คาราวานพันไมล์ไทย-จีน ลุยทะเลทราย ถิ่นมองโกเลียใน

แม้ว่าเส้นทางคาราวานมิตรภาพไทย-จีนในปีที่ 3 ระยะทางยาวไม่ถึง 1,500 ไมล์เหมือนปีที่แล้วที่เริ่มจากดินแดน “อูรูมูฉี” ของเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ ติดชายแดนรัสเซีย อุซเบกิซสถานและตุรกีอันไกลโพ้น แต่การเดินทาง 1,000 ไมล์ก็ไกลไม่ใช่น้อยสำหรับการขับรถทางไกล

การเปิดคาราวานเริ่มขึ้นที่ “จัตุรัสม้าคู่” เมืองออร์โดส เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ดินแดนของ “โอรสแห่งสวรรค์”

“เจงกิสข่าน” ผู้ยิ่งใหญ่!

ฯพณฯท่านติงเหว่ย รมช.กระทรวงวัฒนธรรมจีนเป็นประธาน ในพิธีเปิด ร่วมด้วยฝ่ายไทย ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” พิธีการเริ่มขึ้นช่วง 10.00 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา พร้อมด้วยผู้แทนของทั้งสองประเทศไทยจีน จุดประสงค์ของคาราวานครั้งนี้ก็เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกันและกัน

Advertisement

11.ขบวนคาราวานกลางทะเลทราย

สาเหตุที่เลือกจัตุรัสม้าคู่ เป็นจุดตั้งต้นเพราะคนมองโกลให้ความสำคัญกับม้า ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีชีวิตสำหรับการทำศึก เป็นเครื่องมือสำหรับการต้อนสัตว์เลี้ยงไม่ว่าแกะหรือแพะในการทำปศุสัตว์บนทุ่งหญ้าในหน้าร้อนและหิมะในหน้าหนาวที่ไกลนับล้านๆไร่สุดลูกหูลูกตา

และนั่นคือที่มาของจัตุรัสม้าคู่และเมืองที่มีม้าเป็นสัญลักษณ์

มณฑลซินเจียง อุยกูร์ติดรัสเซีย อุสเบกินสถานก็เลี้ยงม้าเช่นเดียวกับมองโกเลียนอก-ใน แต่ม้าในดินแดนแถบนั้นเอาไว้กินพร้อมๆกับเอาไว้ใช้ต้อนฝูงสัตว์

ขบวนคาราวานนี้จะผ่านมณฑลต่างๆของจีนเช่นมองโกเลียใน ซานซี หูหนาน เหอเป่ย กุ้ยโจว ยูนนาน เข้าไทยที่เชียงของ จ.เชียงราย เข้าเชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ จากนครสวรรค์เข้านคราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร อุบลราชธานี ย้อนกลับมาสุรินทร์ ออกสระแก้วเข้าระยอง พัทยาชลบุรี เข้ากรุงเทพฯมาร่วมงานที่ศูนย์วัฒนธรรม 29 กันยายน รวมทั้งสิ้น 37 วัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงที่เป็นกระทรวงวัฒนธรรมจีนกับททท.ไทย?

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ปฐมบทของคาราวานมิตรภาพไทย-จีนนั้น เริ่มต้นจากการคุยกันภายในระหว่างทูตวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยท่าน “ฉิน” (Qin Yusen) กับอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนายสุรพล เศวตเสรณี เมื่อหลายปีก่อน จากการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการในวันโน้นจึงนำมาซึ่งคาราวานในปีต่อมาและในวันนี้

21.มือขับพันไมล์.

วันที่จีนต้องการพันธมิตรในเอเชียอาคเนย์และในวันที่ไทยต้องการนักท่องเที่ยวจีนมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว..ปฐมบทของขบวนคาราวานของไทยเคยเข้ามาจีนมาก่อนแล้วเมื่อปี 2536 ด้วยการเดินทางจากเชียงรายเข้าเชียงตุงของพม่าต่อมายังสิบสองปันนาและคุนหมิง โดยททท.เป็นผู้จัดการเดินทางในครั้งนั้น

ปฐมบทดังกล่าวช่วยลดความหวาดระแวงของกันและกันอันเกิดจาก “ความต่าง” ระหว่าง “ลัทธิ” ได้เป็นอย่างดี

ทำไมจีนถึงเลือกออร์โดส?..ที่เลือกออร์โดสก็เพราะเมืองนี้ไม่เพียงแต่เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายที่หาชมได้ยากอีกด้วย

วันนี้คณะคาราวานไทย อันประกอบไปด้วยนักข่าวและผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้ไปไปดูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ “คนทุ่งหญ้า” และความยิ่งใหญ่ของเจงกิสข่านในพิพิธภัณฑ์ สุสานเจงกิสข่าน สวนหมากรุกมองโกล ทุ่งหญ้าออร์โดส รีสอร์ทและสวนสนุกหลายๆต่อหลายแห่งในทะเลทราย รวมทั้งไปดูความพยายามของรัฐบาลในอันที่จะพลิกฟื้นทะเลทรายที่แห้งแล้งให้มนุษย์ดำรงชีพอยู่ได้ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งพาแต่ปศุสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีจากอิสราเอลและความเมตตาของอาสาสมัครญี่ปุ่น จนทำให้ทะเลทรายออร์โดสกลายเป็นแผ่นดินที่มีค่าขึ้นมาในช่วงระยะเวลา 20 ปี จนกลายเป็นตำนาน

ที่ชอบใจก็คือได้ไปดูจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 300 ปีที่วัดอูเสิ่นจาว วัดธิเบตบนดินแดนมองโกเลียในในโบสถ์เก่าที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของ “เยาวชนเรดการ์ด” เครื่องมือทางการเมืองของเหมาเจ๋อตงด้วย นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
คณะได้ทานอาหารแบบมองโกลที่ประกอบด้วยเนื้อแกะและอื่นๆไปพร้อมๆกับการชนแก้วด้วยเหล้าขาว หลังจากทานอาหารค่ำเสร็จก็จะมีการแสดงพื้นเมืองซึ่งมีแทบจะทุกวัน วันที่สำคัญคือวันที่ได้ฟังเพลงคลาสสิคจากการเล่นสดของวงดนตรีพิณหัวม้าที่มีเฉพาะมณฑลมองโกเลียใน

22.กระโจมรีสอร์ทกลางทะเลทราย ต้อนรับบนโต๊ะอาหารด้วยเหล้าขาวพื้นเมืองทุกคนทุกโต๊ะ

กายกรรมของมณฑลซานซีก็เป็นอีกการแสดงหนึ่งที่ทางมณฑลเอามาแสดงให้คณะคาราวานได้ชมเมื่อเราผ่านเมือง คณะกายกรรมชุดนี้ถือได้ว่าสุดยอดของกายกรรมจีนอีกคณะหนึ่ง ซึ่งได้นำมาแสดงที่เยาราชในช่วงตรุษจีน

พิพิธภัณฑ์ซานซีเป็นอีกพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคณะ เพราะมีเรื่องราวการแสดงตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์มาจนยุคประวัติศาสตร์ที่มีการสู้รบระหว่างฮั่นกับมองโกล ฮั่นกับฮั่นด้วยกันเอง รวมทั้งการวาดภาพไปบนพัดซึ่งเป็นที่นิยมในยุคหนึ่งด้วย

พูดถึงเรื่อง 1 แถบ 1 เส้นทาง ขออธิบายสักเล็กน้อยว่า คือเส้นทางยุทธศาสตร์และการค้าของจีนในแต่ละซีก (แถบ) ของประเทศ ในทางทะเลก็คือเส้นทางสายไหมทางทะเล ในทางบกก็จะมีหลายสาย โดยเส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางอีกสายหนึ่งที่พุ่งเข้ามาสู่อาเชียนด้านลาว พม่าและไทย

ในการเดินทางในครั้งนี้ นอกจากจะได้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่แตกต่างหลากหลายของคนจีนในแต่ละมณฑลแล้ว ยังได้เข้าใจด้วยว่า ทำไมคนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยจึงมีความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมทางการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้คนไทยมองนักท่องเที่ยวจีนไปในแง่ลบอย่างมากมายอีกด้วย

ไปแล้วถึงได้รู้ว่า คนจีนนั้นมีมากมายมหาศาลเป็นพันล้านคน ดังนั้นในที่เทียวแต่ละที่เที่ยวจึงต้องแก่งแย่งกันเข้า แย่งกันกินกันอยู่โดยไม่สนใจว่าจะไปละเมิดสิทธิ์ใครหรือไม่แต่อย่างใด แม้ว่าทางการจะออกกฎระเบียบหรือข้อกำหนดในสถานที่เที่ยวแต่ละแห่งเอาไว้อย่างเข้มงวดก็ไม่วายที่จะมีการละเมิดและส่งเสียงดัง

ในทางกลับกันถ้าคนไทยมีคนพันล้านเท่าจีนและมีความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและชนชั้น เราก็คงหนีไม่พ้นการแก่งแย่งและมีพฤติกรรมแบบจีน แม้ว่าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จะเข้มงวดและมีกรอบอันแข็งแกร่งคอยควบคุม ก็ยังยากที่จะควบคุมเอาไว้ได้ง่ายๆ

การเข้าใจในถิ่น การเข้าใจในความหลากหลายนับเป็นปัจจัยให้เราสามารถมองโลกได้ตามความเป็นจริง ที่สำคัญการเห็นโลกตามความเป็นจริงด้วยเมตตาและปัญญาต่อกันและกันเท่านั้นที่จะทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษยชาติเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image