ส.พัฒนศิลป์ ชี้โขนเป็นการแสดงศิลปะชั้นสูง ไม่เหมาะนำมาโฆษณาเชิงตลก รอหารือวธ.พรุ่งนี้

ทศกัณฐ์ถูกสร้างเป็นศัตรูพระราม แล้วเป็นตัวผู้ร้ายในรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ในอาเซียน ที่รับจากต้นตำรับ คือ อินเดีย ไม่มีใครเป็นเจ้าของกลุ่มเดียว แต่เป็นของอาเซียนโดยรวม ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงไม่ใช่เจ้าของผู้ผูกขาดทศกัณฐ์ รามเกียรติ์ รวมทั้งไม่ใช่เจ้าของวัฒนธรรมในไทย เลิกผูกขาดความถูกต้อง วธ. (และ/หรือหน่วยงานในสังกัด) มีภาระหน้าที่รักษาสืบทอดจารีตขนบดั้งเดิมของโขนละคร ซึ่งทำอยู่แล้ว ส่วนทำได้ระดับไหนต้องให้สังคมพิจารณา อนุรักษ์ คือเก็บรักษาโดยสืบทอดการละเล่นตามแบบแผนไว้เป็นหลักฐาน แล้วแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณะ ให้ประชาชนเลือกเสพสมและเลือกสร้างสรรค์ไปใช้งานตามอัธยาศัย โดยไม่กีดกันการเข้าถึงของคนทั่วไป ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ทักท้วงถกเถียงอย่างเสรี แต่ไม่ควรผูกขาดความถูกต้องไว้ที่กลุ่มตนพวกเดียว เพราะกลุ่มอื่นๆ ก็มีความถูกต้องของกลุ่มนั้นๆ ด้วย ซึ่งตรงกันบ้าง ต่างกันก็มีไม่น้อย ดูตัวอย่างจากประวัติศาสตร์พัฒนาการของโขนละครกับดนตรีไทย จะเห็นว่าความถูกต้องต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว วธ. คลั่งอินเดีย ก็ให้โขนละครดนตรีไทยทุกอย่างมีกำเนิดจากอินเดีย แต่ข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามทางการ พบว่าในอินเดียไม่มีฟ้อนยืดกับยุบ ไม่มีตั้งเหลี่ยมอย่างท่ากบ ไม่มีระนาดฆ้องวงกลองทัด มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดียืนยันว่าโขนละครดนตรีปี่พาทย์ มีวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นเมืองเป็นรากฐานอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังรับอินเดียมาประสมประสานเพิ่มบางอย่างเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด วัฒนธรรมหลวง วัฒนธรรมราษฎร์ อยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมหลวงอยู่ในเมือง วัฒนธรรมราษฎร์อยู่ทั้งในเมืองและไม่ในเมือง แลกเปลี่ยนเวียนกันมาหลายพันปี หลวงรับราษฎร์ไปพัฒนา แล้วส่งต่อให้ราษฎร์อีกทีหนึ่ง วธ. และเครือข่ายไม่ควรยกวัฒนธรรมหลวงข่มเหงวัฒนธรรมราษฎร์ โขน มีกำเนิดในวัฒนธรรมหลวงก็จริง แต่ลดความศักดิ์สิทธิ์ลงตั้งแต่แผ่นดินพระนารยณ์ จัดโขนเล่นรับราชทูตจากฝรั่งเศส มีในบันทึกลาลูแบร์ ผู้มีอำนาจในนาฏศิลป์ กรมศิลปากร เคยต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ห้ามโขนละครเล่นในโรงแรมและภัตตาคาร ทำให้ศิลปินโขนละครต้องทนทุกข์ทรมานอดอยากปากแห้ง เพราะเงินเดือนน้อย หลัง พ.ศ. 2500 เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สถาปนาอำนาจปฏิวัติ แล้วตั้ง ททท. ให้โขนเริ่มเข้าไปเล่นรับนักท่องเที่ยวในโรงแรมและภัตตาคาร ทศกัณฐ์, พระราม, พระลักษมณ์, หนุมาน, สีดา ฯลฯ กลายเป็นพนักงาน ททท. ตั้งแต่ยุคนั้น สร้างอาชีพมีรายได้ให้คนเรียนจบนาฏศิลป์จำนวนมากพ้นสภาพอดอยากปากแห้ง ทศกัณฐ์ ผีบรรพชนในลังกา ชาวศรีลังกายกย่องทศกัณฐ์เป็นบรรพชน แต่ก่อนมีศาลทศกัณฐ์อยู่ทั่วไปให้เซ่นวักตั๊กแตน สมัยหลังชาวศรีลังกาปลดทศกัณฐ์ แล้วยกพิเภกขึ้นเป็นบรรพชนแทน เพราะถูกครอบงำให้กล่าวโทษตามเรื่องรามเกียรติ์ว่าทศกัณฐ์ประพฤติไม่ดี ที่ไปลักนางสีดามาจากพระราม แล้วเกิดสงครามหนุมานเผากรุงลงกา 20 ปีกว่ามาแล้ว ท่านประธานมติชน ขรรค์ชัย บุนปาน สนับสนุนทุนเดินทางให้ ไมเคิล ไรท หรือ อ. ไมค์ พานักวิชาการกรมศิลปากรไปศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปกรรมที่ศรีลังกา (ก่อนหน้านั้นข้าราชการผู้น้อยทางโบราณคดีและช่างศิลปกรรมในกรมศิลปากรไม่เคยได้รับสนับสนุนเดินทางไปศึกษาดูงานลังกา) โดยให้ผมเป็นผู้ติดตามไปด้วย อ. ไมค์ พาไปวัดกัลยาณี มีศาลพิเภก เป็นศาลผีบรรพชน เดิมเป็นศาลทศกัณฐ์ แต่ต่อมาถูกปลดเพราะประพฤติไม่ดีตามเรื่องรามเกียรติ์ เลยยกพิเภกเข้าสิงสถิตอยู่ในศาลแทน แต่ระหว่างทางในชนบทบางแห่ง นอกกรุงโคลัมโบไปไกลๆ ชาวบ้านยังมีศาลทศกัณฐ์เป็นผีบรรพชน ยังไม่ปลดตามในเมือง ทศกัณฐ์กับพระราม ระหว่างอยู่ศรีลังกา ผมมีข้อข้องใจสงสัยหลายเรื่อง ต้องคอยพูดคุยซักถาม อ. ไมค์ (ที่เคยอยู่ศรีลังกานานหลายปีก่อนไปอยู่กรุงเทพฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีความเกี่ยวดองระหว่างทศกัณฐ์กับพระราม ต่อไปนี้จะทบทวนตามความทรงจำกระท่อนกระแท่นเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว “ทศกัณฐ์พูดภาษาอะไร?” ผมถาม อ. ไมค์ “ภาษาสิงหล” อ. ไมค์ ตอบ “ภาษาสิงหลอยู่ในตระกูลอะไร?” ผมถามอีก “ตระกูลอินโด-ยุโรป” อ. ไมค์ ตอบ “พระรามเป็นพวกอารยัน พูดภาษาตระกูลอะไร?” ผมถามอีก “ตระกูลอินโด-ยุโรป” อ. ไมค์ บอกอีก “อ้าว ถ้าอย่างนี้ทศกัณฐ์กับพระราม เป็นพวกพูดตระกูลภาษาเดียวกันซีวะ” ผมพูดเชิงถาม แต่ไม่ต้องการคำตอบ “ที่แท้ก็พวกเดียวกัน แล้วแย่งกันคุมเส้นทางการค้าทางทะเลสมุทรไปจีนโดยผ่านอุษาคเนย์ มีพยานเป็นนิทานและซากหินโสโครกเรียกถนนพระรามจากภาคใต้สุดของชมพูทวีปไปเชื่อมภาคเหนือของลังกาทวีป แต่ทศกัณฐ์แพ้ แล้วพระรามเป็นฝ่ายเขียนรามายณะ เลยให้ทศกัณฐ์เป็นตัวโกง ถ้าทศกัณฐ์ชนะคงน่าดูกว่านี้ ไม่รู้ว่าพระรามจะโดนดีอีท่าไหน” ร่องรอยความสัมพันธ์ดูจากวัฒนธรรม จะเห็นความเกี่ยวดองโดยสังเขปเท่าที่นึกออกดังนี้ 1. ตำนานมหาวงศ์ของลังกาบอกว่าบรรพชนลังกาลงเรือล่องเลียบชายฝั่งมหาสมุทรมาจากทางทิศเหนือตรงกับบริเวณวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ 2. ระบบชลประทานของศรีลังกาเก่าแก่และมีเทคโนโลยีสูงมาก ตกทอดจากอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารยัน 3. ทศกัณฐ์ กับ พระราม พูดตระกูลภาษาอารยันเดียวกัน คือ อินโด-ยุโรป 4. นางสีดา เป็นลูกสาวทศกัณฐ์ แต่เป็นเมียพระราม นี่เป็นแค่ความทรงจำเก่าๆ ของผมคนเดียว ควรมีแนวคิดอื่นๆ มากกว่านี้ ดีกว่านี้ โดยไม่กีดกันและกลั่นแกล้งเหมือนที่ทำกับทศกัณฐ์เที่ยวไทยมีเฮ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย อดีตศิลปินกองการสังคีตกรมศิลปากร ได้เข้าร้องเรียนต่อสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ระงับการเผยแพร่เอ็มวีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่เชิญชวนให้คนมาเที่ยวในประเทศ โดยให้เหตุผลว่ามีการนำทศกัณฐ์มาทำกิจกรรมไม่เหมาะสม เช่น หยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ถ่ายเซลฟี่ เป็นต้น เพราะ ทศกัณฐ์ ถือว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ และเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม ไม่ควรจับมาทำกิจกรรมดังกล่าวนั้น ว่า ส่วนตัวอยากให้รอผลการประชุมร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 22 กันยายน ซึ่งตนได้มอบหมายให้รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เข้าประชุมแทน เพราะตนติดประชุมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มองได้ 2 มุมมอง ทั้งแง่บวกและแง่งบ แต่แง่ลบมีมากกว่าแง่บวก ซึ่งในมุมมองอนุรักษ์ มองกันว่าการแสดงโขนเป็นการแสดงอนุรักษ์ เป็นการแสดงของราชสำนัก ก่อนที่จะพระราชทานให้คนดูทั่วประเทศ เวลาแสดงแสดงต้องไหว้ครู ต้องทำพิธีบวงสรวง บูชาครู ถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อในเอ็มวี มีการมาแต่งเครื่องโขน จึงอาจไม่เหมาะสมที่นำมาประกอบในลักษณะตลก ส่วนในแง่การโฆษณานั้น ตนมองว่าสามารถทำได้ในรูปแบบของแอนิเมชั่นหรือตัวการ์ตูนโดยนำการ์ตูนยักษ์ทั่วไปที่ไม่ใช่ทศกัณฐ์มาใช้ ถ้าในลักษณะนี้เชื่อว่าก็คงไม่ต้องมาตอบคำถามหรือข้อสงสัย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมาก็มีคนแต่งเพลง “หัวโขน” มาปรึกษาเช่นเดียวกัน โดยมีการทำเพลงประกอบในลักษณะที่มีภาพทศกัณฐ์ประกอบซึ่งตนได้แนะนำไปว่าควรทำในลักษณะของแอนิเมชั่นหรือตัวการ์ตูนจะเหมาะสมกว่าซึ่งคนแต่งเพลงก็ยอมปรับแก้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image