวคือ โดยปกติพิธีการจะค่อนข้างยาว และเน้นการแสดงศักยภาพทางการทหาร แต่ปีนี้มีความกระชับมากขึ้น ที่สำคัญคือ สุนทรพจน์และการสวนสนามถูกปรับให้เข้ากับบรรยากาศการเจรจาทางการเมือง โดยมีลักษณะไม่แข็งกร้าว สะท้อนถึงท่าทีที่จะพร้อมจะเจรจาและร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป ซึ่งแม้สถานการณ์ในไทใหญ่ อาจถูกมองว่ามีลักษณะของ ‘การเมืองนำการทหาร’ แต่เท่าที่ตนได้พูดคุยกับเจ้ายอดศึกในงานนี้ พบว่าไทใหญ่ให้ความสำคัญกับการเจรจาสูงมาก อีกทั้งล่าสุดเจ้ายอดศึกได้เดินทางไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อศึกษารูปแบบการปกครอง เนื่องจากเป็นประเทศซึ่งมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดียวกัน

“ไทยใหญ่ให้ความสำคัญกับการเจรจาสูงมาก แม้จะมีผู้กังวลว่า หากเจรจาแล้ว อาจพลาดพลั้งหรือไม่ แต่ทางไทใหญ่มองว่าถึงมีปัญหาบ้างก็ไม่เป็นไร ถือเป็นโอกาสทองที่จะคุยกัน มาลองคุยกันว่าจะถึงทางตันตรงไหน น่าสนใจว่าท่าทีของเจ้ายอดศึก ตั้งแต่มีการลงนามสันสติภาพเป็นต้นมา มีกรอบของการเจรจา นำเสนอโมเดลรูปแบบของรัฐหรือรูปแบบแนวทางที่จะร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป นอกจากนี้การที่ลุงปายเมือง ได้รับเกียรติให้กล่าวนำ ก็แสดงถึงนัยยะบางอย่าง เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของนักปราชญ์ที่มีความรู้ด้านวัฒนธรรมไทใหญ่ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการเชื่อมร้อยทางวัฒนธรรมและความทรงจำที่มีร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเจ้าก็สนใจด้านศิลปะวัฒธรรมสูงมาก และสอบถามผมเกี่ยวกับแหล่งศึกษาด้านนี้บนโต๊ะอาหารด้วย”

Advertisement

วันชาติไทใหญ่59bb

นายฐิติวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับเจ้ายอดศึก จึงทราบว่า ล่าสุดเดินทางได้ไปเยือนสวิสเซอร์แลนด์เพื่อดูรูปแบบการปกครอง สะท้อนว่ามีการศึกษารูปแบบการปกครองจากประเทศ ที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม สูตรแรกของการศึกษาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ คือ ลอกกันไม่ได้ ซึ่งเจ้ายอดศึกก็ทราบ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่ตนคิดว่าเจ้ายอดศึกไปเจอในยุโรปคือ ประเด็นของรูปแบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งหมายถึงการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต

“โจทย์ของพม่าในอนาคตหากไม่เกิดอุบัติเหตุอื่นก่อน สิ่งที่ต้องเจอคือ Post conflict development หมายถึง การพัฒนาหลังความขัดแย้ง ซึ่งหลายๆประเทศ พอเจรจาตกลงไปแล้ว จะทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูประเทศที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะสงครามยาวนาน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ต้องใช้งบประมาณ อย่างไรก็ตาม ภาษีอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอีกรอยหนึ่ง เพราะหมายถึงการจัดสรรผลประโยชน์ และการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ด้วย ซึ่งคนที่ศึกษาการเมืองพม่าและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อาจยังไม่สนใจประเด็นนี้มากนัก” นายฐิติวุฒิกล่าว

วันชาติไทใหญ่ 59aa

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image